เอแบคโพลล์: พ.ร.บ.เงินกู้ สองล้านล้าน ใครได้ประโยชน์ในสายตาประชาชนกับสิ่งที่รัฐบาลน่าลงทุนให้ประชาชนมากที่สุด กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday September 23, 2013 07:19 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา กระทรวงวัฒนธรรม และประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยงานวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ สองล้านล้าน ใครได้ประโยชน์ ในสายตาประชาชน กับสิ่งที่รัฐบาลน่าลงทุนให้ประชาชนมากที่สุด กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี สมุทรปราการ ลพบุรี นครปฐม นครนายก เชียงใหม่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี หนองคาย สกลนคร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,147 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10 - 21 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน ความคลาดเคลื่อนร้อยละ 7 พบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.3 ทราบข่าว พ.ร.บ.เงินกู้ สองล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.9 รับรู้แต่ข่าวขัดแย้ง ทะเลาะกันในสภา เรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ และร้อยละ 80.5 รับรู้แต่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ การกู้เงิน ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ ในขณะที่ มีเพียงส่วนน้อยหรือร้อยละ 32.6 ระบุได้รับข้อมูลรายละเอียดของประโยชน์ของ พ.ร.บ.เงินกู้ ร้อยละ 31.3 รับทราบข้อมูลการนำเงินกู้ ไปใช้ในการพัฒนาประเทศ และเพียงร้อยละ 23.6 รับทราบวิธีการของรัฐบาลในการป้องกัน ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในการใช้เงินกู้

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.4 ไม่กังวลว่า พ.ร.บ.เงินกู้ สองล้านล้านบาทจะนำไปสู่ปัญหาวุ่นวายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.2 ไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาลในการใช้จ่ายเงิน ตาม พ.ร.บ.เงินกู้อย่างโปร่งใส ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.8 ยังคิดว่ากลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.เงินกู้ได้แก่ กลุ่มนายทุน รองลงมาคือ ร้อยละ 70.9 ระบุ นักการเมือง รัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี บุคคลใกล้ชิดรัฐมนตรี จะได้ประโยชน์ ร้อยละ 54.3 ระบุเจ้าหน้าที่รัฐ ในขณะที่เพียงร้อยละ 30.1 เท่านั้นที่คิดว่าประชาชนทั่วไปจะได้ประโยชน์ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.1 ระบุจำเป็นที่รัฐบาลต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ลดความเคลือบแคลงสงสัย

เมื่อถามว่า รัฐบาลควรลงทุนให้กับประชาชนด้านใดมากที่สุด พบว่า อันดับแรก หรือร้อยละ 43.1 ระบุพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รองลงมาคือร้อยละ 19.8 ระบุการศึกษา อันดับสามได้แก่ ร้อยละ 19.4 ระบุด้านสุขภาพประชาชน อันดับสี่ ได้แก่ ร้อยละ 6.3 ระบุด้านสาธารณูปโภค บริการความสะดวกต่างๆ และอันดับห้า ได้แก่ ร้อยละ 4.9 ระบุด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ลดอาชญากรรม

ดร.นพดล กล่าวว่า ประชาชนกำลังให้ความสนใจต่อการลงทุนของรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชนคือ ความโปร่งใสด้วยการประกาศให้ชัดเจนถึงเส้นทางการกระจายของเม็ดเงิน สองล้านล้านบาท ว่าตกไปถึงมือใคร บริษัทใด และประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ ที่ใดได้ประโยชน์จากเงินกู้ทั้งหมดในรายละเอียดเพื่อสร้าง “ความวางใจ” ของสาธารณชนต่อรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลน่าจะพิจารณาดูว่า การตัดสินใจของรัฐบาลสอดคล้องกับความต้องการของสาธารณชนหรือไม่ เนื่องจาก สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นรัฐบาลลงทุนอันดับแรกคือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน รองลงมาคือ การศึกษา และด้านสุขภาพของประชาชน

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.5 เป็นชาย ร้อยละ 53.5 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 6.1 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 23.2 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 22.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และร้อยละ 27.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 68.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 31.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 32.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 9.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.2 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 6.0 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 1.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้ ข่าว พ.ร.บ.เงินกู้ สองล้านล้านบาท
ลำดับที่   การรับรู้                                                                      ค่าร้อยละ
  1     ทราบข่าว                                                                      91.3
  2     ไม่ทราบ                                                                        8.7
        รวมทั้งสิ้น                                                                     100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้ข่าว ด้านต่างๆ ของ พ.ร.บ.เงินกู้ สองล้านล้านบาท (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่   ข่าวด้านต่างๆ ของ พ.ร.บ.เงินกู้                                                    ค่าร้อยละ
  1     ข่าวขัดแย้ง ทะเลาะกันในสภา เรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้                                        82.9
  2     กระแสวิพากษ์วิจารณ์ การกู้เงิน ตาม พ.ร.บ.เงินกู้                                        80.5
  3     ข้อมูลรายละเอียดประโยชน์  ของ พ.ร.บ. เงินกู้                                         32.6
  4     ข้อมูล การนำ เงินกู้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศ                                            31.3
  5     วิธีการของรัฐบาลในการป้องกัน ปัญหาทุจริต คอรัปชั่น ในการใช้เงินกู้                           23.6

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลว่า พ.ร.บ.เงินกู้ สองล้านล้านบาท จะนำไปสู่ปัญหาวุ่นวายในประเทศ
ลำดับที่   ความคิดเห็น                                                                    ค่าร้อยละ
  1     กังวล                                                                          40.6
  2     ไม่กังวล                                                                        59.4
        รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ในการใช้จ่ายเงิน ตาม พ.ร.บ.เงินกู้ อย่างโปร่งใส
ลำดับที่   ความเชื่อมั่น                                                                    ค่าร้อยละ
  1     เชื่อมั่น                                                                         20.8
  2     ไม่เชื่อมั่น                                                                       79.2
        รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ กลุ่มคนที่คาดว่าได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.เงินกู้ ผ่านสภาฯ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่   กลุ่มคนที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.เงินกู้                                         ค่าร้อยละ
  1     กลุ่มนายทุน                                                                      72.8
  2     นักการเมือง รัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี บุคคลใกล้ชิดรัฐมนตรี                                 70.9
  3     เจ้าหน้าที่รัฐ                                                                     54.3
  4     ประชาชนทั่วไป                                                                   30.1

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความจำเป็นที่ รัฐบาล ต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ลดความเคลือบแคลงสงสัย
ลำดับที่  ความคิดเห็น                                                                     ค่าร้อยละ
  1    จำเป็น                                                                          87.1
  2    ไม่จำเป็น                                                                        12.9
       รวมทั้งสิ้น                                                                       100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ รัฐบาลควรลงทุนให้กับประชาชนด้านใดมากที่สุด
ลำดับที่   ความคิดเห็น                                                                    ค่าร้อยละ
  1     พัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน                                                              43.1
  2     การศึกษา                                                                       19.8
  3     สุขภาพ                                                                         19.4
  4     สาธารณูปโภค บริการความสะดวกต่างๆ                                                  6.3
  5     ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน ลดอาชญากรรม                                          4.9
  6     ความมั่นคงประเทศ ความไม่สงบตามแนวชายแดน                                           3.7
  7     อื่นๆ ได้แก่ ความมั่นคงในอาชีพ ชีวิตหลังเกษียณ ปัญหาแรงงานต่างชาติ ปัญหาค้ามนุษย์ เป็นต้น         2.8
        รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ