เอแบคโพลล์: เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อ การตัดสินใจของรัฐบาล กรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์

ข่าวผลสำรวจ Thursday October 3, 2013 11:14 —เอแบคโพลล์

เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อ การตัดสินใจของรัฐบาล กรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์

กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ

ดร.นพดล กรรณิกา ประธานเครือข่ายวิชาการทำประชาพิจารณ์และสาธารณมติเพื่อนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญร่วมกับคุณจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล หัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนาลุ่มน้ำเพื่อเกษตกร เครือข่ายวิชาการฯ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อการตัดสินใจของรัฐบาล กรณีการสร้างเขื่อนแม่วงก์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ พะเยา นครสวรรค์ นครพนม อุดรธานี สุรินทร์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ชุมพร และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,140 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 กันยายน — 2 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 94.7 ทราบข่าวการตัดสินใจของรัฐบาลผลักดันการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในขณะที่ร้อยละ 5.3 ไม่ทราบข่าว

เมื่อถามถึงการบริหารจัดการน้ำโดยรัฐบาล พบว่า เกือบสองในสามหรือร้อยละ 62.9 เห็นด้วยที่รัฐบาลจะมีการบริหารจัดการน้ำ ในขณะที่ร้อยละ 37.1 ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 74.3 รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยว่ามีผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ นอกจากนี้ เมื่อสัมภาษณ์เจาะลึกโดยสอบถามถึงการจัดเวทีต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่กังวลเรื่องการจัดตั้งกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐบาลเข้ามาสร้างความชอบธรรมในการตัดสินใจของรัฐบาล และเมื่อถามถึงความวางใจของประชาชนต่อรัฐบาลในการสร้างเขื่อนกับข้อมูลของผู้คัดค้านพบว่า ส่วนใหญ่มีความวางใจต่อรัฐบาลน้อยกว่าข้อมูลของผู้คัดค้าน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามถึง กลุ่มผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์มากที่สุด พบว่า อันดับแรกหรือร้อยละ 59.4 ได้แก่ นักการเมือง ที่ปรึกษา นักวิชาการฝ่ายการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น รองลงมา หรือร้อยละ 24.8 ได้แก่ กลุ่มนายทุน และมีเพียงร้อยละ 15.8 เท่านั้นที่ระบุเป็นประชาชนทั่วไป

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.3 คิดว่าจะมีการลักลอบค้าสัตว์ป่าค่อนข้างมากถึงมากที่สุด นอกจากนั้น ร้อยละ 78.0 ระบุควรให้เวลาเพื่อปฏิบัติการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า และการรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยใกล้เคียง และร้อยละ 69.8 ควรเพิ่มบทบาทองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมตรวจสอบผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ในขณะที่ร้อยละ 30.2 ระบุไม่ควร

ที่น่าพิจารณาคือ เกินครึ่งหรือร้อยละ 59.5 คิดว่า การสร้างเขื่อนแม่วงก์ไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และร้อยละ 81.1 ระบุควรชะลอและทบทวนโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์

คุณจุฬารัตน์ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ รัฐบาลอาจใช้เป็นข้อพิจารณาได้ในสองระดับ คือ

ระดับแรก ได้แก่ กรณีคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ รัฐบาลควรจำแนกให้ชัดว่า ผู้คัดค้านไม่ได้คัดค้านไม่ให้มีการบริหารจัดการน้ำ (ทั้งเพื่อเหตุผลการป้องกันน้ำท่วมหรือเพื่อการเกษตรกรรม) แต่เป็นการคัดค้านกระบวนวิธีการจัดการที่ยังไม่ชัดเจน หรือยังไม่เหมาะสมดีพอ ยกตัวอย่างเช่น ความไม่ชัดเจนต่อสาธารณะว่าตกลงเขื่อนที่รัฐบาลอนุมัติโดยมติ ครม. จะสร้าง คือเขื่อนอะไร ที่ไหน ขนาดไหน เป็นเขื่อนตามแผนงานของกรมชลประทานที่ยังไม่ผ่าน EHIA หรือเป็นแนวคิดใหม่เพื่อการป้องกันน้ำท่วมกันแน่ ซึ่งการให้ข้อมูลอย่างชัดเจน ครอบคลุมต่อสาธารณะทุกภาคส่วนอย่างจริงใจตั้งแต่ต้น ไม่ใช่การชี้แจงแบบตอบโต้ผ่านสื่อไปวันๆ กรณีเช่นนี้ ยิ่งจะกลายเป็นการสร้างความเคลือบแคลง สงสัย และก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นหรือวางใจต่อรัฐบาล

ระดับที่สอง ได้แก่ เป็นตัวอย่างว่าการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย จะใช้วิธีการแบบที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตีหัวเข้าบ้าน” ไม่ได้ และไม่ใช่เฉพาะเรื่องการสร้างเขื่อนอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการพัฒนาที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ เช่น กรณีการให้สัมปทานเหมือง กรณี GMOs เพราะโครงการเหล่านี้ เป็นการแย่งชิงทรัพยากรไปจากคนพื้นที่ จากกรณีเหล่านี้ ขอเสนอแนวทางเพื่อพิจารณาให้แก่รัฐบาล คือ รัฐบาลควรทำกระบวนการให้ครบถ้วนตั้งแต่ตอนเริ่มต้นก่อนการตัดสินใจดำเนินโครงการถึงจะช้า แต่ก็อาจได้ดำเนินโครงการ ถ้าดีพอ อย่างไรก็ตาม ในทางตรงกันข้าม หากไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างความรับรู้และเข้าใจ และให้ประชาชนมีส่วนตัดสินใจอย่างจริงจัง ความไม่วางใจจะนำไปสู่การคัดค้านและความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความขัดแย้งแบบ “มึงสร้าง กูเผา” ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในเมืองไทยภายใต้รัฐบาลที่เสนอมาตราการปรองดอง

ในขณะที่ ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ตามหลักทางการเมือง รัฐบาลมักจะไม่ทบทวนการตัดสินใจใดๆ ที่ทำไปแล้ว แต่เมื่อเรามีนายกรัฐมนตรีที่ชาวบ้านส่วนใหญ่วางใจว่าเป็นผู้ที่มีความตระหนักถึงความดีส่วนรวมของประเทศ แนวทางที่น่าพิจารณาคือ การปรับปรุงโครงการและสร้างความวางใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนโดยสิ่งที่น่าพิจารณาในเชิงนโยบายสาธารณะคือ กลุ่มผู้คัดค้านสามกลุ่มอย่างน้อย ได้แก่ กลุ่มที่อยู่เหนือเขื่อน กลุ่มที่อยู่ใต้เขื่อน และกลุ่มที่เฝ้าระวังผลกระทบโดยรวมต่อทรัพยากรของประเทศ ดังนั้น รัฐบาลอาจพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ดังนี้

ประการแรก การตัดสินใจของรัฐบาลในการกระจายทรัพยากร (Redistribution) ในช่วงวาระสองหรือสามปีของการอยู่ในอำนาจบริหารของรัฐบาลเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน และการบริหารจัดการน้ำและการสร้างเขื่อนก็ถือเป็นนโยบายสาธารณะที่อยู่ในรูปของการกระจายทรัพยากรโดยนำเงินของรัฐบาลที่ได้จากการบริหารบ้านเมืองมาลงทุนให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อมูลที่ขาดหาย (Missed Information) และสาธารณชนไม่ได้รับรู้ เป็นสิ่งที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพและความเชื่อมั่นศรัทธาต่อรัฐบาลได้

ประการที่สอง ข้อมูลที่ขาดหายไปจากการรับรู้ของสาธารณชนมักจะถูกปกปิดบิดเบือน เนื่องจากกลุ่มผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้อยู่ตอนล่างของเขื่อนและเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องต้องตอบสนองความต้องการของฝ่ายการเมืองย่อมมองว่า การสร้างเขื่อนดีเพราะเป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกทางการเกษตรโดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่ต้องพึ่งพาน้ำฝน ช่วยป้องกันน้ำท่วมบางพื้นที่ได้ เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และยังเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อนอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถ้ามองไปให้ไกล (long view) จะพบว่า กลุ่มประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อนที่ตอนนี้อาจมองว่าดีเช่นกัน แต่ถ้าเกิดฝนทิ้งช่วง ก็มักจะได้รับผลกระทบในการใช้น้ำอย่างจำกัดด้วยข้อห้ามต่างๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐและสภาพทางธรรมชาติที่จะกระทบต่อการเพาะปลูกเช่นกัน นอกจากนี้ การสร้างเขื่อนอาจทำให้เกิดสภาพ WATERLOGGING ในพื้นที่ทางการเกษตรจนลดผลผลิตทางการเกษตรและไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้ และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ พื้นที่ป่า ชีวิตสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพที่จะถูกทำลายไป ส่งผลให้ ความพยายามของรัฐบาลที่จะชดเชยเยียวยาความสูญเสียครั้งใหญ่จากการสร้างเขื่อนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย แต่รัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายมักจะไม่ให้ความสำคัญต่อความสูญเสียที่สาธารณชนยังมองไม่เห็นในเวลานี้

ประการที่สาม สถานการณ์ต่างๆ ในการตัดสินใจของรัฐบาลเวลานี้ กำลังต้องการให้รัฐบาลแสดงบทบาทชัดเจนในเรื่องของ การรักษาระบอบประชาธิปไตยแบบสมดุล (Balanced Democracy) เอาไว้อย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยรัฐบาลอาจพิจารณาทำให้สาธารณชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายเห็นว่า รัฐบาลพยายามสมดุลอำนาจต่างๆ ในประเทศไม่ใช้อำนาจจากเสียงข้างมากทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มและพวกพ้องของตน เพราะบางโครงการควรชะลอและทบทวนให้รอบด้านมากกว่าข้อมูลที่ได้รับการรายงานจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ เพียงช่องทางเดียว

โดยสรุป การชะลอโครงการและทบทวนการสร้างเขื่อนตามเสียงสะท้อนของสาธารณชนที่ค้นพบครั้งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลและผู้ใหญ่ในสังคมน่าจะพิจารณาอย่างจริงจัง เพราะผู้นำรัฐบาลและผู้บริหารระดับสูงอาจไม่สามารถลงไปในรายละเอียดของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีการสร้างเครือข่ายรอการตัดสินใจของรัฐบาลเอาไว้อยู่แล้ว ดังนั้นการอาศัยข้อมูลที่รอบด้านและการเพิ่มบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศที่เป็นปัจจุบันเข้ามาช่วยกันปกป้องพื้นที่ป่า ชีวิตสัตว์ป่า (WILDLIFE) แหล่งน้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพ น่าจะช่วยทำให้รัฐบาลภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.4 เป็นชาย ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 20.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.6 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 30.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 64.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 30.9 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ร้อยละ 4.5 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 30.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 28.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 8.3 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 8.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.0 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การทราบข่าวรัฐบาลผลักดันการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ลำดับที่    การรับรู้                              ค่าร้อยละ
  1      ทราบข่าว                              94.7
  2      ไม่ทราบข่าว                             5.3
         รวมทั้งสิ้น                             100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำโดยรัฐบาล
ลำดับที่    ความคิดเห็น                           ค่าร้อยละ
  1      เห็นด้วย                               62.9
  2      ไม่เห็นด้วย                             37.1
         รวมทั้งสิ้น                             100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยต่อการสร้างเขื่อนแม่วงก์ว่ามีผู้ได้รับผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง
ลำดับที่    ความคิดเห็น                           ค่าร้อยละ
  1      รู้สึกเคลือบแคลงสงสัย                     74.3
  2      ไม่รู้สึกเคลือบแคลงสงสัย                   25.7
         รวมทั้งสิ้น                             100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแม่วงก์มากที่สุด
ลำดับที่    ความคิดเห็น                                                            ค่าร้อยละ
  1      นักการเมือง  ที่ปรึกษา นักวิชาการของฝ่ายการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น            59.4
  2      กลุ่มนายทุน                                                              24.8
  3      ประชาชนทั่วไป                                                           15.8
         รวมทั้งสิ้น                                                              100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ว่าจะมีการลักลอบค้าสัตว์ป่ามากน้อยเพียงไร จากจุดยืนการสร้างเขื่อนแม่วงก์ของรัฐบาล
ลำดับที่    ความคิดเห็น                          ค่าร้อยละ
  1      ค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด                  76.3
  2      ค่อนข้างน้อย ถึงไม่มีเลย                  23.7
         รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ควรให้เวลาเพื่อปฏิบัติการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่า และการรักษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ
ในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยใกล้เคียง
ลำดับที่    ความคิดเห็น                          ค่าร้อยละ
  1      ควร                                 78.0
  2      ไม่ควร                               22.0
         รวมทั้งสิ้น                            100.0


ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ควรเพิ่ม บทบาทขององค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมตรวจสอบผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ลำดับที่    ความคิดเห็น                          ค่าร้อยละ
  1      ควร                                 69.8
  2      ไม่ควร                               30.2
         รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ถ้าสร้างเขื่อนแม่วงก์แล้วจะแก้ปัญหาน้ำท่วมได้
ลำดับที่    ความคิดเห็น                          ค่าร้อยละ
  1      คิดว่าได้                             40.5
  2      คิดว่าไม่ได้                           59.5
         รวมทั้งสิ้น                           100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ควรชะลอและทบทวนโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์
ลำดับที่    ความคิดเห็น                         ค่าร้อยละ
  1      ควรชะลอและทบทวนโครงการ             81.1
  2      ไม่ควร                              18.9
         รวมทั้งสิ้น                           100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ