เมื่อประเมินดัชนีความเสี่ยงทางการเมืองประจำเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ประเด็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองสูงที่สุดคือ 9.19 อันดับสองได้แก่ การแทรกแซงทางการเมือง มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 8.60 อันดับสามได้แก่ ประเด็น พ.ร.บ. เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 8.29 อันดับสี่ได้แก่ ข่าวอื้อฉาว อาทิ พฤติกรรมนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 7.81 อันดับห้าได้แก่ โครงการจำนำข้าว มีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ 7.56 รองๆ ลงมาได้แก่ ความไม่มั่นคงของประเทศโดยรวม ปัญหาสังคมโดยรวม การชุมนุมทางการเมือง ความเป็นกลางทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามลำดับ
ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อเปรียบเทียบดัชนีความเสี่ยงของเดือนพฤษภาคม 2556 กับครั้งล่าสุด พบว่า ทุกปัจจัยที่มีการเปรียบเทียบมีค่าดัชนีความเสี่ยงต่อรัฐบาลสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือ ข่าวอื้อฉาวอาทิ พฤติกรรมนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง จาก 5.29 มา อยู่ที่ 7.81 ความไม่มั่นคงของประเทศโดยรวม จาก 5.13 มาอยู่ที่ 7.48 ปัญหาสังคมโดยรวม จาก 5.11 มาอยู่ที่ 7.45 ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม จาก 4.21 มาอยู่ที่ 7.21 ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จาก 3.29 มาอยู่ที่ 7.16 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ จาก 4.20 มาอยู่ที่ 6.93 และการปกครองระบอบประชาธิปไตย จาก 2.57 มาอยู่ที่ 6.67
จากการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองจากข้อมูลที่ศึกษาได้ในครั้งนี้พบว่าสัญญาณเตือนภัยทางการเมืองของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่น่าพิจารณาในหลายตัวชี้วัดและถือว่าเป็นความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk) เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแทรกแซงทางการเมือง พ.ร.บ. เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ข่าวอื้อฉาว อาทิ พฤติกรรมนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง โครงการจำนำข้าว เป็นต้น โดยผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาล ซึ่งมีค่าเฉลี่ยความเสี่ยงทางการเมืองโดยรวมอยู่ที่ 7.13
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.4 คิดว่าประเด็นการพูดคุยในการประชุมสภาในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า มีเพียงร้อยละ 14.6 คิดว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติมากกว่า
ที่น่าสนใจคือ กลุ่มตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 81.9 ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นภายในประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 18.1 คิดว่าไม่เป็น
ผช.ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ชัดว่า รัฐบาลและฝ่ายการเมืองโดยรวมกำลังอยู่ในสภาวะเสี่ยงสูงทุกเหตุปัจจัยโดยเฉพาะเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ประชาชนมีความกังวลว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดต่อสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้น โดยผู้ถูกสัมภาษณ์ได้เสนอแนวทางต่อรัฐบาลผ่านการสำรวจในครั้งนี้ว่า รัฐบาลควรมีการชะลอหรือยุติการพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในครั้งนี้ออกไปก่อน อย่างไรก็ตาม ฝ่ายการเมืองที่ชอบความเสี่ยงสูงโดยเฉพาะกลุ่มนักธุรกิจการเมือง จำเป็นต้องพิจารณาว่า “อย่าถือความเสี่ยงไว้นาน” โดยคำนึงว่า “การเมือง” ในระบอบประชาธิปไตยมี “หน้าที่” ลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนไม่ใช่ยั่วยุหรือกระตุ้นเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งเสียเอง
นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลและฝ่ายการเมืองควรมีการพูดคุยกันด้วยเหตุผล ลดการโต้เถียงกันไปมาด้วยอารมณ์ ไม่แสดงพฤติกรรมหรือคำพูดที่จะนำไปสู่การท้าทายผู้ที่ออกมาชุมนุมหรือประชาชนทั่วไป นอกจากนี้รัฐบาลควรมีการชี้แจงรายละเอียดการดำเนินงานและการจัดสรรงบประมาณในทุกเม็ดเงินอย่างละเอียดให้แก่สาธารณชนรับทราบเพื่อเป็นหลักการที่จับต้องได้มากกว่าการโฆษณาชวนเชื่อว่า รัฐบาลทำงานโปร่งใสเพียงอย่างเดียว
“การสื่อสารทางการเมืองเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเร่งด่วนในการสร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเมืองและคณะบุคคลทำให้สาธารณชนเกิดความมั่นใจว่ารัฐบาลและหน่วยงานของรัฐสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและด้วยวิธีที่เป็นที่ยอมรับด้วยการเปิดโอกาสให้สาธารณชนกลายมาเป็น “หุ้นส่วนทางการเมือง” ในการควบคุมความเสี่ยงที่กำลังเกิดขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลหลายตัวชี้วัดกำลังมีความเสี่ยงทางการเมืองที่สูงขึ้นกระทบต่อความเดือดร้อนของชาวบ้านจนถึงระดับที่ฝ่ายการเมืองต้องหันมาพิจารณาความเสี่ยงทางการเมืองอย่างจริงจังเพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวไม่สามารถอธิบายวิกฤตการณ์ค่าเงินบาทและปัญหาปากท้องของประชาชนได้” ผช.ผอ.เอแบคโพลล์กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 51.6 เป็นหญิง ร้อยละ 48.4 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 5.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.5 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 18.9 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และร้อยละ 33.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 71.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 28.6 ปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.8 อาชีพเกษตรกรและรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 25.1 ค้าขายส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.9 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.2 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.4 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 5.9 แม่บ้าน เกษียณอายุ และร้อยละ 3.7 ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ปัจจัยเสี่ยงของรัฐบาล ดัชนีความเสี่ยง พ.ค.56 ดัชนีความเสี่ยง ก.ค.56 1 พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 9.19 2 การแทรกแซงทางการเมือง 8.60 3 พ.ร.บ. เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท 8.29 4 ข่าวอื้อฉาวอาทิ พฤติกรรมนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง 5.29 7.81 5 โครงการจำนำข้าว 7.56 6 ความไม่มั่นคงของประเทศโดยรวม 5.13 7.48 7 ปัญหาสังคมโดยรวม 5.11 7.45 8 การชุมนุมทางการเมือง 7.29 9 ความเป็นกลางทางการเมือง 7.24 10 ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม 4.21 7.21 11 ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี นางสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 3.29 7.16 12 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 4.20 6.93 13 การปกครองระบอบประชาธิปไตย 2.57 6.67 ตารางที่ 2 แสดงค่าเฉลี่ยระดับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองในภาพรวมของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน ลำดับที่ ดัชนีความเสี่ยงทางการเมือง ค่าเฉลี่ย 1 ระดับความเสี่ยงต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองในภาพรวมของรัฐบาล 7.13 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อประเด็นการพูดคุยในการประชุมสภาในครั้งนี้ว่าส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองหรือประเทศชาติมากกว่ากัน ลำดับที่ ความคิดเห็นต่อประเด็นการพูดคุยในการประชุมสภาในครั้งนี้ ค่าร้อยละ 1 เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่า 85.4 2 เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติมากกว่า 14.6 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นภายในประเทศ ลำดับที่ ความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นต้นเหตุแห่งความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นภายในประเทศ ค่าร้อยละ 1 คิดว่าเป็น 81.9 2 ไม่คิดว่าเป็น 18.1 รวมทั้งสิ้น 100.0
--เอแบคโพลล์--