เอแบคโพลล์: ประเมินผลงานรัฐบาลในช่วง 2 ปีและการยอมรับของสาธารณชนต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังปรับ ครม.กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday July 8, 2013 08:45 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเมินผลงานรัฐบาลในช่วง 2 ปีและการยอมรับของสาธารณชนต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังปรับ ครม. กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ มุกดาหาร หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น สุรินทร์ อุดรธานี พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,132 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1—6 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7

เมื่อประเมินผลงานรัฐบาล โดยเปรียบเทียบความคาดหวังและการเห็นจริงของสาธารณชนต่อนโยบายของรัฐบาลเมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ในกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่างๆ ของรัฐบาล พบว่า โครงการของรัฐบาลที่ได้รับความคาดหวังสูงและการเห็นจริงสูงมากที่สุด ได้แก่ การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปคาดหวัง 6.77 และเห็นจริง 6.52 คะแนน ผลการประเมินคือ นโยบายรัฐบาลนี้ดีอยู่แล้ว รักษาโครงการนี้ไว้สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป

รองลงมาคือ ผลวิเคราะห์ความคาดหวังและการเห็นจริงของบัณฑิตจบใหม่ต่อโครงการตามนโยบายรัฐบาลว่าด้วยเงินเดือนผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 15,000 บาท พบว่า คาดหวัง 6.59 และเห็นจริง 5.46 คะแนน ผลการประเมินคือ เป็นนโยบายที่ดีอยู่แล้ว รักษาโครงการนี้ไว้ สำหรับกลุ่มบัณฑิตจบใหม่

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามกลุ่มเกษตรกรในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการตามนโยบายรัฐบาลต่อโครงการรับจำนำข้าวเปลือก พบว่า คาดหวัง 6.53 และเห็นจริง 5.24 ผลการประเมินคือ เป็นนโยบายที่ดีอยู่แล้ว รักษาโครงการนี้ไว้ และในกลุ่มเกษตรกรเช่นกันในฐานะกลุ่มเป้าหมายของนโยบายแก้ไขปัญหาพักหนี้ครัวเรือนของเกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย พบว่า คาดหวัง 6.53 และเห็นจริง 5.83 ผลการประเมินคือ เป็นนโยบายที่ดีควรรักษาโครงการนี้ไว้สำหรับกลุ่มเกษตรกร

นอกจากนี้ ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า คาดหวัง 6.19 และเห็นจริง 5.59 ผลการประเมินคือ เป็นนโยบายที่ดีควรรักษาโครงการนี้ไว้สำหรับกลุ่มผู้ใช้แรงงาน

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มสตรีในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พบว่า คาดหวัง 5.76 แต่เห็นจริงเพียง 4.72 ผลการประเมินคือ นโยบายนี้ของรัฐบาลควรต้องปรับปรุง เพราะกลุ่มเป้าหมายคาดหวังสูงแต่เห็นจริงต่ำในกลุ่มสตรี

ยิ่งไปกว่านั้น ในกลุ่มประชาชนฐานะปานกลางขึ้นไปในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการบ้านหลังแรก พบว่า คาดหวัง 5.60 แต่เห็นจริง 4.89 ผลการประเมินคือ นโยบายนี้ของรัฐบาลควรต้องปรับปรุง เพราะกลุ่มเป้าหมายคาดหวังสูงแต่เห็นจริงต่ำในกลุ่มประชาชนฐานะปานกลางขึ้นไป

นอกจากนี้ ในกลุ่มประชาชนทั่วไปในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ พบว่า คาดหวัง 5.49 แต่เห็นจริงเพียง 4.03 ผลการประเมินคือ รัฐบาลควรต้องปรับปรุงโครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลเพราะกลุ่มเป้าหมายคาดหวังสูงแต่เห็นจริงต่ำในกลุ่มประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มเกษตรกรในฐานะกลุ่มเป้าหมายของโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร พบว่า คาดหวัง 5.47 และเห็นจริง 5.15 ผลการประเมินคือ นโยบายนี้ของรัฐบาลดีอยู่แล้วควรรักษาโครงการนี้ไว้

ที่น่าพิจารณาคือ ในโครงการที่รัฐบาลต้องปรับปรุงเพราะกลุ่มเป้าหมายคาดหวังสูงแต่เห็นจริงต่ำ ได้แก่ โครงการเพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บแล็ตให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

ส่วนโครงการของรัฐบาลที่ผลการประเมินออกมาว่า ต้องปรับลดขนาดโครงการลงเพราะกลุ่มเป้าหมายประชาชนฐานะปานกลางขึ้นไปคาดหวังต่ำกว่าเห็นจริงคือ 5.23 ต่อ 5.37 คะแนน เพราะโครงการนี้ได้ทำเกินกว่าความคาดหวังของกลุ่มเป้าหมายก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อกลุ่มเป้าหมายมากกว่า

สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ยังได้สอบถามถึงระดับการยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังการปรับคณะรัฐมนตรีโดยภาพรวม พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.0 ยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยภาพรวม ในขณะที่ร้อยละ 36.0 ไม่ยอมรับ และเมื่อจำแนกตามลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่า ทุกกลุ่มเพศ ทุกกลุ่มช่วงอายุ ระดับการศึกษา อาชีพและรายได้ส่วนใหญ่ต่างก็ให้การยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่โดยภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน และกลุ่มรายได้ระหว่าง 10,001 — 15,000 บาทต่อเดือนมีสัดส่วนของผู้ให้การยอมรับสูงถึงกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.3 คิดว่าการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนยังคงเหมือนเดิมหลังปรับคณะรัฐมนตรี ในขณะที่ร้อยละ 29.0 ระบุความหวังว่าจะดีขึ้น และร้อยละ 17.7 คิดว่าจะแย่ลง

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วย ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า การประเมินผลงานตามนโยบายของรัฐบาลจำเป็นต้องประเมินจากกลุ่มเป้าหมายของแต่ละโครงการเพราะกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายอาจจะมีความต้องการและได้รับผลกระทบที่แตกต่างไปจากกลุ่มเป้าหมาย และผลการประเมินล่าสุดชี้ให้เห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ควรรักษาไว้เพราะกลุ่มเป้าหมายคาดหวังสูงและเห็นจริงสูงเช่นกัน นอกจากนี้ผลงานรัฐบาลที่ได้รับผลการประเมินดีที่สุดคือ โครงการการปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุที่ได้รับการตอบรับดีทั้งความคาดหวังและเห็นจริงในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม โครงการที่ต้องปรับปรุงคือ โครงการบริหารจัดการน้ำ ส่วนโครงการรถยนต์คันแรกเป็นโครงการที่ควรปรับลดขนาดลงเพราะกลุ่มเป้าหมายคาดหวังต่ำกว่าการเห็นจริงปฏิบัติจริง

นอกจากนี้ ผช.ผอ.เอแบคโพลล์ ยังกล่าวถึงกระแสวิจารณ์ผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง ทัศนคติอันตรายในหมู่ประชาชนถึงการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วย โดยมีข้อเสนอแนะและชี้แจง ดังนี้

หนึ่ง การเปิดเผยทัศนคติอันตรายของประชาชนคนไทยต่อสาธารณชนจะทำให้ทุกคนรู้ทันสถานการณ์ร่วมกันและทำให้เกิดการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นไม่ใช่ส่งเสริมการทุจริตคอรัปชั่นในสังคมไทย

สอง การปกปิดปัญหาไว้จะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าการเปิดเผยเพื่อทำให้รู้ทันและหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน

สาม ถ้าเปิดเผยวิธีการวัดทัศนคติให้รู้กันทั่วไปผู้ถูกศึกษาจะรู้ทันและจะตอบเพื่อให้ตัวเองดูดีส่งผลให้ข้อมูลที่ได้จะออกมาว่า คนเกือบทุกคนต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ต่อต้านกันจริง นักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงคงไม่สามารถลอยนวลอยู่ได้เหมือนทุกวันนี้ แต่ตรงกันข้ามกับความจริงที่ปรากฎคือ ใครที่ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่นก็มักจะถูกข่มขู่คุกคาม ถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมโดยไม่เห็นสังคมออกมาช่วยเหลือและต่อต้านรัฐบาลอย่างเข้มข้นนัก จึงขอถามว่า คนที่กำลังวิจารณ์ผลวิจัยที่ออกไปนี้ไปหลบอยู่ที่ไหนเคยออกมาช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยหรือไม่

สี่ ผู้วิพากษ์วิจารณ์ควรกลับไปอ่านผลวิจัยให้ครบถ้วนเพราะถ้าวิจารณ์จากข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนก็จะส่งผลเสียหายต่อตัวผู้วิจารณ์เอง ถ้าอ่านผลวิจัยอย่างละเอียดเสร็จแล้วยังพบว่าคณะวิจัยผิดตรงไหนก็ค่อยกลับมาว่ากัน

ห้า เสนอแนะให้ผู้ใหญ่ในสังคมที่มีหน้าที่ปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นใช้เวลาไปช่วยเหลือเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริตคอรัปชั่นและปรับปรุงกลไกของรัฐในการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นน่าจะดีกว่าออกมาวิจารณ์ผลวิจัยหรือไม่ ฝากผู้ใหญ่เหล่านั้นไปพิจารณาดู

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.8 เป็นชาย ร้อยละ 52.2 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.0 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 35.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 20.2 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.4 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.0 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.5 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 6.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และร้อยละ 2.4 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงการประเมินผลงานรัฐบาล เปรียบเทียบความคาดหวังกับการเห็นจริงของสาธารณชน เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน

   กลุ่มเป้าหมาย      โครงการตามนโยบายรัฐบาล     ความคาดหวัง       การ       ความหมายของการประเมิน

เห็นจริง 1. ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพรายเดือน

                   แบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ        6.77           6.52      ดีอยู่แล้ว รักษานโยบายนี้ไว้
2.กลุ่มบัณฑิตจบใหม่     เงินเดือนผู้ที่จบการศึกษาระดับ
                   ปริญญาตรี 15,000 บาท          6.59           5.46      ดีอยู่แล้ว รักษานโยบายนี้ไว้
3.เกษตรกร          โครงการรับจำนำข้าวเปลือก       6.53           5.24      ดีอยู่แล้ว รักษานโยบายนี้ไว้
4.เกษตรกร          นโยบายแก้ไขปัญหาพักหนี้ครัว

เรือนของเกษตรกร

                   รายย่อยและผู้มีรายได้น้อย         6.53           5.83      ดีอยู่แล้ว  รักษานโยบายนี้ไว้
5.ผู้ใช้แรงงาน        การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท   6.19           5.59      ดีอยู่แล้ว รักษานโยบายนี้ไว้
6.กลุ่มผู้หญิง          การจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี    5.76           4.72      ต้องปรับปรุง เพราะคาดหวังสูงเห็นจริงต่ำ
7.ประชาชนฐานะปานกลาง  นโยบายบ้านหลังแรก          5.60           4.89      ต้องปรับปรุง เพราะคาดหวังสูงเห็นจริงต่ำ
8.ประชาชนทั่วไป      โครงการบริหารจัดการน้ำ
                   อย่างบูรณาการ                 5.49           4.03      ต้องปรับปรุง เพราะคาดหวังสูงเห็นจริงต่ำ
9.เกษตรกร          โครงการบัตรเครดิตเกษตรกร      5.47           5.15      ดีอยู่แล้ว รักษานโยบายนี้ไว้
10.ประชาชนทั่วไป     โครงการ เพิ่มเงินทุนกองทุนหมู่บ้าน
                   และชุมชนเมืองอีกแห่งละ 1 ล้านบาท 5.32           4.89      ต้องปรับปรุง เพราะคาดหวังสูงแต่เห็นจริงต่ำ
11.ประชาชนทั่วไป     การจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต
                   ให้แก่นักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  5.28           4.65      ต้องปรับปรุง เพราะคาดหวังสูงแต่เห็นจริงต่ำ
12.ประชาชนฐานะปานกลาง  นโยบายรถคันแรก           5.23           5.37      ต้องลดขนาดโครงการ เพราะคาดหวังต่ำกว่า

เห็นจริงสูง

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี
   ลำดับที่    การยอมรับ       ค่าร้อยละ
     1      ยอมรับ            64
     2      ไม่ยอมรับ          36
            รวมทั้งสิ้น         100

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี จำแนกตามเพศ
   ลำดับที่    การยอมรับ         ชาย       หญิง
     1      ยอมรับ            67       62.1
     2      ไม่ยอมรับ          33       37.9
            รวมทั้งสิ้น         100        100

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี จำแนกตามช่วงอายุ
   ลำดับที่    การยอมรับ       ต่ำกว่า 20 ปี      20-29 ปี     30-39 ปี     40-49 ปี      50 ปีขึ้นไป
     1      ยอมรับ            66.7           70.2        63.1         62           63
     2      ไม่ยอมรับ          33.3           29.8        36.9         38           37
            รวมทั้งสิ้น           100            100         100        100          100

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี จำแนกตามระดับการศึกษา
   ลำดับที่    การยอมรับ       ต่ำกว่า ป.ตรี       ปริญญาตรี      สูงกว่า ป.ตรี
     1      ยอมรับ             68.4           57.8           62.1
     2      ไม่ยอมรับ           31.6           42.2           37.9
            รวมทั้งสิ้น            100            100            100

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี จำแนกตามอาชีพ
   ลำดับที่    การยอมรับ       ข้าราชการ      พนักงาน        ค้าขาย/         นักเรียน      รับจ้าง       แม่บ้าน
                           รัฐวิสาหกิจ       เอกชน       ธุรกิจส่วนตัว       นักศึกษา     เกษตรกร     เกษียณอายุ
     1      ยอมรับ            72.3         59.4          57.4           66.7       71.2         68.2
     2      ไม่ยอมรับ          27.7         40.6          42.6           33.3       28.8         31.8
            รวมทั้งสิ้น           100          100           100            100        100          100

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การยอมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่หลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี จำแนกตามรายได้
   ลำดับที่    การยอมรับ       ไม่เกิน         5,001-       10,001-       15,001-       มากกว่า
                         5,000 บาท    10,000 บาท    15,000 บาท    20,000 บาท    20,000 บาท
     1      ยอมรับ           72.6          68.1          71.8          61.4          58.3
     2      ไม่ยอมรับ         27.4          31.9          28.2          38.6          41.7
            รวมทั้งสิ้น          100           100           100           100           100

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชนหลังจากการปรับคณะรัฐมนตรี
   ลำดับที่    ความหวัง ความคิดเห็นของประชาชน         ค่าร้อยละ
     1      หวังว่าจะดีขึ้น                              29
     2      คิดว่าจะเหมือนเดิม                        53.3
     3      คิดว่าจะแย่ลง                            17.7
            รวมทั้งสิ้น                                100

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ