เอแบคโพลล์: สภาอันทรงเกียรติกับการปฏิรูปด้านคุณธรรม จริยธรรม ในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday August 26, 2013 07:47 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สภาอันทรงเกียรติกับการปฏิรูปด้านคุณธรรม จริยธรรม ในสายตาประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สมุทรปราการ แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ภูเก็ต สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,127 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 — 23 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.2 ติดตามข่าวสารการประชุมสภาผู้แทนราษฏร

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เกือบสองในสามหรือร้อยละ 65.1 รู้สึกหมดศรัทธาต่อรัฐสภา สภาผู้ทรงเกียรติของไทย ในขณะที่ ร้อยละ 20.9 ระบุยังศรัทธาเหมือนเดิม และร้อยละ 14.0 ไม่รู้สึกอะไร

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการประชุมสภาฯ ในครั้งนี้ว่าเป็นการอภิปรายในเนื้อหาสาระหรือเป็นการโต้เถียงกันมากกว่า พบว่า ร้อยละ 89.0 คิดว่าเป็นการโต้เถียงกันมากกว่า มีเพียงร้อยละ 11.0 คิดว่ามีเนื้อสาระมากกว่า

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.3 คิดว่าประเด็นการประชุมสภาฯ ในครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานเพื่อผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 18.7 คิดว่าอยู่บนพื้นฐานเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติโดยส่วนรวมมากกว่า

เมื่อสอบถามถึงความเป็นกลางของประธานรัฐสภา พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.6 คิดว่าประธานรัฐสภามีความเป็นกลาง ในขณะที่เกินครึ่งหรือร้อยละ 53.4 คิดว่าไม่เป็นกลาง

ที่น่าสนใจ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.6 รู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรมความวุ่นวายและไม่มีมารยาทของ ส.ส. ในขณะประชุมสภาฯ เพราะ ประพฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับตำแหน่งในฐานะผู้แทนประชาชนทั่วทั้งประเทศ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ประชาชนในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม มารยาท ความรุนแรง และความขัดแย้ง ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ และไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามที่ประชาชนไว้ใจและคาดหวังไว้ เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 19.4 ไม่รู้สึกอะไร

และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 82.1 รู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรมของ ส.ส. ที่ดูภาพวาบหวิวในขณะประชุมสภาฯ เพราะ แสดงถึงความไม่จริงใจและไม่ใส่ใจในการประชุม เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 17.9 ไม่รู้สึกอะไร

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 86.9 เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าถึงเวลาแล้วกับการปฏิรูปรัฐสภาด้านคุณธรรม จริธรรม มีเพียงร้อยละ 10.4 ระบุเฉยๆ และร้อยละ 2.7 ไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง

นางสาวปุณฑรีก์ ผช.ผอ. กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าประชาชนรู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรม มารยาท และคุณธรรม จริยธรรมของกลุ่มคนผู้ทรงเกียรติที่ดำรงตำแหน่งในฐานะผู้แทนประชาชนทั่วทั้งประเทศจากเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในการประชุมสภาฯ ในขณะนี้ ดังนั้นถ้าฝ่ายการเมืองและทุกภาคส่วนถือเอาหลักคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นแก่นสำคัญของชีวิต ประเทศชาติคงจะพัฒนาไปได้ไกลกว่านี้อีกเยอะ แต่ในความเป็นจริงและผลสำรวจที่ศึกษาครั้งนี้กลับพบว่า ผู้คนในสังคมไทยจำนวนมากนำเอาเรื่องคุณธรรมและจริยธรรมมาเป็นเพียง “กันชน” เพื่อเสริมภาพลักษณ์ให้ตนเองดูดี ดูเป็นผู้มีคุณธรรมในสังคม ถ้าหากวันหนึ่งเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมกลายเป็น “กันชนที่หายไป” แล้ว สังคมไทยจะเสื่อมและเสียหายยากจะเยียวยาฟื้นฟูได้ ดังนั้น ทางออกที่น่าพิจารณาคือ

รัฐบาลและฝ่ายการเมืองน่าจะถือเอาเรื่อง คุณธรรมและจริยธรรมทางการเมืองเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทำอย่างจริงจังต่อเนื่อง สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแก่นสำคัญของชีวิตด้านนี้ โดยเริ่มจาก สรรหาคนดีแท้จริงมาอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมและจริยธรรม จัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอต่อการทำให้เรื่องคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเรื่องสำคัญตั้งแต่ในครอบครัว ชุมชนและสังคมระดับกว้าง

นอกจากนี้ เสนอให้ผู้ที่จะมีอำนาจในระดับชุมชนท้องถิ่นถึงระดับชาติทั้งฝ่ายข้าราชการประจำและฝ่ายการเมืองเข้าศูนย์ฝึกอบรมและได้รับการฟังเทศนา สั่งสอนจาก วิทยากรทั้งทางโลกและทางธรรมโดยเป็นคณะบุคคลที่ผู้เข้ารับการอบรมให้ความเชื่อถือ ศรัทธา และมีระบบติดตามประเมินผลพฤติกรรมคณะบุคคลที่ผ่านการอบรมเหล่านั้นตลอดช่วงเวลาที่พวกเขามีอำนาจ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.5 เป็นชาย ร้อยละ 52.5 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 4.1 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การติดตามข่าวสารการประชุมสภาผู้แทนราษฏร์
ลำดับที่    การติดตามข่าวสารการประชุมสภาผู้แทนราษฏร์                                        ค่าร้อยละ
  1      ติดตาม                                                                      73.2
  2      ไม่ได้ติดตาม                                                                  26.8
         รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความนิยมศรัทธาต่อรัฐสภา สภาผู้ทรงเกียรติในขณะนี้
ลำดับที่    ความนิยมศรัทธาต่อรัฐสภา สภาผู้ทรงเกียรติในขณะนี้                                    ค่าร้อยละ
  1      หมดศรัทธา                                                                   65.1
  2      ยังศรัทธาเหมือนเดิม                                                            20.9
  3      ไม่รู้สึกอะไร                                                                  14.0
         รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการประชุมร่วมสภา เป็นการอธิปรายในเนื้อหาสาระ หรือเป็นการโต้เถียงกัน
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                 ค่าร้อยละ
  1      มีเนื้อหาสาระมากกว่า                                                           11.0
  2      โต้เถียงกันมากกว่า                                                             89.0
         รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อประเด็นการประชุมสภาฯ ในครั้งนี้ อยู่บนพื้นฐานของประโยชน์เพื่อประเทศชาติโดยส่วนรวมหรือเพื่อประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                  ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติมากกว่า                                            18.7
  2      คิดว่าเพื่อประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มมากกว่า                                           81.3
         รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อความเป็นกลางของประธานรัฐสภา
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                  ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าเป็นกลาง                                                                 46.6
  2      คิดว่าไม่เป็นกลาง                                                               53.4
         รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกต่อพฤติกรรมความวุ่นวายและไม่มีมารยาทของ ส.ส. ในขณะประชุมสภาฯ
ลำดับที่    ความรู้สึกต่อพฤติกรรมความวุ่นวายและไม่มีมารยาทของ ส.ส.ในขณะประชุมสภาฯ                 ค่าร้อยละ
1      รู้สึกผิดหวัง เพราะ พฤติปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมกับตำแหน่งในฐานะผู้แทนประชาชนทั่วทั้งประเทศ
เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่ประชาชนในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม มารยาท ความรุนแรง และความขัดแย้ง
ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ และไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามที่ประชาชนไว้ใจและคาดหวังไว้ เป็นต้น       80.6
  2      ไม่รู้สึกอะไร                                                                    19.4
         รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างระบุ ความรู้สึกต่อพฤติกรรมของ ส.ส. ที่ดูภาพวาบหวิว ในขณะประชุมสภาฯ
ลำดับที่    ความรู้สึกต่อพฤติกรรมของ ส.ส. ที่ดูภาพวาบหวิว                                        ค่าร้อยละ
1      รู้สึกผิดหวัง เพราะ แสดงถึงความไม่จริงใจและไม่ใส่ใจในการประชุม เป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
         เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชน เป็นต้น                                            82.1
  2      ไม่รู้สึกอะไร                                                                    17.9
         รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นว่าถึงเวลาแล้วกับการปฏิรูปรัฐสภาด้านคุณธรรม จริธรรม
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                    ค่าร้อยละ
  1      เห็นด้วยถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง                                                          86.9
  2      เฉยๆ                                                                          10.4
  3      ไม่เห็นด้วยถึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง                                                       2.7
         รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ