เอแบคโพลล์: ข้อสอบมาตรฐานกลาง ตกซ้ำชั้นของ สพฐ. : นโยบายการศึกษาที่น่าคิดของสังคมไทย

ข่าวผลสำรวจ Monday October 14, 2013 06:53 —เอแบคโพลล์

ผู้ที่มีแนวคิดสนับสนุนการออกข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นมักจะมีความหวังว่า การทดสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยปรับปรุง “คุณภาพของระบบการศึกษา” (Quality of Education System) เพราะอาจจะเห็นคล้อยตามไปกับผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาจากความคิดเห็นของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามในรายงานของ World Economic Forum (WEF) ที่ระบุคุณภาพการศึกษาของประเทศไทยรั้งท้ายในอาเซียน แต่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการออกข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจเล็งเห็นผลเสียต่อ “การเรียนรู้” (Learning) และวัฒนธรรมท้องถิ่นของเด็กไทยได้

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้สนับสนุนแนวคิดการออกข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบอีกหลายประการ เช่น

ประการแรก การออกข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นจะทำให้คณะผู้บริหารการศึกษาในพื้นที่ ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และกลุ่มผู้ปกครองเกิดความตื่นตัวรับผิดชอบมากขึ้นต่อการเรียนของนักเรียนและการสอนของคณะครู

ประการที่สอง ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นน่าจะทำให้เกิดแรงกระตุ้นเป็นปัจจัยเร่งของการเปลี่ยนแปลงสู่การปฏิรูปการศึกษาได้

ประการที่สาม ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นจะทำให้คณะผู้บริหารโรงเรียน คณะครู และนักเรียนมีผลการทดสอบมาช่วยปรับปรุงการเรียนการสอนภายในโรงเรียน

ประการที่สี่ ข้อสอบมาตรฐานกลาง ตกซ้ำชั้นจะทำให้เกิดความมุมานะมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในโรงเรียนในการหาแนวทางทำให้เด็กนักเรียนผ่านการทดสอบด้วยข้อสอบมาตรฐานเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนแนวคิดการออกข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจมีเหตุผลคัดค้านในหลายประการด้วยเช่นกัน

ประการแรก ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ลดทอนบทบาทของคณะครูในการตัดสินใจว่า ควรจะสอนอะไรและควรจะสอนอย่างไรให้กับเด็กๆ ในวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกันของสังคมไทยโดยใช้ค่าคะแนนที่ได้จากข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นมาเป็นตัวประเมินความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน คณะครูและคณะผู้บริหารของโรงเรียน

ประการที่สอง ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจตีคุณค่าของเด็กๆ อยู่ที่ค่าคะแนนที่ได้รับจากผลสอบซึ่งอาจเป็นการตีคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็กที่แคบเกินไปเพราะเด็กๆ มีศักยภาพและอัจฉริยภาพแห่งการเรียนรู้ (Learning) ที่มากกว่า ผลคะแนนที่ได้รับจากใครก็ไม่รู้ (Unknown Unknown) ที่อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นของเด็กๆ ในแต่ละพื้นที่ของประเทศไทยเลย

ประการที่สาม ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจลดทอนกำลังใจและแรงบันดาลใจเชิงสร้างสรรค์ของคณะผู้บริหารโรงเรียน คณะครู กลุ่มผู้ปกครอง กลุ่มผู้นำชุมชน และนักเรียนในการเรียนรู้เพื่อสร้างชุมชนท้องถิ่นของพวกตนผ่านการแบ่งปันวัฒนธรรมดั้งเดิมของผู้คนในชุมชน ประสบการณ์ของผู้สูงวัยและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ที่ไม่มีอยู่ในหลักสูตรและข้อสอบมาตรฐานกลางของ สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ

ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจทำให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวยของกลุ่มนายทุนธุรกิจสถาบันกวดวิชาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งอาจจะไม่เป็นปัญหากับกลุ่มผู้ปกครองและนักเรียนที่มีฐานะทางการเงินดี แต่น่าจะส่งผลเสียอันเลวร้ายต่อเด็กนักเรียนที่มีฐานะยากจนมีรายได้น้อยอันเป็นการซ้ำเติมค่าครองชีพของผู้ปกครองมากขึ้นไปอีก เพราะไม่สามารถจะหาเงินมาจ่ายให้กับการสอนพิเศษของสถาบันกวดวิชาต่างๆ ได้ ดังนั้นผลการสอบสะท้อนอะไรให้กับคุณภาพของระบบการศึกษาไทย

ยิ่งไปกว่านั้นคือ กรณีดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อปัญหาทุจริตข้อสอบที่มาจากส่วนใดส่วนหนึ่งของระบบเพราะแม้แต่การสอบครูผู้ช่วยยังรั่วได้เพราะปัญหาทุจริตคอรัปชั่น ในขณะที่ข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นยังไม่มีอะไรเป็นหลักประกันสร้างความวางใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนได้มากกว่าคำพูดโฆษณาชวนเชื่อเพียงอย่างเดียว

กล่าวโดยสรุป การศึกษา (Education) เกิดขึ้นมาในสังคมมนุษย์เพื่อช่วยลดทอนปัญหาสังคม แต่หากตัดสินใจในเชิงนโยบายการศึกษาที่ผิดพลาด “การศึกษา” อาจกลายเป็นตัวสร้างปัญหาเสียเอง อย่างไรก็ตาม เจตนาดีของผู้ใหญ่ในสังคมที่หาแนวทางต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณภาพระบบการศึกษาให้ดีขึ้นเป็นเรื่องดีน่าสนับสนุนแต่การตัดสินใจออกนโยบายข้อสอบมาตรฐานกลางตกซ้ำชั้นอาจจำเป็นต้องช่วยกันพิจารณาผลกระทบที่ไปลดทอนมิติอื่นๆ ของคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของเด็กๆ ให้ออกมาเป็นเพียงค่าคะแนน ลดทอนศักยภาพการใฝ่เรียนรู้ให้เหลือเพียงการเตรียมตัวสอบจากกลุ่มติวเตอร์โดยการสอนพิเศษและสถาบันกวดวิชาที่อาจไม่ใส่ใจต่อความลึกซึ้งในวัฒนธรรมท้องถิ่นของประชาชนแต่ละพื้นที่ของประเทศได้

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ