ประจำเดือนกันยายน 2556 ของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร:
กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ
ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประเมินดัชนีความเสี่ยงทางการเมือง (Political Risk) ประจำเดือนกันยายน 2556 ของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี น่าน พิษณุโลก เชียงใหม่ หนองบัวลำภู มหาสารคาม ชัยภูมิ ศรีสะเกษ ขอนแก่น อุดรธานี สตูล ตรัง และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,235 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 6 - 14 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน พบว่า
ความเสี่ยงทางการเมืองของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพิ่มสูงขึ้นทุกตัว โดยมี ม็อบยางพารา กำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่สูงที่สุดอยู่ที่ 8.80 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้นคือเรื่อง ข่าวอื้อฉาวพฤติกรรมนักการเมือง คณะที่ปรึกษารัฐมนตรี ทุจริต คอรัปชั่น เอื้อประโยชน์พวกพ้อง สูงขึ้นจาก 5.29 ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นเป็น 7.88 และความไม่เป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติสูงขึ้นจาก 5.24 เพิ่มขึ้นเป็น 7.87
ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพสูง เพิ่มขึ้นจาก 4.21 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 7.81 ในเดือนกันยายน และปัจจัยเสี่ยงแทรกเข้ามาในช่วงเดือนสำรวจนี้คือ ความไม่เป็นกลางของรัฐสภาไทย มีความเสี่ยงสูงถึง 7.75 เลยทีเดียว
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ปัญหาสังคมโดยรวมเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อความมั่นคงทางการเมืองได้ โดยพบว่า ปัญหาสังคมที่มีคะแนนความเสี่ยงอยู่ที่ 5.11 ในเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นเป็น 7.46 ในการสำรวจล่าสุด โดยจากการสัมภาษณ์เจาะลึกเรื่องปัญหาสังคม พบว่า ผู้ถูกศึกษาส่วนใหญ่ให้ความสำคัญเรื่องต่างๆ ได้แก่ ปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็กและเยาวชน ปัญหาการใช้ความรุนแรง ปัญหา ยาเสพติดในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ปัญหาการถูกคุกคามทางเพศ ปัญหาอาชญากรรมความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไป
ที่น่าพิจารณาคือ ความเสี่ยงทางการเมืองที่เกิดขึ้นจาก การแทรกแซงทางการเมือง การครอบงำแทรกแซงนโยบายสาธารณะของรัฐบาลโดยกลุ่มคนชนชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพิ่มสูงขึ้นจาก 5.72 มาอยู่ที่ 7.40 นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่เกิดจาก พ.ร.บ. เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาทมีความเสี่ยงสูงถึง 7.38 และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีความเสี่ยงสูงถึง 7.34 เช่นกัน
นอกจากนี้ การสื่อสารทางการเมืองยังกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญโดยเพิ่มจาก 4.18 ในเดือนพฤษภาคม สูงขึ้นเป็น 7.24 ในเดือนกันยายน และปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองอื่นๆ รองๆ ลงไปได้แก่ โครงการจำนำข้าว อยู่ที่ 6.98 คุณภาพการศึกษาของไทย อยู่ที่ 6.93 และการชุมนุมทางการเมืองอยู่ที่ 6.90
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ความขัดแย้งระหว่าง มวลชนสนับสนุนรัฐบาล กับ มวลชนต้านรัฐบาล ตกอันดับลงไปไม่ได้อยู่ใน 10 อันดับแรกกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่นัก โดยมีคะแนนความเสี่ยงอยู่ที่ 6.80 และความไม่มั่นคงของประเทศโดยรวมอยู่ที่ 5.73 และปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ อยู่ที่ 5.46 ตามลำดับ
ที่น่าสนใจคือ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองเรื่อง ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี และความเสี่ยงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญในเวลานี้ เพราะถึงแม้ความเสี่ยงจะเพิ่มสูงขึ้นแต่อยู่ในระดับที่มีความเสี่ยงน้อย คือเพิ่มจาก 3.29 มาอยู่ที่ 4.16 ในเรื่องความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี และความเสี่ยงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นจาก 2.57 มาเป็น 3.88 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อประมวลความเสี่ยงทางการเมืองต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองโดยภาพรวมของรัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พบว่า มีความเสี่ยงสูงมากคืออยู่ที่ 7.76 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน แต่คะแนนสนับสนุนของประชาชนที่มีต่อ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อยู่ในระดับค่อนข้างมากคือ 6.67 คะแนน
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ความเสี่ยงทางการเมืองในปัจจัยต่างๆ ที่ศึกษามามีขึ้นมีลงตลอด เช่น ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้านรัฐบาล พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงรองๆ ลงไป โดยมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ สูงขึ้นมาแทน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ “รัฐบาลอย่าถือความเสี่ยงไว้นาน” โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่อยู่ในระดับสูงมาก เช่น ม็อบยางพารา พฤติกรรมไม่เหมาะสมของนักการเมือง ความอื้อฉาวของคณะที่ปรึกษารัฐมตรีในเรื่องทุจริตคอรัปชั่นและ “ระบบเงินทอน” ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะปัจจัยเสี่ยงทางการเมืองที่รัฐบาลถือไว้นานมักจะกลายเป็นตัวบั่นทอนเสถียรภาพทางการเมืองก่อให้เกิดความไม่มั่นคงต่อรัฐบาลและประเทศชาติโดยรวมได้ ดังนั้น การตัดสินใจของผู้มีอำนาจน่าจะพิจารณาใช้ในสถานการณ์การเมืองขณะนี้คือ “หลักนาทีสุดท้าย” (Last Minute) หลังจากเปิดกว้างต่อข้อมูลต่างๆ จนสถานการณ์สุกงอมของแต่ละปัจจัยเสี่ยง
“อย่างไรก็ตาม สัญญาที่ดีที่ต้องช่วยกันรักษาไว้จากการสำรวจครั้งนี้คือ ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเชื่อมั่นต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเพราะความเสี่ยงที่ค้นพบอยู่ในระดับต่ำและยังคงสนับสนุน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ โดยมีเหตุผลสำคัญคือ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า กลุ่มคนที่ปฏิวัติยึดอำนาจและกลุ่มนายทุนที่ใกล้ชิดกลุ่มที่ยึดอำนาจเท่านั้นได้ประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นความสงบสุขของบ้านเมือง ไม่ต้องการความขัดแย้งรุนแรง และลักษณะเด่นของนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรื่อง ความอดทนอดกลั้น การควบคุมอารมณ์ ความสุภาพอ่อนโยน รู้จักประณีประนอมเชื่อมประสานความขัดแย้งของกลุ่มต่างๆ กำลังเป็นหัวใจสำคัญในการคลี่คลายสถานการณ์ความไม่มั่นคงในบ้านเมืองขณะนี้” ดร.นพดล กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.3 เป็นชาย ร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.4 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 36.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 20.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 7.9 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 33.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 31.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.2 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.4 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.4 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.0 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง ค่าเฉลี่ย ค่าเฉลี่ย พฤษภาคม 56 กันยายน 56 1 ม็อบยางพารา 8.80 2 ข่าวอื้อฉาวพฤติกรรมนักการเมืองที่ประชาชนไม่ยอมรับ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรี 5.29 7.88
ทุจริตคอรัปชั่น เอื้อผลประโยชน์พวกพ้อง
3 ความไม่เป็นธรรม และการเลือกปฏิบัติ 5.24 7.87 4 ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวม ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพสูง 4.21 7.81 5 ความไม่เป็นกลางของของรัฐสภาไทย 7.75 6 ปัญหาสังคมโดยรวม 5.11 7.46 7 การแทรกแซงทางการเมือง (การครอบงำแทรกแซงนโยบายสาธารณะ 5.72 7.40
ของรัฐบาลโดยกลุ่มชนชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ)
8 พ.ร.บ. เงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท 7.38 9 พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 7.34 10 การสื่อสารทางการเมือง 4.18 7.24 11 โครงการจำนำข้าว 6.98 12 คุณภาพการศึกษาของไทย 6.93 13 การชุมนุมทางการเมือง 6.90 14 ความขัดแย้งระหว่าง มวลชนหนุน กับ มวลชนต้านรัฐบาล 5.84 6.80 15 ความไม่มั่นคงของประเทศโดยรวม 5.13 5.73 16 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 4.20 5.46 17 ความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี 3.29 4.16 18 การปกครองระบอบประชาธิปไตย 2.57 3.88 ตารางที่ 2 แสดงค่าเฉลี่ยของตัวอย่างที่ระบุความเสี่ยงต่อเสถีรยพภาพความมั่นคงทางการเมืองโดยภาพรวมของรัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (คะแนนเต็ม10) ลำดับที่ ความเสี่ยง ค่าเฉลี่ย ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางการเมืองของรัฐบาล 7.76 ตารางที่ 3 แสดงค่าเฉลี่ยของตัวอย่างที่ระบุ สนับสนุน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (เมื่อคะแนนเต็ม 10) ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าเฉลี่ย สนับสนุน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 6.67
--เอแบคโพลล์--