กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่
นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การทำงานของรัฐบาล บทบาทของฝ่ายค้าน และการปฏิรูปพฤติกรรมของนักการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของประเทศ ได้แก่ เชียงราย นครราชสีมา ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,784 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 7 — 12 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงความภาคภูมิใจเมื่อพูดถึงการเมืองไทยในขณะนี้ พบว่า สองในสามหรือร้อยละ 66.4 รู้สึกอาย เพราะบ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ขัดแย้งกันเอง ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ความเดือดร้อนของประชาชน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง ในขณะที่ร้อยละ 33.6 รู้สึกภาคภูมิใจ เพราะยังดีที่ประเทศยังคงปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
สำหรับความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนหรือม็อบในขณะนี้ พบว่า ร้อยละ 80.3 คิดว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง และร้อยละ 19.7 คิดว่าไม่มี
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.7 ยังมีความหวังต่อการกอบกู้ความเชื่อมั่นศรัทธาของคนไทยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยหากนักการเมืองยอมลดทิฐิและหันหน้าเข้าหากัน ในขณะที่ร้อยละ 20.3 คิดว่าสายเกินไปแล้ว ขอให้คนไทยทำใจยอมรับสภาพ และปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงการดำเนินงานของรัฐบาล เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ พบว่า ร้อยละ 71.6 คิดว่ารัฐบาลควรเร่งเข้าถึงประชาชนทุกชนชั้นเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง และทำงานอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้ เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ในขณะที่ร้อยละ 28.4 คิดว่าควรเร่งสร้างความสัมพันธ์ ที่ดีระหว่างประเทศ และการไปพบปะผู้นำประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงบทบาทของพรรคฝ่ายค้าน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.2 อยากให้ร่วมกันหาแนวคิดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ยึดหลักการทำงานด้วยสันติวิธี ไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรง และค้านด้วยเหตุและผล และร้อยละ 20.8 ระบุควรค้านการทำงานของรัฐบาลในทุกด้านที่ไม่เห็นด้วย
สิ่งที่น่าสนใจคือ ความคิดเห็นต่อการปฏิรูปนักการเมืองไทยทุกฝ่ายระหว่างการปฏิรูปการเมืองไทยกับการปฏิรูปพฤติกรรมของนักการเมือง ควรเร่งทำอะไรก่อน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.7 คิดว่าควรเร่งปฏิรูปพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนร่วมในกลุ่มนักการเมืองทุกฝ่ายก่อน เพราะหากประชาชนขาดความเชื่อมั่นในตัวบุคคล การปฏิรูปในระดับประเทศคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นต้องเริ่มจากฐานให้แข็งแรงก่อน ในขณะที่ร้อยละ 15.3 คิดว่าควรเร่งปฏิรูปการเมืองก่อน เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยและร่วมมือกันในที่สุด
นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวว่า จากการสัมภาษณ์เชิงลึกเพิ่มเติม พบว่า กลุ่มตัวอย่างได้แสดงความคิดเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศสยามเมืองยิ้ม และเมืองศิวิไลที่เป็นที่ยกย่องเรื่องวัฒนธรรมที่ดีงาม ความรัก ความสามัคคี และความสงบสุข กำลังโดนทำลายด้วยน้ำมือของคนไทยด้วยกันเอง ด้วยสิ่งยั่วยุทั้งอำนาจ ผลประโยชน์ และทิฐิการมุ่งเอาชนะ เพื่อศักดิ์ศรีของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งผลกระทบไปตกอยู่กับประชาชนชาวไทยที่ไร้เดียงสา ต้องมานั่งรับกรรมจากพฤติกรรมซ้ำซากของนักการเมืองทุกฝ่าย ในขณะที่บ้านเมืองเต็มไปด้วยความเดือดร้อนรอบด้าน ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ สิ่งที่น่าพิจารณาสำหรับรัฐบาลคือ ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนกลับคืนมา แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ ความเป็นห่วงและการเร่งช่วยเหลือประชาชน เปิดช่องทางการสื่อสารสองทางที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างทั่วถึง และตอบสนองอย่างรวดเร็วในกรณีเร่งด่วน แสดงบทบาทความเป็นผู้นำอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ ลดการโฆษณาชวนเชื่อ และไม่ใช้อำนาจพร่ำเพรื่อ
นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศและการเมืองควรต้องมุ่งเน้นมาที่ พฤติกรรมและภาพลักษณ์ของนักการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเห็นแต่ยังไม่ได้เห็นถึงการทำ “หน้าที่” ของนักการเมืองในการรักษาผลประโยชน์ของชาติและลดความเดือดร้อนของประชาชนมากเท่าใดนัก แต่กลับเห็นพฤติกรรมที่เสื่อมเสียไม่เหมาะสม ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อเด็กและเยาวชน
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 50.1 เป็นชาย ร้อยละ 49.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 7.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 16.2 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 18.6 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 18.0 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 40.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 71.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 28.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 29.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.9 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 33.8 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป/เกษตรกร ร้อยละ 8.6 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.0 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.0 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ
ลำดับที่ ความรู้สึก ค่าร้อยละ 1 รู้สึกภาคภูมิใจ เพราะยังดีที่ประเทศยังคงปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย 33.6 2 รู้สึกอาย เพราะบ้านเมืองเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ขัดแย้งกันเอง ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ความเดือดร้อนของประชาชน และยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดลง 66.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนหรือม็อบในขณะนี้ว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 คิดว่ามีการเมืองอยู่เบื้องหลัง 80.3 2 คิดว่าไม่มี 19.7 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความหวังต่อการกอบกู้ความเชื่อมั่นศรัทธาของคนไทยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย ลำดับที่ ความหวัง ค่าร้อยละ 1 ยังมีความหวังหากนักการเมืองยอมลดทิฐิและหันหน้าเข้าหากัน 79.7 2 สายเกินไปแล้ว ขอให้คนไทยทำใจยอมรับสภาพ และปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติของสังคมประชาธิปไตย 20.3 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการดำเนินงานของรัฐบาล เพื่อเร่งสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมาในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ควรเร่งเข้าถึงประชาชนทุกชนชั้นเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างทั่วถึง และทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ 71.6 2 ควรเร่งสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ และการไปพบปะผู้นำประเทศอื่นๆ 28.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อบทบาทของพรรคฝ่ายค้านในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายและความเดือดร้อนของประชาชนในขณะนี้ ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 อยากให้ร่วมกันหาแนวคิดเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ยึดหลักการทำงาน ด้วยสันติวิธี ไม่ใช้อารมณ์และความรุนแรง และค้านด้วยเหตุและผล 79.2 2 ค้านการทำงานของรัฐบาลในทุกด้านที่ไม่เห็นด้วย 20.8 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการปฎิรูปนักการเมืองไทยทุกฝ่ายระหว่างการปฏิรูปการเมืองไทยกับการปฏิรูปพฤติกรรมของนักการเมืองควรเร่งทำอะไรก่อน ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ควรเร่งปฏิรูปพฤติกรรมและสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนร่วมในกลุ่มนักการเมืองทุกฝ่ายก่อน เพราะหาก ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในตัวบุคคล การปฏิรูปในระดับประเทศคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นต้องเริ่มจากฐานให้แข็งแรงก่อน 84.7 2 ควรเร่งปฏิรูปการเมืองก่อน เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยและร่วมมือกันในที่สุด 15.3 รวมทั้งสิ้น 100.0
--เอแบคโพลล์--