เอแบคโพลล์: ความตื่นเต้นและความกังวลของคนเมืองต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ข่าวผลสำรวจ Friday August 16, 2013 11:15 —เอแบคโพลล์

ความตื่นเต้นและความกังวลของคนเมือง

ต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน:

กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความตื่นเต้น และความกังวลของคนเมือง ต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,478 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-15 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงความรู้สึกระหว่างตื่นเต้นกับกังวลต่อการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พบว่า ตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 61.6 รู้สึกตื่นเต้น เพราะเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน การไหลเวียนของทรัพยากรต่างๆ อาจทำให้ประชาชนชาวไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นการกระตุ้นคนไทยในการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้มีความสามารถทัดเทียมประเทศอื่นๆ ได้ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 38.4 รู้สึกกังวล เพราะ ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์การเมืองวุ่นวาย กลัวว่าไม่สามารถพัฒนาให้ทัดเทียมประเทศอื่นได้ กลัวปรับตัวไม่ทันและไม่สามารถสื่อสารกับประเทศอื่น กลัวว่าจะด้อยกว่าประเทศอื่นในเรื่องศักยภาพทางด้านการศึกษา ทักษะการทำงานและการดำเนินชีวิต เป็นต้น อย่างไรก็ตามเมื่อสอบถามถึงการรับรู้เกี่ยวกับเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.6 ไม่ทราบว่าเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันคือใคร มาจากประเทศอะไร มีเพียงร้อยละ 6.4 เท่านั้นที่ทราบและสามารถระบุถูกต้องว่ามาจากประเทศเวียดนาม คือ นายเลอ เลือง มินห์

กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 59.7 คิดว่าสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศไทยจะส่งผลต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.3 คิดว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่าประเทศชาติจะไปได้ไกลกว่านี้ หากมีการแก้ไขเรื่องใดต่อไปนี้ พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 78.8 ได้แก่ การเมือง อันดับสอง ร้อยละ 65.4 ได้แก่ เศรษฐกิจ อันดับสาม ร้อยละ 42.5 ได้แก่ การศึกษา และรองๆ ลงมา ได้แก่ ร้อยละ 31.0 ระบุสังคม ร้อยละ 27.3 ระบุระบบสาธารณูปโภค ร้อยละ 24.6 ระบุคุณธรรม จริยธรรม ร้อยละ 22.1 ระบุการท่องเที่ยว และร้อยละ 9.7 ระบุการคมนาคม ตามลำดับ

นางสาวปุณฑรีก์ ผช.ผอ. กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับประเทศอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกมิติควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและการประกอบอาชีพให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ถิ่นทุรกันดาร ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการพัฒนาจะถูกมุ่งเน้นไปที่บริเวณชุมชนเมือง นอกจากนี้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้าสู่สังคมนานาชาติ ควรให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการส่งเสริมและการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมอันดีงามของไทยให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 51.7 เป็นหญิง ร้อยละ 48.3 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 3.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.1 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 23.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 23.4 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 29.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 61.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 36.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 2.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 22.4 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.8 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป ร้อยละ 7.1 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.0 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 5.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และร้อยละ 2.9 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้สึกระหว่างตื่นเต้นกับกังวลต่อการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ลำดับที่                              ความรู้สึก                                           ค่าร้อยละ
  1      ตื่นเต้น เพราะ เป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน              61.6
การไหลเวียนของทรัพยากรต่างๆ อาจทำให้ประชาชนชาวไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และ
เป็นการกระตุ้นคนไทยในการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้มีความสามารถทัดเทียม
ประเทศอื่นๆ ได้ เป็นต้น
  2      กังวล เพราะ ขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์การเมืองวุ่นวาย กลัวว่าไม่สามารถพัฒนาให้            38.4
ทัดเทียมประเทศอื่นได้ กลัวปรับตัวไม่ทันและไม่สามารถสื่อสารกับประเทศอื่น กลัวว่าจะด้อย
กว่าประเทศอื่นในเรื่องศักยภาพทางด้านการศึกษา ทักษะการทำงานและการดำเนินชีวิตเป็นต้น
         รวมทั้งสิ้น                                                                     100.00

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้เกี่ยวกับเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันคือใคร มาจากประเทศใด

ลำดับที่                              การรับรู้                                            ค่าร้อยละ
  1      ทราบและสามารถระบุได้ถูกต้องว่ามาจากประเทศเวียดนาม คือ นายเลอ เลือง มินห์                6.4
  2      ไม่ทราบ                                                                       93.6
         รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองจะส่งผลต่อประเทศไทย ในการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน

ลำดับที่                              ความคิดเห็น                                         ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าส่งผล                                                                      59.7
  2      ไม่คิดว่าส่งผล                                                                    40.3
         รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

ลำดับที่                              ความคิดเห็น                                        ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าส่งผล                                                                     82.3
  2      ไม่คิดว่าส่งผล                                                                   17.7
         รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อประเทศชาติจะไปได้ไกลกว่านี้ หากมีการแก้ไขในเรื่องต่อไปนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่                              ความคิดเห็น                                        ค่าร้อยละ
  1      การเมือง                                                                      78.8
  2      เศรษฐกิจ                                                                      65.4
  3      การศึกษา                                                                      42.5
  4      สังคม                                                                         31.0
  5      ระบบสาธารณูปโภค                                                               27.3
  6      คุณธรรม จริยธรรม                                                               24.6
  7      การท่องเที่ยว                                                                   22.1
  8      การคมนาคม                                                                     9.7

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ