เอยูโพล: ดัชนีความเครียดของคนไทยไตรมาส 3/2562

ข่าวผลสำรวจ Friday December 13, 2019 11:35 —เอแบคโพลล์

กรณีศึกษา : ตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา

สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทยไตรมาส 3/2562 : ตัวอย่างประชาชนทั่วไป ในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,009 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3–30 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา พบว่า

ตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 56.50 เป็นหญิง และร้อยละ 43.50 เป็นชาย เมื่อจำแนกออกเป็นเจเนอเรชั่น พบว่า ร้อยละ 6.77 เป็นเจเนอเรชั่น Z (ตัวอย่างที่มีอายุ 15-18 ปี) ร้อยละ 12.39 เป็นเจเนอเรชั่น M (ตัวอย่างที่มีอายุ 19-24 ปี) ร้อยละ 22.21 เป็นเจเนอเรชั่น Y (ตัวอย่างที่มีอายุ 25-35 ปี) ร้อยละ 30.46 เป็นเจเนอเรชั่น X (ตัวอย่างที่มีอายุ 36-50 ปี) และร้อยละ 28.17 เป็นเจเนอเรชั่น B (ตัวอย่างที่มีอายุ 51-69 ปี) ด้านสถานภาพสมรส พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 49.28 สมรสแล้ว ร้อยละ 40.02 เป็นโสด ในขณะที่ร้อยละ 8.81 เป็นหม้าย/หย่า/แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.89 ไม่ระบุ ส่วนการศึกษาที่สำเร็จมา ชั้นสูงสุด พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 44.90 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 46.44 ระดับปริญญาตรี และร้อยละ 8.66 ระดับสูงกว่าปริญญาตรี ส่วนรายได้ส่วนตัวเฉลี่ยต่อเดือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 23.00 มีรายได้ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 32.21 มีรายได้ 10,001-20,000 บาท ในขณะที่ร้อยละ 23.99 มีรายได้ 20,001-30,000 บาท และร้อยละ 20.80 มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท สำหรับอาชีพ พบว่า ร้อยละ 27.92 อาชีพพนักงาน/บริษัทเอกชน ร้อยละ 21.11 รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.15 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 11.20 เป็นนักเรียน-นักศึกษา ร้อยละ 10.60 อาชีพรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 8.56 ประกอบธุรกิจส่วนตัว และร้อยละ 9.46 ประกอบอาชีพอื่นๆ เช่น พ่อบ้านแม่บ้าน เกษตรกร เกษียณอายุ ว่างงาน เป็นต้น

คนไทยกว่า 80 % รู้สึกเบื่อหน่าย ...

ผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2562 นี้ ในภาพรวมพบว่าคนไทยส่วนใหญ่เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย (ร้อยละ 82.95) ไม่มีความสุขเลย (ร้อยละ 74.28) และรู้สึกหมดกำลังใจ (ร้อยละ 56.28) ซึ่งความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากกว่าการสำรวจครั้งที่ผ่านๆ มาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ อาจส่งผลทำให้ความสุข และคุณภาพชีวิตของคนไทยถดถอยลงได้ในที่สุด

คนไทยความเครียดเพิ่มขึ้นและปัญหาเศรษฐกิจทำให้คนไทยร้อยละ 90 รู้สึกเครียด ...

คนไทยมีความเครียดเพิ่มขึ้นทุกเรื่องเมื่อเทียบกับการสำรวจในครั้งที่ผ่านมา ปัญหาที่ทำให้เครียดมากกว่าเรื่องอื่นๆ ยังคงเป็นเรื่องสภาพเศรษฐกิจ/ การเงิน ปัญหาปากท้อง (ร้อยละ 89.34) โดยปัญหาที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่เกิดความเครียด คือ สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สินค้าราคาแพง ปัญหาหนี้สิน/รายรับไม่พอ กับรายจ่าย ค่าครองชีพสูง รองลงมา คือเรื่องการงาน (ร้อยละ 73.53) ซึ่งปัญหาเกิดจากปริมาณ/ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ สวัสดิการและค่าตอบแทนที่ได้รับ และปัญหาครอบครัว (ร้อยละ 68.30) ไม่ว่าจะเป็นภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัว ความคาดหวังของคนในครอบครัว และความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว ตามลำดับ

ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อพิจารณาความเครียดของคนในแต่ละวัยพบว่า คนไทยทุกเพศวัยต่างก็มีความเครียดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจมาเป็นอันดับ 1 เหมือนๆ กัน นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ววัยรุ่นยังมีความเครียดเรื่องเรียน เช่น ผลการเรียน การศึกษาต่อ อาชีพในอนาคต ในสัดส่วนที่สูงพอกับเครียดเรื่องเศรษฐกิจ ในขณะที่กลุ่มวัยทำงานก็มีความเครียดเรื่องการทำงาน เช่น ปริมาณงานที่ทำ/ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ สวัสดิการค่าตอบแทน และรายได้ไม่แน่นอน/ค้าขายไม่ดี ควบคู่ด้วย ขณะที่ผู้สูงอายุเครียดเรื่องสุขภาพของตัวเอง เช่น ร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวและเจ็บป่วยไม่สบายบ่อย และปัญหาต่างๆ ในทุกเพศวัยเพิ่มขึ้น อย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสที่ผ่านมา ดังนั้นต้องมีการวางแผนและระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งหาวิธีการ แก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อลดความเครียดที่อาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต่อไป ประหยัดและพอเพียง เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ...

วิธีปฏิบัติตนเพื่อแก้ปัญหาเมื่อตนเองรู้สึกเครียดในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสภาพเศรษฐกิจ/การเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะพึ่งตนเอง โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หาอาชีพเสริมและพยายามทำงานให้มากขึ้น ปล่อยวางทำใจยอมรับความเป็นจริงและมีสติ เป็นต้น ส่วนความเครียดในเรื่องการงานนั้น ก็พยายามอดทนและปล่อยวาง หาอาชีพเสริมหรือหางานพิเศษทำ ตั้งใจทำงาน และหาความรู้เพิ่มเติมพร้อมฝึกฝนในการทำงาน ให้มากขึ้น เป็นต้น

โปรดพิจารณารายละเอียดดังต่อไปนี้
ตารางที่ 1 ค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุระดับความรู้สึกต่างๆ จำแนกตามช่วงเวลาที่สำรวจ
ลำดับที่   ความรู้สึก                              ร้อยละ
1     ไม่มีความสุขเลย
        ส.ค. – ต.ค. 61                       57.12
        พ.ย. – ม.ค. 62                       61.56
        ก.พ. – เม.ย. 62                      60.88
        พ.ค. – ก.ค. 62                       55.15
        ส.ค. – ต.ค. 62                       74.28
2     รู้สึกเบื่อหน่าย
        ส.ค. – ต.ค. 61                       65.30
        พ.ย. – ม.ค. 62                       72.72
        ก.พ. – เม.ย. 62                      64.85
        พ.ค. – ก.ค. 62                       65.18
        ส.ค. – ต.ค. 62                       82.95
3     ไม่อยากพบปะผู้คน
        ส.ค. – ต.ค. 61                        36.3
        พ.ย. – ม.ค. 62                       40.43
        ก.พ. – เม.ย. 62                      34.01
        พ.ค. – ก.ค. 62                       30.53
        ส.ค. – ต.ค. 62                       44.49
4     รู้สึกหมดกำลังใจ
        ส.ค. – ต.ค. 61                       40.44
        พ.ย. – ม.ค. 62                       42.46
        ก.พ. – เม.ย. 62                      41.00
        พ.ค. – ก.ค. 62                       43.13
        ส.ค. – ต.ค. 62                       56.28
5     รู้สึกตนเองไม่มีคุณค่า
        ส.ค. – ต.ค. 61                       24.51
        พ.ย. – ม.ค. 62                       28.87
        ก.พ. – เม.ย. 62                      24.00
        พ.ค. – ก.ค. 62                       21.30
        ส.ค. – ต.ค. 62                       33.00

ตารางที่ 2 ค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเครียดในแต่ละด้าน จำแนกตามช่วงเวลาที่สำรวจ
ลำดับที่   ความเครียด                            ร้อยละ
1     เศรษฐกิจ/การเงิน
        ส.ค. – ต.ค. 61                       67.45
        พ.ย. – ม.ค. 62                       78.52
        ก.พ. – เม.ย. 62                      69.39
        พ.ค. – ก.ค. 62                       73.07
        ส.ค. – ต.ค. 62                       89.34
2     การงาน
        ส.ค. – ต.ค. 61                       44.64
        พ.ย. – ม.ค. 62                       56.30
        ก.พ. – เม.ย. 62                      46.19
        พ.ค. – ก.ค. 62                       48.68
        ส.ค. – ต.ค. 62                       73.53
3     ครอบครัว
        ส.ค. – ต.ค. 61                       51.07
        พ.ย. – ม.ค. 62                       50.00
        ก.พ. – เม.ย. 62                      43.19
        พ.ค. – ก.ค. 62                       43.80
        ส.ค. – ต.ค. 62                       68.30
4     สุขภาพ
        ส.ค. – ต.ค. 61                       43.68
        พ.ย. – ม.ค. 62                       55.06
        ก.พ. – เม.ย. 62                      40.42
        พ.ค. – ก.ค. 62                       40.81
        ส.ค. – ต.ค. 62                       60.48
5     การเรียน
        ส.ค. – ต.ค. 61                       32.31
        พ.ย. – ม.ค. 62                       15.87
        ก.พ. – เม.ย. 62                      27.94
        พ.ค. – ก.ค. 62                       30.97
        ส.ค. – ต.ค. 62                       40.19
?
ตารางที่ 2 ค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเครียดในแต่ละด้าน จำแนกตามช่วงเวลาที่สำรวจ (ต่อ)
ลำดับที่   ความเครียด                            ร้อยละ
6     การเมือง
        ส.ค. – ต.ค. 61                       22.67
        พ.ย. – ม.ค. 62                       53.77
        ก.พ. – เม.ย. 62                      30.86
        พ.ค. – ก.ค. 62                       35.31
        ส.ค. – ต.ค. 62                       58.74
7     สิ่งแวดล้อม
        ส.ค. – ต.ค. 61                       44.63
        พ.ย. – ม.ค. 62                       72.47
        ก.พ. – เม.ย. 62                      46.85
        พ.ค. – ก.ค. 62                       48.11
        ส.ค. – ต.ค. 62                       65.35

เอยูโพลมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

โทร. 0-2723-2163-8

--เอยูโพล--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ