ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อ สถานการณ์ปัญหาบ้านเมืองของประเทศในปัจจุบันกับบทบาทของสื่อและนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา นครปฐม สมุทรปราการ อุตรดิตถ์ ลำปาง เชียงราย มุกดาหาร หนองคาย สกลนคร ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เลย ยะลา นราธิวาส และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,267 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 — 28 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า
เมื่อถามถึง สถานการณ์ปัญหาสำคัญมากที่สุดของบ้านเมืองขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 48.2 ระบุปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง และค่าครองชีพ รองลงมาคือ ร้อยละ 36.7 ระบุปัญหาสังคม อาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน ในขณะที่ร้อยละ 15.1 ให้ความสำคัญกับปัญหาการเมือง ความวุ่นวายทางการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เมื่อถามถึงความสำคัญของสื่อสาธารณะในระบอบประชาธิปไตย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.9 ระบุ สำคัญมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 17.1 ระบุสำคัญน้อยถึงไม่สำคัญเลย โดยประเภทของสื่อสาธารณะที่สำคัญที่สุดต่อสถานการณ์ปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ พบว่า สื่อยุคใหม่ ได้แก่ ไลน์ (LINE) ยูทูป เฟซบุค ทวิสเตอร์ อินสตาแกรม และเว็บไซต์ต่างๆ เป็นต้น รองลงมาคือ ร้อยละ 21.5 ระบุเคเบิ้ลทีวี ร้อยละ 20.5 ระบุฟรีทีวี โทรทัศน์ช่อง 3 5 7 9 11 และทีวีไทย ในขณะที่ร้อยละ 10.8 ระบุเป็นหนังสือพิมพ์ และร้อยละ 7.3 ระบุเป็นวิทยุ ตามลำดับ นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.6 ยอมรับว่า สื่อต่างๆ มีบทบาทมากถึงมากที่สุดในการทำให้บ้านเมืองมั่นคง สงบสุขหรือวุ่นวายสร้างปัญหาเดือดร้อนต่อประชาชนได้
เมื่อวิเคราะห์ถึงหน้าที่สำคัญของสื่อสาธารณะที่ประชาชนอยากเห็นในสถานการณ์ปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 91.8 อยากเห็นการทำหน้าที่สื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความสงบสุขของบ้านเมือง ไม่วุ่นวาย รองลงมาคือ ร้อยละ 87.5 อยากเห็นการสื่อสารเพื่อความปลอดภัยแก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทุกหมู่เหล่า ร้อยละ 84.6 อยากเห็นการสื่อสารเชิงสร้างสรรค์ บนความเป็นจริง ใช้เหตุใช้ผล ลดถ้อยคำปั่นอารมณ์ความเครียดแค้นต่อกันในหมู่ประชาชน ร้อยละ 83.3 อยากเห็นการสื่อสารเพื่อรักษาวัฒนธรรมอันดีงามในหมู่ประชาชน และร้อยละ 80.1 อยากเห็นการสื่อสารเพื่อช่วยขจัดคนโกง รักษาคนทำดีได้ดีมีที่ยืนในชุมชนและสังคม
ที่น่าพิจารณาคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 51.2 ระบุทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านยังทำได้ไม่ดีในการสื่อสารลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ในขณะที่เพียงร้อยละ 23.9 ระบุทำได้ดีทั้งสองฝ่าย ร้อยละ 15.7 ระบุพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลทำได้ดีกว่า และร้อยละ 9.2 ระบุฝ่ายค้านทำได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.7 ระบุนักการเมืองยังคงมีความสำคัญมากถึงมากที่สุดในระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ร้อยละ 31.3 ระบุมีความสำคัญน้อยถึงไม่สำคัญเลย
ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.1 ยังคงเชื่อมั่นมากถึงมากที่สุดต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยถึงแม้บ้านเมืองจะมีปัญหาวุ่นวายเพียงไร ในขณะที่ร้อยละ 17.9 เชื่อมั่นน้อยถึงไม่เชื่อมั่นเลย และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.4 ยังคงให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไป
ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรมและประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ กล่าวว่า การสื่อสารในยามที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหารอบด้านเป็นเรื่องสำคัญของทุกคนในชาติจึงจำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์การสื่อสารที่ดีโดยเริ่มจากการจัดลำดับความสำคัญเพื่อรักษาจุดแข็งและโอกาสของประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเอาไว้ จะพบว่าผลวิจัยชี้ให้เห็นว่า สื่อสาธารณะมีบทบาทสำคัญที่จะทำให้บ้านเมืองมั่นคงสงบสุขหรือวุ่นวายสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในวงกว้างได้ จึงต้องสร้างความเชื่อมโยงที่เข้มแข็งจากแหล่งข้อมูลของกลุ่มบุคคลในสังคมต้องชัดเจนด้วยถ้อยคำเรียบง่ายโดยหลีกเลี่ยงถ้อยคำที่ตีความกันได้หลายมิติ ไปยังสื่อสาธารณะและประชาชนในวงกว้าง คำนึงถึงความปลอดภัยและมั่นคงของสาธารณชน เพราะความล้มเหลวในการสื่อสารกับสาธารณชนจะเป็นการเติมไฟแห่งความรุนแรงและความวุ่นวายเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศได้ ในขณะที่กลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียวจะได้ประโยชน์มหาศาลจากความวุ่นวายของบ้านเมือง ดังนั้น ทางออกของประเทศคือ
ประการแรก ผู้นำประเทศ ผู้ใหญ่ในสังคมและประชาชนทั่วไปมีโอกาสได้เรียนรู้บทเรียนความเสียหาย ความเดือดร้อนในอดีตเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดซ้ำซากที่เคยเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของกลุ่มแกนนำและผู้ใหญ่ในสังคมบางคนที่มุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวกบนซากปรักหักพังของบ้านเมืองและความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
ประการที่สอง รัฐบาลและผู้ใหญ่ในสังคมต้องแสดงความชัดเจนในการสร้างความเป็น “หุ้นส่วนกัน (Partnership)” ระหว่างรัฐบาล ฝ่ายค้าน สื่อสาธารณะ ผู้มีบารมีในสังคม เจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มนายทุน และประชาชนทุกหมู่เหล่า เพราะความเป็นหุ้นส่วนกันจะต้องแบ่งปันข้อมูลความเป็นจริงและเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่รักษาความสงบสุขของชุมชนและสังคมโดยส่วนรวม ไม่ปิดกั้นแบ่งแยกชนชั้น ผลที่ตามมาคือ การเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ลดเงื่อนไขแห่งความขัดแย้ง ลดช่องว่างของข้อมูลข่าวสาร และเพิ่มความวางใจต่อกัน
ประการที่สาม รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะที่มีอำนาจในมือขณะนี้ต้องทำให้หุ้นส่วนของตนเองทั้งสื่อมวลชนและประชาชนทุกหมู่เหล่าเห็นชัดเจนจับต้องได้ว่า เมื่อวางใจทำตามแนวทางของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว หุ้นส่วนอื่นๆ ในประเทศบรรลุเป้าหมายและความสงบสุขโดยเร็ว ยิ่งทำได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งจะทำให้ความเสี่ยงต่อการสูญเสียและความวุ่นวายต่างๆ ก็จะลดน้อยลงไปได้อย่างมากตามนั้น
ทั้งหมดนี้คือกรอบแนวคิดเบื้องต้นที่กลั่นกรองจากข้อมูลวิจัยโครงการ “สื่อดี การเมืองดี ประชาชนมีสุข” โดยโครงการวิจัยดังกล่าวเปิดกว้างยินดีต้อนรับสมาชิกเครือข่ายวิชาการเพื่อประชาพิจารณ์และสาธารณมติได้ที่ noppadon.georgetown@gmail.com
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.9 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 19.3 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 22.0 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 31.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 65.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 34.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 24.6 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 13.7 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 7.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 6.5 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุและร้อยละ 3.5 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ สถานการณ์ปัญหาสำคัญของบ้านเมืองมากที่สุด ค่าร้อยละ 1 ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้อง ค่าครองชีพ 48.2 2 ปัญหาสังคม อาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน 36.7 3 ปัญหาการเมือง ความวุ่นวายทางการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 15.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความสำคัญของ สื่อสาธารณะในระบอบประชาธิปไตย ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 สำคัญมาก ถึง มากที่สุด 82.9 2 น้อย ถึงไม่สำคัญเลย 17.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความสำคัญของ ประเภทของสื่อสาธารณะต่อสถานการณ์ปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้มากที่สุด ลำดับที่ ประเภทของสื่อสาธารณะที่สำคัญที่สุดต่อสถานการณ์ปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ ค่าร้อยละ 1 สื่อยุคใหม่ ได้แก่ ไลน์ (LINE) ยูทูป เฟซบุค ทวิสเตอร์ อินสตาแกรม และเว็บไซต์ต่างๆ เป็นต้น 39.9 2 เคเบิ้ลทีวี 21.5 3 ฟรีทีวี (โทรทัศน์ช่อง 3 5 7 9 11 และทีวีไทย) 20.5 4 หนังสือพิมพ์ 10.8 5 วิทยุ 7.3 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ บทบาทของสื่อต่างๆ ในการทำให้บ้านเมืองมั่นคง สงบสุข หรือวุ่นวายสร้างปัญหาเดือดร้อนต่อประชาชน ลำดับที่ บทบาทของสื่อต่างๆ ค่าร้อยละ 1 มีบทบาทมาก ถึง มากที่สุด 84.6 2 น้อย ถึง ไม่มีบทบาทเลย 15.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละใน 5 อันดับแรกของหน้าที่สื่อสาธารณะที่ประชาชนอยากเห็น ในสถานการณ์ปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ หน้าที่ของสื่อสาธารณะที่อยากเห็น ค่าร้อยละ 1 สื่อสารเพื่อลดความขัดแย้ง สร้างความสงบสุขของบ้านเมือง ไม่วุ่นวาย 91.8 2 สื่อสารเพื่อความปลอดภัยแก่เด็ก เยาวชนและประชาชนทุกหมู่เหล่า 87.5 3 สื่อสารเชิงสร้างสรรค์ บนความเป็นจริง ใช้เหตุใช้ผล ลดถ้อยคำปั่นอารมณ์ความเครียดแค้นต่อกันในหมู่ประชาชน 84.6 4 สื่อสารเพื่อรักษาวัฒนธรรมอันดีงามในหมู่ประชาชน 83.3 5 สื่อสารเพื่อช่วยขจัดคนโกง รักษาคนทำดีให้ได้ดีมีที่ยืนในชุมชนและสังคม 80.1 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การทำหน้าที่สื่อสารเชิงสร้างสรรค์ลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนระหว่าง พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล กับฝ่ายค้าน ลำดับที่ การทำหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในการสื่อสารลดความขัดแย้งในหมู่ประชาชน ค่าร้อยละ 1 ทำได้ไม่ดีทั้งสองฝ่าย 51.2 2 ทำได้ดีทั้งสองฝ่าย 23.9 3 พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลทำได้ดีกว่า 15.7 4 พรรคการเมืองฝ่ายค้านทำได้ดีกว่า 9.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความสำคัญของนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 สำคัญมาก ถึง มากที่สุด 68.7 2 น้อย ถึง ไม่สำคัญเลย 31.3 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่น ต่อ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ถึงแม้จะมีปัญหาวุ่นวายมากเพียงไร ลำดับที่ ความเชื่อมั่น ค่าร้อยละ 1 เชื่อมั่นมาก ถึง มากที่สุด 82.1 2 น้อย ถึง ไม่เชื่อมั่นเลย 17.9 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความต้องการให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไป ลำดับที่ ความต้องการ ค่าร้อยละ 1 ให้โอกาสรัฐบาลทำงานต่อไป 73.4 2 ไม่ให้โอกาสแล้ว 26.6 รวมทั้งสิ้น 100.0
--เอแบคโพลล์--