เอแบคโพลล์: ปลงกับความเบื่อหน่ายทางการเมืองและความเชื่อมั่นต่องบประมาณ ปี 57 ของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday August 26, 2013 08:46 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ปลงกับความเบื่อหน่ายทางการเมืองและความเชื่อมั่นต่องบประมาณ ปี 57 ของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี สมุทรปราการ แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ อำนาจเจริญ มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น ภูเก็ต สุราษฏร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 2,127 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 — 24 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.2 ติดตามข่าวสารการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.6 ไม่เชื่อว่างบประมาณจะถูกนำไปใช้อย่างโปร่งใส ในขณะที่ร้อยละ 22.4 เชื่อมั่นว่าจะถูกนำไปใช้อย่างโปร่งใส

นอกจากนี้ ร้อยละ 72.9 ไม่เชื่อมั่นว่างบประมาณประจำปี 2557 จะถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 27.1 เชื่อมั่นว่าจะถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับนิสัยของนักการเมืองไทย ควรแก้อะไรก่อน พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากหรือร้อยละ 89.2 ระบุว่าควรแก้นิสัยของนักการเมืองก่อน มีเพียงร้อยละ 10.8 ระบุควรแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน

และเมื่อสอบถามว่าฝ่ายการเมืองควรเร่งทำอะไรมากกว่ากันระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนและปัญหาปากท้องของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.8 ระบุว่าควรเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนและปัญหาปากท้องของประชาชนก่อน ในขณะที่ร้อยละ 14.2 ระบุควรเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.5 รู้สึกเบื่อและปลงกับการเมืองไทย เพราะมีข่าวความขัดแย้ง ความวุ่นวายให้วิพากษ์วิจารณ์กันได้ทุกวัน และร้อยละ 18.5 ไม่รู้สึกอะไร

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อนึกถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ มีความกังวลว่าประเทศไทยอาจจะเกิดความขัดแย้ง บานปลายจนถึงขั้นต้องใช้ความรุนแรงหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 42.4 รู้สึกกังวล เพราะ ต่างคนต่างไม่ยอมกัน พรรคการเมืองต่างพรรคทำงานร่วมกันลำบากจึงยากต่อการปรองดอง การเจรจามักจะอยู่บนพื้นฐานของอารมณ์มากกว่าเหตุผล เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 57.6 ไม่รู้สึกกังวล

อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.1 ระบุว่ายังมีความหวังความปรองดอง เยียวยาความแตกแยกของคนในชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันถ้าหากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และร้อยละ 23.9 ระบุไม่มีความหวัง

นางสาวปุณฑรีก์ ผช.ผอ. กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศมีความเบื่อหน่ายและปลงต่อการเมืองไทยที่ในแต่ละวันจะต้องมีข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ให้ประชาชนได้รับรู้ รับฟังอยู่เสมอ เพราะในชีวิตของประชาชนแต่ละวันก็มีปัญหาความเดือดร้อนมากพออยู่แล้ว ชาวบ้านจึงต้องการให้รัฐบาลและฝ่ายการเมืองทุกกลุ่มมุ่งมั่นทำงานเพื่อลดความเดือดร้อนและปัญหาปากท้องของประชาชนมาเป็นที่ตั้ง การพูดคุย ถกเถียงกันน่าจะอยู่บนพื้นฐานของการช่วยเหลือเกื้อกูลชี้แนะชี้นำเชิงสร้างสรรค์หาทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนทั้งประเทศโดยไม่เลือกปฏิบัติ และเร่งสร้างความเชื่อมั่น ไว้วางใจของสาธารณชนต่อรัฐบาล ฝ่ายการเมือง และหน่วยงานของรัฐ โดยรัฐบาลจะโฆษณาชวนเชื่อเพียงวาจาว่า รัฐบาลมีความโปร่งใสตรวจสอบได้จึงไม่เพียงพอ เพราะต้องมีความชัดเจนในกระบวนการ เช่น นำงบประมาณรายปีมาเปิดเผยต่อสาธารณชนในลักษณะที่ทำให้แกะรอยได้ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำของทุกเม็ดเงินที่ใช้จ่ายไป

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.5 เป็นชาย ร้อยละ 52.5 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.7 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 19.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 74.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 4.1 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.2 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การติดตามข่าวสารการประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ลำดับที่    การติดตามข่าวสารการประชุมสภาผู้แทนราษฎร                                        ค่าร้อยละ
  1      ติดตาม                                                                      73.2
  2      ไม่ได้ติดตาม                                                                  26.8
         รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่องบประมาณประจำปี 2557 ว่าจะถูกนำไปใช้อย่างโปร่งใส
ลำดับที่    ความเชื่อมั่น                                                                 ค่าร้อยละ
  1      เชื่อมั่นว่าจะถูกนำไปใช้อย่างโปร่งใส                                                22.4
  2      ไม่เชื่อมั่นว่าโปร่งใส                                                            77.6
         รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่องบประมาณประจำปี 2557 ว่าจะถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วทั้งประเทศ
ลำดับที่    ความเชื่อมั่น                                                                 ค่าร้อยละ
  1      เชื่อมั่นว่าจะถูกจัดสรรอย่างเป็นธรรม                                                27.1
  2      ไม่เชื่อมั่น                                                                    72.9
         รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นว่าระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับนิสัยของนักการเมืองไทย ควรแก้อะไรก่อน
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                  ค่าร้อยละ
  1      แก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน                                                             10.8
  2      แก้นิสัยของนักการเมืองก่อน                                                        89.2
         รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นว่าฝ่ายการเมืองควรเร่งทำอะไรมากกว่ากันระหว่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนและปัญหาปากท้องของประชาชน
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                                  ค่าร้อยละ
  1      เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน                                                          14.2
  2      เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนและปัญหาปากท้องของประชาชนก่อน                              85.8
         รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกต่อการเมืองไทย
ลำดับที่    ความรู้สึก                                                                     ค่าร้อยละ
  1      รู้สึกเบื่อและปลงกับการเมืองไทย เพราะมีข่าวความขัดแย้ง ความวุ่นวายให้วิพากษ์วิจารณ์กันได้ทุกวัน    81.5
  2      ไม่รู้สึกอะไร                                                                    18.5
         รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ว่าเมื่อนึกถึงสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศอียิปต์ มีความกังวลว่าประเทศไทยอาจจะเกิดความขัดแย้ง บานปลายจนถึงขั้นต้องใช้ความรุนแรงเหมือนประเทศอียิปต์
ลำดับที่     ความกังวล                                                                   ค่าร้อยละ
1       กังวล เพราะ ต่างคนต่างไม่ยอมกัน พรรคการเมืองต่างพรรคทำงานร่วมกันลำบากจึงยากต่อ
          การปรองดอง การเจรจามักจะอยู่บนพื้นฐานของอารมณ์มากกว่าเหตุผล เป็นต้น                   42.4
  2       ไม่กังวล                                                                      57.6
          รวมทั้งสิ้น                                                                    100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความหวังต่อความปรองดอง เยียวยาความแตกแยกของคนในชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ลำดับที่    ความหวังต่อความปรองดอง เยียวยาความแตกแยกของคนในชาติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน                ค่าร้อยละ
  1      มีความหวัง หากได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน                                         76.1
  2      ไม่มีความหวัง                                                                   23.9
         รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ