เอแบคโพลล์: สำรวจฐานสนับสนุนของ “กลุ่มคนคอการเมือง” ต่อ พรรคการเมือง และกลุ่มพันธมิตร หลังเกิดเหตุปะทะ 7 ตุลาคม : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ติดตามข่าวสารการเมืองใกล้ชิด (ทุกวัน/เกือบทุกวัน)

ข่าวผลสำรวจ Monday October 20, 2008 10:10 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง สำรวจฐานสนับสนุนของ “กลุ่มคนคอการเมือง” ต่อพรรคการเมืองและกลุ่มพันธมิตร หลังเกิดเหตุปะทะ 7 ตุลาคม กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ติดตามข่าวสารการเมืองใกล้ชิด (ทุกวัน / เกือบทุกวัน) ใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ นครสวรรค์ สมุทรสาคร ระยอง ลพบุรี นครปฐม นนทบุรี ชลบุรี มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี นครราชสีมา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 3,667 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 -18 ตุลาคม 2551

หลังเกิดเหตุปะทะวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า “กลุ่มคนคอการเมือง” ที่ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวัน ให้คะแนนความสง่างามและความชอบธรรมของรัฐบาลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.37 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน มีความหมายว่า ค่อนข้างน้อย และความพอใจต่อท่าทีของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เฉลี่ยอยู่ที่ 4.60 มีความหมายว่าค่อนข้างน้อย และความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยอยู่ที่ 5.66 มีความหมายว่าค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ร้อยละ 43.8 ของผู้ที่ถูกศึกษาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมาคือร้อยละ 39.5 สนับสนุนพรรคพลังประชาชน และร้อยละ 16.7 สนับสนุนพรรคอื่นๆ เมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า ผู้หญิงสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าผู้ชาย คือร้อยละ 47.6 ต่อร้อยละ 39.8 ในขณะที่ กลุ่มผู้ชายสนับสนุนพรรคพลังประชาชนมากกว่าผู้หญิง คือร้อยละ 42.8 ต่อร้อยละ 36.4 ตามลำดับ แต่กลุ่มผู้ชายและกลุ่มผู้หญิงสนับสนุนพรรคอื่นๆ ไม่แตกต่างกันคือร้อยละ 17.4 ต่อร้อยละ 16.0 ตามลำดับ

เมื่อจำแนกออกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อยู่ในวัยทำงานระหว่าง 20 — 29 ปี และระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 45.2 และร้อยละ 47.4 ตามลำดับ ในขณะที่พรรคพลังประชาชนมีผู้สนับสนุนมากในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไปคือร้อยละ 44.9 และในช่วงอายุระหว่าง 40 — 49 ปีมีอยู่ร้อยละ 41.9 ตามลำดับ

แต่เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนเกินครึ่งจากกลุ่มผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรีคือร้อยละ 52.5 และจำนวนมากหรือร้อยละ 42.5 ของผู้มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 40.1 สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชาชนได้รับการสนับสนุนมากจากผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีคือร้อยละ 44.0 ในขณะที่ ปริญญาตรีร้อยละ 30.1 และสูงกว่าปริญญาตรีร้อยละ 31.0 สนับสนุนพรรคพลังประชาชน ที่เหลือสนับสนุนพรรคอื่นๆ

เมื่อจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนมากจากนักเรียนนักศึกษาร้อยละ 51.0 จากกลุ่มธุรกิจส่วนตัวและค้าขายร้อยละ 50.7 พนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 46.2 แม่บ้านเกษียณอายุร้อยละ 45.7 ที่น่าพิจารณาคือ พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มใช้แรงงานและเกษตรกรเพียงร้อยละ 26.9 ในขณะที่พรรคพลังประชาชนยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพใช้แรงงานและเกษตรกรมากถึงร้อยละ 55.8 และกลุ่มว่างงานได้ร้อยละ 40.7 กลุ่มแม่บ้านเกษียณอายุร้อยละ 40.2 และกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 40.1 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พรรคพลังประชาชนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพใช้แรงงาน เกษตรกร กลุ่มคนว่างงาน และข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนมากกว่าในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัทเอกชน ธุรกิจส่วนตัวหรือค้าขาย กลุ่มแม่บ้านและเกษียณอายุ

เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่คือร้อยละ 83.1 ตามด้วยภาคกลางได้ร้อยละ 47.6 กรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 44.9 ในขณะที่พรรคพลังประชาชนได้มากที่สุดในภาคเหนือคือร้อยละ 58.2 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ร้อยละ 48.3 และกรุงเทพมหานครได้ร้อยละ 40.0 ตามลำดับ ที่เหลือคือพรรคอื่นๆ

ที่น่าพิจารณาคือ การจำแนกฐานสนับสนุนพรรคการเมืองออกจากกลุ่มคนที่เคยตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งก่อน พบว่า พรรคใหญ่สองพรรคยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนนิยมศรัทธาเป็นส่วนใหญ่เหมือนเดิม คือ คนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 86.8 ยังคงสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ คนเคยเลือกพรรคพลังประชาชนร้อยละ 84.3 ยังคงสนับสนุนพรรคพลังประชาชน แต่ที่น่าจับตามองคือ คนเคยเลือกพรรคอื่นๆ หันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30.5 และไปสนับสนุนพรรคพลังประชาชนร้อยละ 23.3 ขณะที่ยังคงสนับสนุนพรรคอื่นๆ ร้อยละ 46.2 เท่านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งมาจาก คนที่เคยเลือกพรรคอื่นๆ กำลังเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ปะทะ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา

ดร.นพดล กล่าวว่า ตัวเลขที่ค้นพบนี้น่าสนใจตรงที่ว่า ฐานสนับสนุนของกลุ่มคนที่ติดตามข่าวการเมืองใกล้ชิดซึ่งในช่วงเวลานี้คือคนส่วนใหญ่ของประเทศเพราะเกือบร้อยละ 70 ติดตามข่าวการเมืองทุกวันหรือเกือบทุกวันกำลังสนับสนุนพรรคการเมืองใหญ่สองขั้วอย่างชัดเจน และพรรคที่กำลังได้เปรียบเวลานี้คือพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น ไม่น่าแปลกใจที่รัฐบาลโดยพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลคงต้องเกาะกันไว้อย่างเหนียวแน่น เนื่องจากฐานสนับสนุนยังไม่เข้มแข็งเพียงพอสำหรับการเลือกตั้งใหม่ที่จะมีขึ้น รัฐบาลจากการเลือกตั้งมักจะเลือกยุบสภาในห้วงเวลาที่ต้องได้เปรียบหรือเสียเปรียบน้อยที่สุด

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า แต่ที่น่าเป็นห่วงสำหรับมิติการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชนคือ ฐานสนับสนุนต่อกลุ่มพันธมิตร ผลสำรวจพบว่า ประชาชนผู้ถูกศึกษาแยกกลุ่มออกเป็นกลุ่มสนับสนุนกลุ่มพันธมิตร กลุ่มไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร และกลุ่มขออยู่ตรงกลางหรือพลังเงียบในสัดส่วนเท่าๆ กันคือ ร้อยละ 34.0 สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร ร้อยละ 34.8 ไม่สนับสนุน และร้อยละ 31.2 ขออยู่ตรงกลาง ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นสภาวะที่ทุกๆ ฝ่ายต้องให้ความสำคัญต่อปรากฏการณ์ของการแบ่งกลุ่มเป็นสามก๊ก สามฝ่ายแบบที่ไม่ค่อยจะปรากฏให้เห็นในการสำรวจที่ผ่านๆ มา

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อจำแนกออกตามภูมิภาค พบว่า กลุ่มพันธมิตรได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในภาคใต้คือร้อยละ 61.9 ในภาคกลางร้อยละ 35.6 และในกรุงเทพมหานครร้อยละ 34.9 ขณะที่กลุ่มไม่สนับสนุนพันธมิตรมีมากที่สุดในภาคเหนือร้อยละ 46.6 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรืออีสานร้อยละ 39.1 ส่วนในภาคกลางมีอยู่ร้อยละ 33.3 และกรุงเทพฯ มีอยู่ร้อยละ 33.0 ที่ไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร ที่เหลือขออยู่ตรงกลาง คือไม่เลือกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอีกประมาณร้อยละ 30 ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนไม่แตกต่างกันกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ กล่าวโดยสรุป ในสภาวะเช่นนี้เปราะบางมาก เพราะแต่ละฝ่ายกำลังมีฐานสนับสนุนไม่แตกต่างกัน ดังนั้น “การยึดติดและใช้อำนาจ” จึงไม่น่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมเท่าใดนัก ทางออกที่น่าพิจารณาคือ

ประการแรก น่าจะปรับทัศนคติโดยมองความดีงามของทุกฝ่าย ซึ่งกลุ่มพันธมิตรส่วนใหญ่มีจุดแข็งจุดเด่นคือความรักชาติ กลุ่มไม่สนับสนุนพันธมิตรส่วนใหญ่ต้องการรักษาระบอบประชาธิปไตยตามหลักสากล จะเห็นได้ว่ามีส่วนที่ดี มีอุดมการณ์ด้วยกันทั้งนั้น เพราะถ้าขุดคุ้ยความไม่ดีของกันและกัน ก็จะไม่สามารถเชื่อมประสานสามัคคีกันได้

ประการที่สอง คือ น่าจะใช้ “ความเป็นจริงที่ครบถ้วน” ของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาคลี่คลายสถานการณ์ มากกว่า “การยึดติดและใช้อำนาจ” เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มักจะยอมรับได้กับความเป็นจริง และปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานด้วยความเป็นอิสระและรวดเร็วฉับไวสอดคล้องกับจังหวะของห้วงเวลาสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ประการที่สาม รัฐบาลน่าจะค่อยๆ แปลงสภาพสู่การเป็นรัฐบาลแห่งชาติ โดยดึงเอาคนที่ดีที่เก่งเป็นตัวแทนหรือนำกลุ่มคนต้นแบบของแต่ละกลุ่มมาร่วมทำงานแก้ไขสถานการณ์ความแตกแยกของประเทศเฉพาะหน้าในเวลานี้ให้ลุล่วงไปก่อน

รายละเอียดงานวิจัย

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจฐานสนับสนุนของ กลุ่มคนคอการเมือง ต่อพรรคการเมืองและกลุ่มพันธมิตร

2. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการสำรวจภาคสนามของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในครั้งนี้เรื่อง สำรวจฐานสนับสนุนของ กลุ่มคนคอการเมืองต่อ พรรคการเมือง และกลุ่มพันธมิตร หลังเกิดเหตุปะทะ 7 ตุลาคม กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ติดตามข่าวสารการเมืองใกล้ชิด (ทุกวัน / เกือบทุกวัน) ใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ นครสวรรค์ สมุทรสาคร ระยอง ลพบุรี นครปฐม นนทบุรี ชลบุรี มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี นครราชสีมา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 3,667 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11 -18 ตุลาคม 2551 การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสัมภาษณ์ หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ข้อมูลและงบประมาณเป็นของมหาวิทยาลัย โดยมีคณะผู้วิจัย จำนวนทั้งสิ้น 144 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าตัวอย่างร้อยละ 50.6 เป็นหญิง ร้อยละ 49.4 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 5.5 อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 26.0 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 25.1 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และ ร้อยละ 21.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 67.4 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี รองลงมาคือร้อยละ 28.9 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 3.7 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 40.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 20.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 13.5 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 5.7 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 6.1 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 2.3 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าคะแนนเฉลี่ยของความรู้สึกนึกคิดต่อ รัฐบาล นายกรัฐมนตรี และบรรยากาศทางการเมือง ภายหลังเหตุการณ์ปะทะ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน
ลำดับที่          ความรู้สึกนึกคิดของประชาชน                   ค่าเฉลี่ย (เต็ม 10)          ความหมาย
1          คะแนนความสง่างามและความชอบธรรมของรัฐบาล           4.37                 ค่อนข้างน้อย
2          พอใจต่อท่าทีของ นายสมชาย  วงศ์สวัสดิ์                  4.60                 ค่อนข้างน้อย
3          ความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นอีก               5.66                 ค่อนข้างมาก

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง
ลำดับที่          ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง                 ร้อยละ
1          พรรคประชาธิปัตย์                               43.8
2          พรรคพลังประชาชน                              39.5
3          พรรคอื่นๆ                                     16.7
           รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง จำแนกตาม เพศ
ลำดับที่          ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง          ชาย            หญิง
1          พรรคประชาธิปัตย์                       39.8          47.6
2          พรรคพลังประชาชน                      42.8          36.4
3          พรรคอื่นๆ                             17.4          16.0
          รวมทั้งสิ้น                             100.0         100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง จำแนกตาม ช่วงอายุ
ลำดับที่    ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง   ต่ำกว่า 20 ปี    20—29 ปี    30—39 ปี    40—49 ปี    50 ปีขึ้นไป
1          พรรคประชาธิปัตย์            41.8          45.2       47.4       42.3       40.6
2          พรรคพลังประชาชน           41.2          34.8       36.3       41.9       44.9
3          พรรคอื่นๆ                  17.0          20.0       16.3       15.8       14.5
          รวมทั้งสิ้น                  100.0          100.0     100.0      100.0      100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง จำแนกตาม ระดับการศึกษา
ลำดับที่          ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง       ต่ำกว่า                    สูงกว่า
                                           ปริญญาตรี      ปริญญาตรี     ปริญญาตรี
1          พรรคประชาธิปัตย์                    40.1          52.5        42.5
2          พรรคพลังประชาชน                   44.0          30.1        31.0
3          พรรคอื่นๆ                          15.9          17.4        26.5
          รวมทั้งสิ้น                          100.0         100.0       100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง จำแนกตาม กลุ่มอาชีพ
ลำดับที่     ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง     ข้าราชการ   พนักงาน   ธุรกิจส่วนตัว   นักเรียน   แรงงาน    แม่บ้าน   ว่างงาน
                                     รัฐวิสาหกิจ   เอกชน      ค้าขาย     นักศึกษา   เกษตรกร   เกษียณ
1          พรรคประชาธิปัตย์                35.4     46.2       50.7      51.0     26.9      45.7    37.2
2          พรรคพลังประชาชน               40.1     35.8       34.8      32.0     55.8      40.2    40.7
3          พรรคอื่นๆ                      24.5     18.0       14.5      17.0     17.3      14.1    22.1
          รวมทั้งสิ้น                      100.0    100.0      100.0     100.0    100.0     100.0   100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง จำแนกตาม พรรคการเมืองที่เคยเลือก
ลำดับที่      ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง      เหนือ     กลาง      อีสาน       ใต้       กรุงเทพฯ
1          พรรคประชาธิปัตย์               27.0     47.6      33.9      83.1       44.9
2          พรรคพลังประชาชน              58.2     33.0      48.3       3.8       40.0
3          พรรคอื่นๆ                     14.8     19.4      17.8      13.1       15.1
          รวมทั้งสิ้น                     100.0    100.0     100.0     100.0      100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง จำแนกตาม พรรคการเมืองที่เคยเลือก
ลำดับที่      ฐานสนับสนุนต่อพรรคการเมือง        ประชาธิปัตย์     พลังประชาชน       พรรคอื่นๆ
1          พรรคประชาธิปัตย์                   86.8            5.9           30.5
2          พรรคพลังประชาชน                   2.3           84.3           23.3
3          พรรคอื่นๆ                         10.9            9.8           46.2
           รวมทั้งสิ้น                        100.0          100.0          100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ฐานสนับสนุนต่อกลุ่มพันธมิตร
ลำดับที่      ฐานสนับสนุนต่อ กลุ่มพันธมิตร          ร้อยละ
1          สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร                 34.0
2          ไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร               34.8
3          ขออยู่ตรงกลาง                     31.2
           รวมทั้งสิ้น                        100.0

ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละตัวอย่างที่ระบุ ฐานสนับสนุนต่อกลุ่มพันธมิตร จำแนกตามภูมิภาค
ลำดับที่      ฐานสนับสนุนต่อ กลุ่มพันธมิตร        เหนือ          กลาง          อีสาน           ใต้          กรุงเทพฯ
1          สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร              22.2          35.6          28.6          61.9          34.9
2          ไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร            46.6          33.3          39.1          10.2          33.0
3          ขออยู่ตรงกลาง                  31.2          31.1          32.3          27.9          32.1
           รวมทั้งสิ้น                     100.0         100.0         100.0         100.0         100.0


--เอแบคโพลล์--

-กภ-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ