เอแบคโพลล์: ความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวทางการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday July 15, 2013 07:17 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวทางการแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ลพบุรี นครปฐม สมุทรปราการ กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ยโสธร สกลนคร สุรินทร์ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครราชสีมา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,442 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 8 —13 กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นต่างๆ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.5 คิดว่าการประกาศต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ ในขณะที่ร้อยละ 26.5 คิดว่าช่วยแก้ไขได้

ตัวอย่างเกือบ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 65.8 คิดว่ารัฐสภาไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ ในขณะที่ร้อยละ 34.2             คิดว่าช่วยแก้ไขได้

กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 51.2 คิดว่าองค์กรอิสระไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ ในขณะที่ร้อยละ 48.8 คิดว่าช่วยแก้ไขได้

ตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 57.1 คิดว่าผู้ใหญ่ชนชั้นนำในสังคมไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นได้ ในขณะที่ ร้อยละ 42.9 คิดว่าช่วยแก้ไขได้

อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.5 คิดว่าการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ ในขณะที่ร้อยละ 21.5 คิดว่าช่วยแก้ไขได้ และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 คิดว่าการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ มีเพียงร้อยละ 19.7 เท่านั้นที่คิดว่าช่วยแก้ไขได้

นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 59.0 คิดว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ ในขณะที่ร้อยละ 41.0 คิดว่าช่วยแก้ไขได้

ที่น่าพิจารณาคือ มีเพียงประเด็นเดียวที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.8 คิดว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ คือ การประกาศการใช้จ่ายงบประมาณให้คนทั้งประเทศรู้ว่ารัฐบาลใช้จ่ายเงินกระจายไปให้ใคร องค์กรใด บริษัทใด เพื่อประชาชนทั้งประเทศจะได้ช่วยกันตรวจสอบในรายละเอียด ในขณะที่ร้อยละ 41.2 คิดว่าวิธีนี้ไม่สามารถช่วยแก้ไขได้

ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วยกับการประกาศการใช้จ่ายงบประมาณให้คนทั้งประเทศรู้ ถึงสาเหตุของรัฐบาลที่ไม่ติดประกาศการใช้จ่ายงบประมาณให้คนทั้งประเทศรู้ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่คิดว่าสามารถช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้นั้น พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 50.8 ระบุไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมรัฐบาลไม่เปิดเผย รองลงมาได้แก่ ร้อยละ 33.7 ระบุรัฐบาลกลัวถูกตรวจสอบ ร้อยละ 13.5 ระบุนักการเมืองกลัวเสียผลประโยชน์ และร้อยละ 2.0 ระบุสาเหตุอื่นๆ อาทิ ประชาชนและสาธารณชนทั่วไปอ่อนแอ ไม่เข้มแข็งเพียงพอ/คนที่ต่อต้านโกงแท้จริงมีน้อยเกินไป เป็นต้น

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ กล่าวว่า ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในความคิดเห็นของประชาชนกำลังเข้าขั้นวิกฤต ไร้ซึ่งความเชื่อมั่น ไว้วางใจจากประชาชนต่อคำพูดและการประพฤติปฏิบัติตนของนักการเมืองและกลุ่มคนในหลากหลายภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญต่อการบริหารประเทศ ดังนั้น ถึงเวลาที่รัฐบาลและฝ่ายการเมืองต้องเร่งสร้าง “ความไว้วางใจของสาธารณชน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ มีการชี้แจงรายละเอียดให้ประชาชนได้รับรู้ มีโอกาสร่วมตรวจสอบ ประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณทุกเม็ดเงินของรัฐบาล ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำว่าถูกจัดสรรไปที่ใดบ้าง เปิดอกพูดคุยกับประชาชนและสังคมด้วยความจริงใจ และลดการพูดชักจูงเสมือนการเล่นขายของ แต่ต้อง “ปฏิบัติ” ให้เห็นเป็นรูปธรรม จับต้องได้ เพราะพวกท่านคือความหวังของประชาชนตาดำๆ หลายสิบล้านคนที่อยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี นอนหลับสบายไร้ความกังวล มีผู้นำที่น่าเคารพศรัทธา ที่สามารถพูดถึงด้วยความภาคภูมิใจ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.8 เป็นชาย ร้อยละ 52.2 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 2.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.6 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 19.4 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 35.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 73.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 5.2 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 32.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 30.6 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 10.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.3 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.2 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการประกาศต่อต้านทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าแก้ได้                                                                         26.5
  2      คิดว่าแก้ไม่ได้                                                                       73.5
         รวมทั้งสิ้น                                                                         100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อรัฐสภาว่าจะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าแก้ได้                                                                         34.2
  2      คิดว่าแก้ไม่ได้                                                                       65.8
         รวมทั้งสิ้น                                                                         100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อองค์กรอิสระว่าจะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าแก้ได้                                                                         48.8
  2      คิดว่าแก้ไม่ได้                                                                       51.2
         รวมทั้งสิ้น                                                                         100.0
?
ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อผู้ใหญ่ชนชั้นนำในสังคมว่าจะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าแก้ได้                                                                         42.9
  2      คิดว่าแก้ไม่ได้                                                                       57.1
         รวมทั้งสิ้น                                                                         100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าแก้ได้                                                                         21.5
  2      คิดว่าแก้ไม่ได้                                                                       78.5
         รวมทั้งสิ้น                                                                         100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าแก้ได้                                                                         19.7
  2      คิดว่าแก้ไม่ได้                                                                       80.3
         รวมทั้งสิ้น                                                                         100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ จะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าแก้ได้                                                                         41.0
  2      คิดว่าแก้ไม่ได้                                                                       59.0
          รวมทั้งสิ้น                                                                        100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการประกาศงบประมาณให้คนทั้งประเทศรู้ว่ารัฐบาลใช้จ่ายเงินกระจายไปให้ใคร องค์กรใด บริษัทใด เพื่อประชาชนทั้งประเทศจะได้ช่วยกันตรวจสอบในรายละเอียดจะช่วยแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าแก้ได้                                                                         58.8
  2      คิดว่าแก้ไม่ได้                                                                       41.2
         รวมทั้งสิ้น                                                                         100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อสาเหตุที่รัฐบาลไม่เปิดเผยงบประมาณของรัฐบาลในรายละเอียดให้คนทั้งประเทศรับรู้ (เฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่คิดว่าการประกาศงบประมาณฯ แก้ไขได้)
ลำดับที่     ความคิดเห็น                                                                      ค่าร้อยละ
  1       ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมรัฐบาลไม่เปิดเผย                                                    50.8
  2       รัฐบาลกลัวถูกตรวจสอบ                                                                33.7
  3       นักการเมืองกลัวเสียผลประโยชน์                                                         13.5
  4       อื่นๆอาทิ ประชาชน สาธารณชนทั่วไปอ่อนแอไม่เข้มแข็งเพียงพอ/คนที่ต่อต้านโกงแท้จริงมีน้อยเกินไป เป็นต้น    2.0
          รวมทั้งสิ้น                                                                         100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ