เอแบคโพลล์: ทางออกฝ่าวิกฤตของประเทศไทยในทรรศนะของสาธารณชน

ข่าวผลสำรวจ Wednesday August 27, 2008 15:11 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ทางออกฝ่าวิกฤตของประเทศไทย ในทรรศนะของสาธารณชน กรณีศึกษาประชาชนที่ติดตามข่าวสถานการณ์การเมืองใกล้ชิดทั่วประเทศใน 16 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก ลพบุรี ราชบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ อุดรธานี หนองคาย นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ สงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,718 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินการโครงการระหว่างวันที่ 26 — 27 สิงหาคม 2551 ผลสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อย ละ 94.3 ติดตามข่าวสถานการณ์การเมืองใกล้ชิด

ที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.4 กำลังกังวลว่า ความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้จะทำให้สังคมไทยกลายเป็นสภาพ บ้านป่าเมืองเถื่อน ในขณะที่ร้อยละ 20.6 ไม่กังวลเช่นนั้น นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.3 กำลังเครียดต่อสถานการณ์การเมือง ในขณะที่ร้อย ละ 38.7 ไม่เครียดอะไร เมื่อจำแนกตามเพศและช่วงอายุ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนทุกเพศทุกวัยส่วนใหญ่กำลังเครียดต่อสถานการณ์การเมืองของ ประเทศขณะนี้ คือร้อยละ 62.3 ของหญิงและร้อยละ 60.5 ของชายกำลังเครียดต่อสถานการณ์การเมือง ในขณะที่ประมาณร้อยละ 60 ของทุกช่วง อายุคือร้อยละ 56.9 ของคนอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 63.5 ของคนอายุ 20 — 29 ปี ร้อยละ 61.6 ของคนอายุ 30 — 39 ปี และร้อยละ 63.9 ของคนอายุ 40 ปีขึ้นไป กำลังเครียดต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน

ที่น่าพิจารณาคือ ทางออกฝ่าวิกฤตต่างๆ ของคนในชาติต่อปัญหาขัดแย้งกำลังเกิดขึ้นขณะนี้ ผลสำรวจพบว่า อันดับแรก ประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 90.8 ระบุความรักความสามัคคีของคนในชาติ รองลงมาคือร้อยละ 84.6 ระบุให้ทุกฝ่ายยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 81.7 อยากให้เจรจากันด้วยสันติ ร้อยละ 78.8 ให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงความเสียหายต่อประเทศชาติ ร้อยละ 73.9 ให้ทุกฝ่ายมีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ ร้อยละ 64.8 เสียสละเพื่อส่วนรวม ร้อยละ 55.2 ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ร้อยละ 51.7 ให้อภัยต่อกัน ร้อยละ 50.1 เกื้อกูลกัน และร้อยละ 13.9 อื่นๆ เช่น ใช้มาตรการเด็ดขาด รักษาคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.2 ยังคงเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง แม้ประเทศจะพบกับ ปัญหาวิกฤตใดๆ ก็ตาม ในขณะที่ร้อยละ 10.8 ไม่เชื่อมั่น ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.8 ยังคงมีความหวังว่าปัญหาขัดแย้ง หรือฝันร้ายการเมืองทุกอย่างจะคลี่คลายจบลงได้ด้วยดี ในขณะที่ร้อยละ 43.2 หมดความหวังต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศ

ผ.อ.เอแบคโพลล์ มีความเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ ความมีสติและการรู้จักยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำอะไรโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล สาธารณชนไม่ควรเชื่อและยึดมั่นต่อข้อมูลข่าวสารที่เป็นไปอย่างเร่งรีบ แต่ควรนำข้อมูลที่ได้รับไปประกอบกับแหล่งความเป็นจริงอื่นๆ ให้รอบด้าน ไม่ควร เร่งรีบตัดสินใจทำอะไรด้วย “อคติ” ไปตามกระแสที่อาจผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงได้ จึงขอให้ประชาชนทุกๆ คนในประเทศคำนึงถึงผลกระทบต่อ สถาบันสูงสุดของประเทศ และดำเนินชีวิตไปตามปกติ ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม

รายละเอียดงานวิจัย

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อความขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้

2. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการสำรวจภาคสนามของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง ทางออกฝ่าวิกฤตต่างๆ ในทรรศนะของสาธารณชน กรณีศึกษาประชาชนที่ติดตามข่าวสถานการณ์การเมืองใกล้ชิดทั่วประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก ลพบุรี ราชบุรี ชลบุรี สมุทรปราการ อุดรธานี หนองคาย นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 26 — 27 สิงหาคม พ.ศ.2551 ประเภทของการสำรวจวิจัยครั้งนี้ คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ใน กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่าง ได้แก่ การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิ หลายขั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน ขนาดตัวอย่างที่ทำการสำรวจ จำนวน 2,718 ตัวอย่าง ช่วงความเชื่อมั่นอยู่ในระดับร้อยละ 95 ขณะที่ขอบเขตความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างอยู่ที่ +/- ร้อยละ 5 เครื่องมือที่ใช้ใน การเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ การสัมภาษณ์ หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบ ถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ข้อมูล และงบประมาณทั้งสิ้นเป็นของมหาวิทยาลัย คณะผู้วิจัย พนักงานเก็บข้อมูลและประมวลผลรวมทั้งสิ้น 132 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างประชาชนทั่วไปพบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 53.8 ระบุเป็นหญิง

ในขณะที่ร้อยละ 46.2 ระบุเป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 5.7 ระบุอายุระหว่าง 18-19 ปี

ร้อยละ 21.7 ระบุอายุระหว่าง 20—29 ปี

ร้อยละ 24.6 ระบุอายุระหว่าง 30—39 ปี

ร้อยละ 20.9 ระบุอายุระหว่าง 40—49 ปี

และร้อยละ 27.1 ระบุอายุ 50 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ตัวอย่าง ร้อยละ 74.1 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี

ร้อยละ 24.2 ระบุระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 1.7 ระบุสูงกว่าระดับปริญญาตรี

เมื่อพิจารณาถึงการประกอบอาชีพของตัวอย่างพบว่า ร้อยละ 38.7 อาชีพเกษตรกรและรับจ้างแรงงานทั่วไป

รองลงมาคือร้อยละ 23.9 อาชีพค้าขาย/กิจการย่อย

ร้อยละ 16.2 ระบุเป็นลูกจ้าง/พนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 7.6 ระบุเป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 5.3 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา

และร้อยละ 8.3 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การติดตามข่าวขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้น
ลำดับที่          การติดตามข่าว          ค่าร้อยละ
1          การติดตามข่าวใกล้ชิด           94.3
2          ไม่ได้ติดตามใกล้ชิด              5.7
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะทำให้สังคมไทยเป็นสภาพบ้านป่าเมืองเถื่อน
ลำดับที่          ความกังวลของประชาชน                                            ค่าร้อยละ
1          กังวลว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะทำให้สังคมไทยมีสภาพบ้านป่า เมืองเถื่อน          79.4
2          ไม่กังวล                                                              20.6
          รวมทั้งสิ้น                                                             100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเครียดต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้
ลำดับที่          ความเครียดของประชาชน          ค่าร้อยละ
1          เครียดต่อสถานการณ์การเมือง             61.3
2          ไม่เครียดอะไร                        38.7
          รวมทั้งสิ้น                            100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเครียดต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ จำแนกตาม เพศ
ลำดับที่          ความเครียดของประชาชน          ชาย            หญิง
1          เครียดต่อสถานการณ์การเมือง          60.5           62.3
2          ไม่เครียดอะไร                     39.5           37.7
          รวมทั้งสิ้น                         100.0          100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเครียดต่อสถานการณ์การเมืองขณะนี้ จำแนกตามช่วงอายุ
ลำดับที่          ความเครียดของประชาชน   ต่ำกว่า 20 ปี   20 — 29 ปี   30 — 39 ปี   40 ปีขึ้นไป
1          เครียดต่อสถานการณ์การเมือง          56.9        63.5        61.6       63.9
2          ไม่เครียดอะไร                     43.1        36.5        38.4       36.1
          รวมทั้งสิ้น                         100.0       100.0       100.0      100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ทางออกแก้วิกฤตต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น
ลำดับที่          ทางออกแก้วิกฤต                                    ค่าร้อยละ
1          ความรักความสามัคคีของคนในชาติ                              90.8
2          ยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม                                  84.6
3          เจรจากันด้วยสันติ                                          81.7
4          คำนึงถึงความเสียหายต่อประเทศชาติ                            78.8
5          มีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ                                        73.9
6          เสียสละเพื่อส่วนรวม                                        64.8
7          ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด                                      55.2
8          ให้อภัยต่อกัน                                              51.7
9          เกื้อกูลกัน                                                50.1
10         อื่นๆ เช่น ใช้มาตรการเด็ดขาด รักษาคนส่วนใหญ่ของประเทศ เป็นต้น    13.9

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ถึงแม้ประเทศมีวิกฤตใดๆ ก็ตาม
ลำดับที่          ความเชื่อมั่นของประชาชน             ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่นต่อการปกครองแบบประชาธิปไตย          89.2
2          ไม่เชื่อมั่น                                10.8
          รวมทั้งสิ้น                                100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความหวังว่าปัญหาขัดแย้งหรือฝันร้ายการเมืองทุกอย่างจะคลี่คลายจบได้ ด้วยดี
ลำดับที่          ความหวังของประชาชน               ค่าร้อยละ
1          มีความหวัง                               56.8
2          หมดความหวัง                             43.2
          รวมทั้งสิ้น                                100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ