สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องเปิดเทอมใหม่ 2562 กรณีศึกษา : ตัวอย่างประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป ที่มีบุตรศึกษาอยู่ในระดับอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,216 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 27 เมษายน–10 พฤษภาคม2562 ที่ผ่านมา พบว่า
ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 59.46 เป็นหญิง และร้อยละ 40.54 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็นช่วงอายุ พบว่า ร้อยละ 28.04 มีอายุ 25-35 ปี ร้อยละ 30.84 มีอายุ 36-45 ปี และร้อยละ 41.12 มีอายุ 46-60 ปี ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 80.18 สมรสแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 18.83 เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.99 ไม่ระบุ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 45.30 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 47.62 ระดับปริญญาตรี ร้อยละ 6.85 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี และร้อยละ 0.23 ไม่ระบุ ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 39.31 มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท ร้อยละ 33.31 มีรายได้ 25,001-35,000 บาท ร้อยละ 16.94 มีรายได้ 35,001-45,000 บาท ในขณะที่ร้อยละ 10.03 มีรายได้สูงกว่า 45,000 บาท และร้อยละ 0.41ไม่ระบุ สำหรับอาชีพ พบว่า ร้อยละ 35.12 อาชีพพนักงาน/บริษัทเอกชน ร้อยละ 22.20 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 15.05 อาชีพรับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.31 อาชีพธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.84 อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 0.66 เป็นพ่อบ้านแม่บ้าน และร้อยละ 0.82 ไม่ระบุ
คนกรุงฯ ส่วนใหญ่มีลูกที่กำลังเรียน 1-2 คน ... พ่อและแม่ช่วยกันส่งลูกเรียน ...
เอยูโพลได้สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีบุตรกำลังเรียนอยู่ เกี่ยวกับเปิดเทอมใหม่ 2562 พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ (ร้อยละ 92.69) มีบุตรที่กำลังเรียนอยู่ในระดับอนุบาล-มัธยมปีที่ 6/ปวช. จำนวน 1-2 คน มีบางส่วน (ร้อยละ 7.31) มีบุตรที่กำลังเรียนอยู่ จำนวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 82.30) อาศัยอยู่บ้านเดียวกันกับพ่อแม่ผู้ปกครอง อีกร้อยละ 24.12 อาศัยอยู่กับญาติ สำหรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการเรียนของบุตรนั้น ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 60.86) ระบุว่า ตนและคู่สมรสร่วมกันร้บผิดชอบ อีกร้อยละ 32.89 ระบุตนเป็นผู้รับผิดชอบคนเดียว ที่เหลือระบุญาติเป็นผู้รับผิดชอบ
ส่วนใหญ่เตรียมเงินไว้จ่ายค่าเทอมล่วงหน้า ไม่ก็รอเงินเดือนออก ... ประมาณ 2 หมื่นบาทต่อครอบครัว ...
ส่วนเงินที่นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียนของบุตร พบว่า ได้เก็บเงินเตรียมไว้ล่วงหน้าแล้ว (ร้อยละ 67.05) บ้างก็รอเงินเดือนงวดล่าสุด (ร้อยละ 60.36) บางคนต้องนำทรัพย์สินไปจำนำ (ร้อยละ 17.59) และบางคนต้องหยิบยืมจากญาติพี่น้อง (ร้อยละ 12.63) เพื่อมาจ่ายเป็นค่าเล่าเรียนบุตร เป็นต้น สำหรับค่าใช้จ่ายในการเรียนหลักๆ ได้แก่ ค่าเทอม (ร้อยละ 95.23) ค่าชุดนักเรียน/เครื่องแบบ (ร้อยละ 81.41) ค่ากระเป๋า/อุปกรณ์การเรียน (ร้อยละ 64.64) ค่าเรียนพิเศษ (ร้อยละ 62.75) ค่าหนังสือเรียน (ร้อยละ 61.18) และค่ารองเท้า (ร้อยละ 60.20) เป็นต้น โดยครอบครัวส่วนใหญ่เตรียมค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนของบุตรทุกคนในช่วงเปิดเทอมนี้ไว้โดยเฉลี่ย 20,035 บาท
ค่าใช้จ่ายประจำวัน-ค่าเล่าเรียน-ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ... ทำพ่อแม่ผู้ปกครองเครียดเปิดเทอมใหม่ ...
ในแง่ของปัญหาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเรียนของบุตร ใน 5 อันดับแรก พบว่า มีค่าใช้จ่าย/ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 76.01) ค่าเล่าเรียนสูงขึ้น (ร้อยละ 70.89) ชุดนักเรียน/อุปกรณ์การเรียนแพงขึ้น (ร้อยละ 65.18) เงินอุดหนุนจากรัฐไม่เพียงพอ (ร้อยละ 22) และมีลูกที่ต้องเข้าเรียนเพิ่มขึ้น (ร้อยละ 20.02) เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกือบครึ่ง (ร้อยละ 48.48) มีความเครียดในเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนของบุตรมากถึงมากที่สุด
การศึกษาไทยดีกว่าในอดีต สูสีกับประเทศในอาเซียน ... เด็กไทยควรเสริมด้านภาษาและ EQ ...
เมื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองเปรียบเทียบสภาพการศึกษาของไทยในปัจจุบันกับที่ผ่านมา พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 49.42) มองว่าดีกว่าในอดีต อีกร้อยละ 38.55 ระบุพอๆ กับในอดีต และเมื่อให้เปรียบเทียบมาตรฐานการศึกษาของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน พบว่า ร้อยละ 40.17 เห็นว่าดีกว่าประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน อีกร้อยละ 41.32 ระบุพอๆ กับประเทศส่วนใหญ่ในอาเซียน รวมทั้ง พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ (ร้อยละ 42.33) ยังมั่นใจมากถึงมากที่สุดว่านโยบายและระบบการศึกษาของไทยจะช่วยพัฒนาบุตรของตนได้เป็นอย่างดี
ในแง่ของการส่งเสริมการเรียนและทักษะต่างๆ ให้แก่บุตร พบว่า ร้อยละ 38.46 ให้เรียนพิเศษในโรงเรียน เพราะอยากให้อยู่ในการดูแลของครู ประหยัดค่าใช้จ่าย และช่วยเพิ่มความรู้ เป็นต้น อีกร้อยละ 40 ให้เรียนพิเศษนอกโรงเรียน เพราะสถาบันติวมีคุณภาพ ครูมีความเชี่ยวชาญ และให้บุตรมีสังคมใหม่ๆ เป็นต้น ที่เหลือร้อยละ 21.51 ยังไม่ได้วางแผน ส่วนทักษะที่ควรเสริมให้เด็กไทยใน 5 อันดับแรก ได้แก่ ด้านภาษา (ร้อยละ 93.39) ด้านอารมณ์ (ร้อยละ 43.19) ด้านคุณธรรม (ร้อยละ 31.30) ด้านการเข้าสังคม (ร้อยละ 29.64) และด้านกีฬา (ร้อยละ 29.15) เป็นต้น
อยากให้รัฐช่วยค่าเทอม ชุด-อุปกรณ์การเรียน และเรียนฟรี ... แก้ปัญหารถติดช่วงเปิดเทอมและค่าใช้จ่าย ...
ส่วนเรื่องที่พ่อแม่ผู้ปกครองอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลาน ได้แก่ ช่วยเหลือค่าเล่าเรียนหรือลดค่าเล่าเรียน (ร้อยละ 77.33) เพิ่มเงินช่วยค่าชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียน (ร้อยละ 52.93) ให้เรียนฟรี โดยที่ผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่ม (ร้อยละ 50.43) เป็นต้น ส่วนปัญหาในช่วงเปิดเทอมที่อยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไข คือ ปัญหาการจราจร (ร้อยละ 66.50) และค่าใช้จ่ายในการเรียนสูง (ร้อยละ 35.80) เป็นต้น
เอยูโพลมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
โทร. 0-2723-2163-8
--เอยูโพล--