เอแบคโพลล์: “ประชาธิปไตย” อำนาจของประชาชนหรือนักการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่

ข่าวผลสำรวจ Monday October 21, 2013 08:07 —เอแบคโพลล์

นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง “ประชาธิปไตย” อำนาจของประชาชนหรือนักการเมืองของ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของประเทศ ได้แก่ เชียงราย นครราชสีมา ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,488 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 - 19 ตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7

เมื่อสอบถามถึงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในอีก 1 เดือนข้างหน้า พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.1 กังวลว่าสถานการณ์การเมืองจะรุนแรงขึ้น และร้อยละ 29.9 ระบุไม่กังวล

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ เกือบสองในสามหรือร้อยละ 62.5 คิดว่าสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้และการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นประชาธิปไตยโดยการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 37.5 คิดว่าเป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนมากกว่า

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างกึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51.5 ไม่เชื่อมั่นต่อความเป็นกลางของกลไกทางด้านศาล และร้อยละ 57.1 ไม่เชื่อมั่นว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปจะอยู่บนพื้นฐานความชอบธรรม

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.3 คิดว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย หากยังคงเดินหน้าต่อไปภายใต้ความขัดแย้ง ในขณะที่ร้อยละ 19.7 ไม่คิดว่าจะเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งบานปลาย

นางสาวปุณฑรีก์ ผช.ผอ. กล่าวว่า ประชาชนเริ่มมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อการใช้อำนาจที่มีประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือ และมีความวิตกกังวลต่อความขัดแย้งรุนแรงบานปลายที่อาจจะเกิดขึ้นจากพฤติกรรมการใช้อำนาจพร่ำเพรื่อของฝ่ายการเมือง ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงความรู้สึกของสาธารณชน ลดการโฆษณาชวนเชื่อ และสร้างความเชื่อมั่นในท่ามกลางความขัดแย้งว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน และนำพาประเทศชาติให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจให้แก่ประชาชนในการสร้างแนวร่วมโดยยึดถือเอาผลประโยชน์เพื่อประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคหรือกลุ่มพวกพ้อง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 43.1 เป็นชาย ร้อยละ 56.9 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 3.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 18.9 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 21.4 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 34.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 67.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ ร้อยละ 32.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 33.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 9.9 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 8.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 29.5 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป/เกษตรกร ร้อยละ 8.6 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 7.0 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในอีก 1 เดือนข้างหน้า
ลำดับที่   ความคิดเห็น                                                    ค่าร้อยละ
  1     กังวลว่าการเมืองจะรุนแรงขึ้น                                        70.1
  2     ไม่กังวล                                                        29.9
        รวมทั้งสิ้น                                                      100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้และการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ว่าเป็นประชาธิปไตยโดยประชาชน หรือประชาธิปไตยโดยการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองมากกว่า
ลำดับที่   ความคิดเห็น                                                   ค่าร้อยละ
  1     เป็นประชาธิปไตยโดยประชาชนมากกว่า                                37.5
  2     เป็นประชาธิปไตยโดยการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองมากกว่า                62.5
        รวมทั้งสิ้น                                                     100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อความเป็นกลางของกลไกทางด้านศาล
ลำดับที่   ความเชื่อมั่น                                                  ค่าร้อยละ
  1     ยังเชื่อมั่นว่าเป็นกลาง                                            48.5
  2     ไม่เชื่อมั่นว่าเป็นกลาง                                            51.5
        รวมทั้งสิ้น                                                    100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไปว่าจะอยู่บนพื้นฐานความชอบธรรม
ลำดับที่   ความเชื่อมั่น                                                 ค่าร้อยละ
  1     ยังเชื่อมั่นว่าจะอยู่บนพื้นฐานความชอบธรรม                            42.9
  2     ไม่เชื่อมั่น                                                    57.1
        รวมทั้งสิ้น                                                   100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่าจะเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย
ลำดับที่   ความคิดเห็น                                                 ค่าร้อยละ
1     คิดว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย
        หากยังคงเดินหน้าต่อไป ภายใต้ความขัดแย้ง                          80.3
  2     คิดว่าไม่เป็น                                                 19.7
        รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ