เอแบคโพลล์: แนวโน้มความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness, GDH) ของคนไทยประจำเดือนกรกฎาคม 2556: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Friday August 2, 2013 11:47 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง แนวโน้มความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness, GDH) ของคนไทยประจำเดือนกรกฎาคม 2556 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ลพบุรี ชลบุรี จันทบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ สุรินทร์ ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย มุกดาหาร พัทลุง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 2,103 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่            29 กรกฎาคม —1 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือ           ร้อยละ 51.2 ติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมาทุกวันหรือเกือบทุกวัน

จากการวัดความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศประจำเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ความสุขมวลรวมของคนไทยลดลงจาก 7.61 คะแนนในเดือนธันวาคม 2555 มาอยู่ที่ 6.58 คะแนน ในเดือนมีนาคม 2556 และมาอยู่ที่ 5.62 คะแนน ในการสำรวจครั้งล่าสุด โดยปัจจัยสำคัญที่ฉุดความสุขมวลรวมของคนไทยให้ต่ำลงเป็นเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจของตัวเองและครอบครัว ได้แก่ ปัญหาปากท้องและค่าครองชีพ ฐานะเศรษฐกิจระดับครัวเรือนที่ไม่มั่นคง การมีรายจ่ายส่วนบุคคลที่สูงขึ้นแต่รายได้เท่าเดิมหรือลดลง ซึ่งค่าคะแนนความสุขด้านนี้อยู่ที่ 4.53 คะแนน นอกจากนี้ความแตกแยกของคนในชาติถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ฉุดความสุขมวลรวมของคนไทยให้ต่ำลงโดยมีคะแนนอยู่ที่ 4.62 คะแนน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้คนไทยมีความสุขมากที่สุด คือ การได้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์อยู่ที่ 9.51 คะแนน รองลงมา ได้แก่ วัฒนธรรมประเพณีไทยในปัจจุบันอยู่ที่ 7.94 คะแนน บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ที่ 7.77 คะแนน บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวอยู่ที่ 7.50 คะแนน และ อาชีพหน้าที่การงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันอยู่ที่ 7.03 คะแนน ตามลำดับ

นางสาวปุณฑรีก์ ผช.ผอ. กล่าวว่า จากการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึก พบว่า ประชาชนชาวไทยมีความสุขทุกครั้งที่ได้ยินข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง สามารถออกเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ได้ โดยสอดคล้องกับผลของค่าความสุขด้านวัฒนธรรมประเพณีที่หลอมรวมคนไทยให้เป็นหนึ่งเดียวกันตลอดเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา ดังนั้นคนไทยทุกคนควรร่วมกันรักษาดีเอ็นเอของความเป็นไทยให้อยู่คู่สังคมไทยตลอดไป

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.6 เป็นชาย ร้อยละ 52.4 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.9 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.5 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 31.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 78.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 30.5 ระบุอาชีพธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย ร้อยละ 6.7 ระบุอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.5 ระบุอาชีพพนักงานบริษัท ร้อยละ 6.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นแม่บ้าน พ่อบ้าน เกษียณอายุ ร้อยละ 4.1 ระบุว่างงาน ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่    การติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา                              ค่าร้อยละ
  1      ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                                            51.2
  2      3-4 วันต่อสัปดาห์                                                            23.9
  3      1-2 วันต่อสัปดาห์                                                            12.0
  4      ติดตามเป็นบางสัปดาห์                                                          9.8
  5      ไม่ได้ติดตามเลย                                                              3.1
         รวมทั้งสิ้น                                                                 100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าเฉลี่ยของค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนในด้านต่างๆ จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ลำดับที่    ดัชนีความสุขคนไทย                                                                      ค่าเฉลี่ยความสุข
  1      ความเป็นหนึ่งเดียวกันของคนในชาติแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์                  9.51
  2      วัฒนธรรมประเพณีไทยในปัจจุบัน                                                                  7.94
  3      บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน เช่น การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน                                       7.77
  4      บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว                                                          7.50
  5      อาชีพหน้าที่การงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน                                                               7.03
  6      การเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่ดีที่ท่านได้รับ                                                     7.02
  7      สภาพแวดล้อมในชุมชนที่พักอาศัย และสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์                    6.86
  8      สุขภาพทางใจ                                                                               6.83
 10      สภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แหล่งน้ำในชุมชุน                                         6.69
 11      ภาพลักษณ์ของประเทศไทย คนไทย เด็กไทย ในสายตาต่างชาติ                                           6.13
 12      สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ                                                                    5.89
 13      ความเป็นธรรมในสังคม                                                                        5.66
 14      สุขภาพทางกาย                                                                              5.42
 15      สถานการณ์การเมืองโดยภาพรวม                                                                 5.36
 16      ระบบการศึกษาของประเทศ                                                                     5.24
 17      กระบวนการยุติธรรมของไทย                                                                    5.21
 18      ความแตกแยกของคนในชาติ                                                                     4.62
 19      สภาวะเศรษฐกิจของตัวท่านเองและครอบครัว                                                        4.53
         ความสุขประเทศไทยโดยรวม                                                                    5.62

ตารางที่ 3 แสดงแนวโน้มค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมของคนไทยตั้งแต่ เดือนมกราคม 2553 จนถึงปัจจุบัน เมื่อคะแนนเต็ม 10

ม.ค.53 พ.ย.53 ธ.ค.53 ม.ค.54 ก.ค.54 ม.ค.55 มี.ค.55 ก.ย.55 ต.ค.55 พ.ย.55 ธ.ค.55 มี.ค.56 ก.ค.56

ความสุขมวลรวม    6.52     5.42    8.37    5.28    7.55    6.66    6.18    5.79    7.40    7.53    7.61    6.58    5.62
ของคนไทย

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ