เอแบคโพลล์: การเดินทางและอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2557: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและ 4 จังหวัดหัวเมืองใหญ่

ข่าวผลสำรวจ Friday April 4, 2014 10:51 —เอแบคโพลล์

ดร. ปรีชา เมธาวัสรภาคย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การเดินทางและอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานครและหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา และชลบุรี จำนวนทั้งสิ้น 2,242 ตัวอย่าง โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 3 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 36.0 ตั้งใจจะเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ในขณะที่ร้อยละ 64.0 ระบุไม่ไป ทั้งนี้ในกลุ่มผู้ที่ระบุตั้งใจจะไปต่างจังหวัดนั้น ร้อยละ 68.9 ระบุตั้งใจจะเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว/รถเพื่อน/รถของญาติ พี่น้อง ร้อยละ 20.9 ระบุตั้งใจจะเดินทางโดยรถโดยสารประจำทาง และร้อยละ 8.1 ระบุตั้งใจจะเดินทางโดยเครื่องบิน นอกจากนี้ตัวอย่างยังตั้งใจจะเดินทางโดยยานพาหนะอย่างอื่นเช่น รถไฟ รถตู้ รถเช่า รถตู้โดยสารประจำทาง ตามลำดับ โดยประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 29.3 ตั้งใจว่าจะขับรถด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงการพบเห็นสิ่งที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 90.7 ระบุเคยพบเห็นคนขับรถเกินความเร็วที่กฎหมายกำหนด รองลงมาคือร้อยละ 82.8 ระบุมีคนขับรถด้วยความประมาท หวาดเสียว ร้อยละ 82.2 ระบุสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ฝนตก ถนนลื่น ร้อยละ 77.7 ระบุพื้นผิวถนนไม่ได้มาตรฐาน ร้อยละ 77.2 ระบุคนขับรถไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร โดยขับรถย้อนศร เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบเห็นกรณีไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอ ไม่มีป้ายจำกัดความเร็ว ไม่มีการตรวจตราจับกุมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่สัญญาณจราจรขัดข้อง วัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันอุบัติเหตุไม่เพียงพอ ไม่มีป้ายเตือนก่อนถึงจุดเสี่ยง และไม่มีจุดพักรถที่ปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้

นอกจากนี้ เมื่อสอบถามปัญหาอุปสรรคที่เคยพบเจอเมื่อมีอุบัติเหตุบนท้องถนนนั้นพบว่า ร้อยละ 63.8 ระบุทำให้การจราจรติดขัด ร้อยละ 47.6 ระบุเจ้าหน้าที่มาถึงที่เกิดเหตุล่าช้า ร้อยละ 21.9 ระบุไม่สามารถติดต่อศูนย์รับแจ้งเหตุได้ ร้อยละ 21.9 ระบุเจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุพูดจาไม่สุภาพ ร้อยละ 18.7 ระบุเจ้าหน้าที่บอกปัดความรับผิดชอบ โยนเรื่องกันไปมา และร้อยละ 13.0 ระบุเจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ตามลำดับ สำหรับความมั่นใจต่อการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 39.6 ระบุไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 35.1 ระบุมั่นใจ และร้อยละ 25.3 ไม่ระบุความคิดเห็น ตามลำดับ

ประเด็นสำคัญสุดท้าย เมื่อสอบถามตัวอย่างถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้นั้นพบว่า ร้อยละ 11. 7 ระบุตั้งใจจะดื่มอย่างแน่นอน ร้อยละ 25.0 ระบุอาจจะดื่ม อย่างไรก็ตามร้อยละ 20.4 ระบุอาจจะไม่ดื่ม และร้อยละ 42.9 จะไม่ดื่มอย่างแน่นอน

ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 46.6 เป็นชาย ร้อยละ 53.4 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 8.8 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 18.8 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 20.0 อายุระหว่าง 40–49 ปี และร้อยละ 32.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 75.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 21.9 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 2.7 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 6.9 ระบุอาชีพข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.5 ระบุเป็นพนักงานบริษัท ร้อยละ 23.5 ระบุอาชีพค้าขายอิสระ/ส่วนตัว/ผู้ประกอบการ/เจ้าของกิจการ ร้อยละ 16.0 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 23.1 ระบุเป็นผู้ใช้แรงงาน/รับจ้างทั่วไป/ลูกจ้างโรงงาน/สถานประกอบการ ร้อยละ 9.6 ระบุแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และร้อยละ 5.4 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความตั้งใจเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ลำดับที่   ความตั้งใจเดินทางไปต่างจังหวัด                            ค่าร้อยละ
  1     ไป                                                     36
  2     ไม่ไป                                                   64
        รวมทั้งสิ้น                                               100

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุพาหนะที่ตั้งใจจะใช้ในการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วง เทศกาลสงกรานต์ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่   พาหนะที่ตั้งใจจะใช้ในการเดินทางไปต่างจังหวัด                 ค่าร้อยละ
  1     รถยนต์ส่วนตัว รถเพื่อน ญาติพี่น้อง                            68.9
  2     รถโดยสารประจำทาง                                     20.9
  3     เครื่องบิน                                               8.1
  4     รถจักรยานยนต์ (มอเตอร์ไซค์)                               7.8
  5     รถไฟ                                                  6.8
  6     อื่นๆ ระบุ รถตู้ รถเช่า รถตู้โดยสารรับจ้างประจำทาง             12.9

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความตั้งใจในการขับขี่รถในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ลำดับที่   ความตั้งใจในการขับขี่รถในช่วงเทศกาลสงกรานต์                ค่าร้อยละ
  1     ตั้งใจจะขับรถด้วยตนเอง                                   29.3
  2     จะไม่ขับรถเอง                                          70.7
        รวมทั้งสิ้น                                            100.00

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสิ่งที่เคยพบเห็นซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่   สิ่งที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน               ค่าร้อยละ
  1     มีคนขับรถเกินความเร็วที่กฎหมายกำหนด                        90.7
  2     มีคนขับรถด้วยความประมาทหวาดเสียว                         82.8
  3     สภาพอากาศ ฝนตก ถนนลื่น                                 82.2
  4     พื้นผิวถนน ไม่ได้มาตรฐาน                                  77.7
  5     มีคนขับรถย้อนศร                                         77.2
  6     ไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างเพียงพอ                                 75.1
  7     ไม่มีป้ายจำกัดความเร็วที่เตือนสติคนขับมากเพียงพอ                73.9
  8     เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่คอยตรวจตราจับกุมอย่างต่อเนื่อง               72.9
  9     สัญญาณจราจรขัดข้อง                                      71.4
 10     อุปกรณ์ วัสดุป้องกันอุบัติเหตุไม่เพียงพอ                         68.0
 11     ไม่มีป้ายเตือนล่วงหน้า ก่อนถึงจุดเสี่ยงอันตราย                   67.7
 12     ไม่มีจุดพักรถที่ปลอดภัยเพียงพอ                               66.4

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาอุปสรรคที่เคยพบเจอเมื่อมีอุบัติเหตุบนถนนในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่   ปัญหาอุปสรรคที่เคยพบเจอเมื่อมีอุบัติเหตุบนท้องถนน               ค่าร้อยละ
  1     การจราจรติดขัด/รถติด                                    63.8
  2     เจ้าหน้าที่มาถึงที่เกิดเหตุล่าช้า                               47.6
  3     ไม่สามารถติดต่อศูนย์รับแจ้งเหตุ (Call Center) ได้             21.9
  4     เจ้าหน้าที่รับแจ้งเหตุพูดจาไม่สุภาพ                            20.1
  5     การบอกปัดความรับผิดชอบ (โยนเรื่องกันไปมา)                  18.7
  6     เจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย                             13.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความมั่นใจต่อการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ที่จะถึงนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ลำดับที่   ความมั่นใจต่อการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ที่จะถึงนี้เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ค่าร้อยละ

  1     ไม่มั่นใจว่าจะทำได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา                            39.6
  2     มั่นใจ                                                 35.1
  3     ไม่มีความเห็น                                           25.3
        รวมทั้งสิ้น                                            100.00

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความตั้งใจดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์
ลำดับที่   ความตั้งใจดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์         ค่าร้อยละ
  1     ตั้งใจจะดื่มอย่างแน่นอน                                    11.7
  2     อาจจะดื่ม                                              25.0
  3     อาจจะไม่ดื่ม                                            20.4
  4     ไม่ดื่ม/ไม่ดื่มอย่างแน่นอน                                   42.9
        รวมทั้งสิ้น                                            100.00

--เอแบคโพลล์--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ