เอแบคโพลล์: ความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยประจำเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน 2551

ข่าวผลสำรวจ Monday November 17, 2008 07:32 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) (Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความสุขมวล รวมของประชาชนคนไทยประจำเดือนตุลาคม — ต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ ลำพูน นครสวรรค์ ปราจีนบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครพนม สกลนคร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี กระบี่ และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 5,267 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2 - 15 พฤศจิกายน 2551

ผลวิจัยพบว่า ความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศประจำเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาลดลงต่ำสุดตั้งแต่ เคยทำวิจัยความสุขมาในรอบ 34 เดือน โดยดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยในผลวิจัยครั้งล่าสุดอยู่ที่ 4.84 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน โดยลดลงจาก 5.64 ในการสำรวจช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ผลวิจัยพบสาเหตุที่ทำให้ความสุขของคนไทยลดลงได้แก่ บรรยากาศขัดแย้งรุนแรง เหตุปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัญหาด้านหลักธรรมาภิบาลของรัฐบาล ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน ความเครียด ความวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ขัดแย้งรุนแรงที่จะเกิดขึ้นใน อนาคตของสังคมไทย ปัญหาภัยธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน บรรยากาศความสัมพันธ์ของประชาชนในชุมชน และความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นต้น

โดยกลุ่มประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 56.9 ที่เห็นว่า รัฐบาลมีปัญหาด้านหลักธรรมาภิบาล เช่น ไม่มีความสง่างาม ไม่ชอบธรรม มี ปัญหาด้านจริยธรรมทางการเมือง มีความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชนต่อรัฐบาล และผลประเมินความสุขมวลรวมในคนกลุ่มนี้พบว่ามีความสุขมวล รวมเพียง 4.60 เท่านั้น ในขณะที่ประชาชนร้อยละ 43.1 เห็นว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาด้านหลักธรรมาภิบาล เพราะยังคงมีความสง่างาม มีความชอบ ธรรมอยู่ และผลวิจัยพบว่าประชาชนกลุ่มนี้มีความสุขสูงกว่าคือมีความสุขอยู่ที่ 5.14

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.9 ระบุว่าเมื่อมองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันแล้วทำให้มีความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษเพิ่ม มากขึ้น และความสุขมวลรวมของคนกลุ่มนี้อยู่ที่ 4.85 ในขณะที่ ประชาชนร้อยละ 18.1 กลับมีความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ความสุขมวลรวมของคนกลุ่มนี้มีค่าเฉลี่ยน้อยกว่าคนกลุ่มแรกคืออยู่ที่ 4.67

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มคนที่มีความเครียดต่อเรื่องการเมืองระดับมากถึงมากที่สุด มีความสุขต่ำสุด คือ 4.56 เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่ มีระดับความเครียดปานกลาง มีความสุขอยู่ที่ 5.17 และกลุ่มคนที่มีระดับความเครียดน้อยถึงไม่มีเลย มีความสุขอยู่ที่ 5.18 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงความหวังต่อความปรองดองของคนในชาติ หลังจากติดตามข่าวการเตรียมงาน การซ้อมและงานพระราชพิธี ต่างๆ แล้ว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.2 มีความหวังต่อความปรองดองของคนในชาติ ในขณะที่ร้อยละ 28.8 ยังไม่มีความหวัง

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยออกตาม เพศ พบว่า กลุ่มตัวอย่างผู้หญิงมีความสุขอยู่ที่ 4.86 สูงกว่า กลุ่มตัวอย่างผู้ชายเล็กน้อยคืออยู่ที่ 4.81 และเมื่อจำแนกออกตามช่วงอายุ พบว่า คนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีมีความสุขอยู่ที่ 4.94 และคนที่อายุ 50 ปีขึ้นไป มีความสุขอยู่ที่ 4.91 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มคนช่วงอายุอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษาพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีมีความสุขอยู่ที่ 4.91 ซึ่งสูงกว่า คนที่ มีการศึกษาระดับปริญญาตรี มีความสุขอยู่ที่ 4.89 และผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีความสุขอยู่ที่ 4.82 ตามลำดับ

ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า กลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจมีระดับความสุขมวลรวมสูงที่สุดคือ 5.27 รองลงมา คือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่มีความสุขอยู่ที่ 5.03 กลุ่มแม่บ้าน เกษียณอายุมีความสุขอยู่ที่ 5.00 กลุ่มเกษตรกร และรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป มีความสุขอยู่ ที่ 4.88 กลุ่มค้าขาย และธุรกิจส่วนตัว มีความสุขอยู่ที่ 4.73 และกลุ่มที่มีความสุขต่ำสุดคือ กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน มีความสุขอยู่ที่ 4.66 เท่านั้น

ผลวิจัยยังพบด้วยว่า กลุ่มคนที่มีรายได้สูง กลับมีความสุขมวลรวมต่ำกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ โดยพบว่า คนที่มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทขึ้นไป มีความสุขอยู่ที่ 4.75 ในขณะที่กลุ่มคนมีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือนมีความสุขอยู่ที่ 4.89

นอกจากนี้ ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เมื่อจำแนกกลุ่มประชาชนผู้ถูกศึกษาออกตามภูมิภาค และเปรียบเทียบกับผลวิจัยความสุขก่อนหน้านี้ พบ ว่า ความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยในทุกภูมิภาคลดต่ำลง คือ ประชาชนในภาคเหนือเคยมีความสุขในเดือนกันยายนอยู่ที่ 5.34 ลดลงมาอยู่ที่ 4.78 ประชาชนในภาคกลางเคยมีความสุขในเดือนกันยายนอยู่ที่ 5.36 ลดลงมาอยู่ที่ 4.87 ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเคยมีความสุขอยู่ที่ 6.40 ลดลงมาอยู่ที่ 5.11 แต่ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีความสุขมวลรวมทั้งภาคสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับประชาชนในภูมิภาคอื่นๆ ในขณะที่ประชาชนในภาคใต้เคยมีความสุขอยู่ที่ 5.09 แต่การสำรวจครั้งนี้พบว่ามีความสุขลดลงต่ำสุดคืออยู่ที่ 4.48 ส่วนประชาชนคนกรุงเทพมหานคร เคยมีความสุขอยู่ที่ 5.01 ลดต่ำลงอยู่ที่ 4.62 ในการสำรวจครั้งนี้

ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่ค้นพบ คือ ผลการจัด 5 อันดับสิ่งที่จะช่วยทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ ส่วนใหญ่หรือร้อย ละ 92.6 ระบุ ประชาชนคนไทยทุกคนปฏิบัติตนด้วยความรักความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน รองลงมาอันดับที่สอง คือร้อยละ 91.4 ระบุ ทุกกลุ่ม ทุก ฝ่าย หันหน้าจับมือกันต่อหน้าสาธารณชน ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง อันดับที่สาม คือร้อยละ 90.4 ระบุ ทุกฝ่าย ทุกคน เคารพและยอมรับกระบวนการ ยุติธรรม ตามตัวบทกฎหมาย อันดับที่สี่ คือร้อยละ 86.7 ระบุ รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน และอันดับที่ห้า คือ ร้อยละ 80.2 ระบุ ทุกฝ่าย ยอมรับผลการตัดสินของศาลคดีที่ดินรัชดา ตามลำดับ

ผ.อ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า สาเหตุสำคัญหลักๆ ที่ทำให้ความสุขของประชาชนลดต่ำลงในทุกภูมิภาคและต่ำสุดในรอบ 34 เดือน ในงานวิจัยครั้งนี้ คือ ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายทางการเมืองจนมีเหตุทำให้ประชาชนคนไทยด้วยกันบาดเจ็บล้มตาย ปัญหาหลักธรรมาภิบาลของ รัฐบาล ปัญหาจริยธรรมทางการเมืองของนักการเมือง และปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน ส่งผลทำให้เกิดความเครียดสะสมในกลุ่ม ประชาชนทุกเพศทุกวัย ทุกระดับชั้นของสังคม

“อย่างไรก็ตาม งานวิจัยก่อนหน้านี้พบว่า มีประชาชนอยู่กลุ่มหนึ่งที่กำลังมีความรู้สึกเศร้าใจ เสียใจต่อความแตกแยกของประชาชนใน สังคม และอึดอัดต่อบรรยากาศทางการเมืองของประเทศ แต่พวกเขาเหล่านั้นสามารถดำรงตนอยู่รอดและมีความสุขได้ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ ขัดแย้งรุนแรง สภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปัญหาสังคมมากมาย พวกเขาเหล่านั้นคือ กลุ่มประชาชนที่ใช้ชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเคร่งครัด แท้จริง” ดร.นพดล กล่าว

รายละเอียดงานวิจัย

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจค้นหาดัชนีความสุขมวลรวมของคนไทยภายในประเทศในช่วงเดือนตุลาคม - ต้นเดือนพฤศจิกายน 2551

2. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการสำรวจภาคสนามของศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน(Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR (แองเคอร์) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในครั้งนี้เรื่อง “ความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทย ประจำเดือนตุลาคม — ต้นเดือนพฤศจิกายน 2551 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ ปทุมธานี เชียงใหม่ ลำพูน นครสวรรค์ ปราจีนบุรี ระยอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครพนม สกลนคร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อุบลราชธานี กระบี่ และสุราษฎร์ธานี จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 5,267 ราย ซึ่งดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 2-15 พฤศจิกายน 2551

ประเภทของการสำรวจวิจัยครั้งนี้คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือก ตั้ง การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน ช่วงความเชื่อ มั่นอยู่ในระดับ ร้อยละ 95 ขณะที่ขอบเขตความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างอยู่ที่ +/- ร้อยละ 5 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสัมภาษณ์ หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้า วิเคราะห์ข้อมูลและงบประมาณเป็นของมหาวิทยาลัย โดยมีคณะผู้ดำเนินโครงการวิจัยทั้งสิ้น 152 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 50.5 เป็นหญิง

ร้อยละ 49.5 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 7.2 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 26.3 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 27.8 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 20.6 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และ ร้อยละ 18.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 71.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือร้อยละ 26.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 2.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 7.6 อาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 12.4 เป็นพนักงานเอกชน/ลูกจ้างเอกชน

ร้อยละ 37.4 มีธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ/ค้าขาย

ร้อยละ 5.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ร้อยละ 28.5 เกษตรกร / รับจ้างใช้แรงงาน

ร้อยละ 4.1 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ และ

ร้อยละ 4.3 ว่างงาน/ไม่มีรายได้/ไม่ประกอบอาชีพ/ตกงาน

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงแนวโน้มค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมของประชาชนคนไทยภายในประเทศประจำเดือนตุลาคม 2551
เปรียบเทียบกับช่วงเวลาต่างๆ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 เมื่อคะแนนเต็ม 10

ต.ค.49 พ.ย.- ม.ค.50 เม.ย.50 พ.ค.- ก.ย.50 ต.ค.50 เม.ย.51 ก.ค.51 ส.ค.51 ก.ย.51 ต.ค.51

 ค่าคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวม           ธ.ค.49                    ก.ค.50
   ของคนไทยภายในประเทศ       4.86    5.74     5.68     5.11    5.02    5.94     6.9      6.3    6.08    5.82    5.64    4.84
(Gross Domestic Happiness)

สาเหตุที่ทำให้ความสุขลดลง ได้แก่ บรรยากาศขัดแย้งรุนแรง เหตุปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัญหา หลักธรรมาภิบาลของรัฐบาล ปัญหาจริยธรรมทางการเมืองของรัฐบาล ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน ความเครียด ความวิตกกังวล ต่อเหตุการณ์ขัดแย้งรุนแรงอนาคตในสังคมไทย ปัญหาภัยธรรมชาติ และสภาพแวดล้อม ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และความไม่เป็นธรรมในสังคม เป็นต้น

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่รับรู้เกี่ยวกับภาพลักษณ์หลักธรรมาภิบาลของรัฐบาล และดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชน
ลำดับที่          การรับรู้ปัญหาหลักธรรมาภิบาลของรัฐบาล                      ร้อยละ    ค่าคะแนนดัชนีความสุขมวลรวม

โดยเฉลี่ย (คะแนนเต็ม 10) 1 เห็นว่า รัฐบาลมีปัญหาหลักธรรมาภิบาล (ไม่สง่างาม ไม่ชอบธรรม -

    ปัญหาด้านจริยธรรมทางการเมือง สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชน)      56.9            4.60
2   รัฐบาลไม่มีปัญหาด้านหลักธรรมาภิบาล (มีความสง่างาม มีความชอบธรรม -
    มีจริยธรรมทางการเมือง ไม่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยในหมู่ประชาชน)          43.1            5.14

ตารางที่ 3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ มองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันกับความเชื่อเรื่องบาปบุญ คุณโทษ และดัชนีความสุขมวลรวม

ของประชาชน

ลำดับที่          การมองสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน กับความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษ           ร้อยละ    ค่าคะแนนดัชนีความสุขมวลรวม

โดยเฉลี่ย (คะแนนเต็ม 10)

1          มองสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน แล้วทำให้มีความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษเพิ่มมากขึ้น    81.9            4.85
2          มองสถานการณ์การเมืองปัจจุบันแล้วทำให้มีความเชื่อเรื่องบาปบุญคุณโทษลดน้อยลง      18.1            4.67

ตารางที่ 4 แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชน จำแนกตาม ระดับความเครียดต่อเรื่องการเมือง
ลำดับที่          ระดับความเครียดต่อเรื่องการเมือง          ค่าคะแนนดัชนีความสุขมวลรวม

โดยเฉลี่ย (คะแนนเต็ม 10)

1          เครียดมาก ถึง มากที่สุด                               4.56
2          เครียดระดับปานกลาง                                 5.17
3          เครียดน้อย ถึงไม่เครียดเลย                            5.18

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความหวังต่อความปรองดองของคนในชาติ หลังจากติดตามข่าวการเตรียมงาน การซ้อม และงาน

พระราชพิธีต่างๆ

ลำดับที่          ความหวังต่อความปรองดองของคนในชาติ     ร้อยละ
1          มีความหวัง                               71.2
2          ยังไม่มีความหวัง                           28.8
          รวมทั้งสิ้น                                100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชน จำแนกตาม เพศ
ลำดับที่          เพศ            ค่าคะแนนดัชนีความสุขมวลรวม

โดยเฉลี่ย (คะแนนเต็ม 10)

1          เพศชาย                    4.81
2          เพศหญิง                    4.86

ตารางที่ 7  แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชน จำแนกตาม ช่วงอายุ
ลำดับที่          ช่วงอายุ          ค่าคะแนนดัชนีความสุขมวลรวม

โดยเฉลี่ย (คะแนนเต็ม 10)

1          ต่ำกว่า 20 ปี                   4.94
2          20 — 29 ปี                    4.82
3          30 — 39 ปี                    4.89
4          40 — 49 ปี                    4.71
5          50 ปีขึ้นไป                     4.91

ตารางที่ 8  แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชน จำแนกตาม ระดับการศึกษา
ลำดับที่          ระดับการศึกษา          ค่าคะแนนดัชนีความสุขมวลรวม

โดยเฉลี่ย (คะแนนเต็ม 10)

1          สูงกว่าปริญญาตรี                    4.91
2          ปริญญาตรี                         4.89
3          ต่ำกว่าปริญญาตรี                    4.82

ตารางที่ 9  แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชน จำแนกตาม กลุ่มอาชีพ
ลำดับที่          กลุ่มอาชีพ          ค่าคะแนนดัชนีความสุขมวลรวม

โดยเฉลี่ย (คะแนนเต็ม 10)

1          ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ          5.27
2          นักเรียน นักศึกษา                    5.03
3          แม่บ้าน เกษียณอายุ                   5.00
4          เกษตรกร รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป        4.88
5          ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว                  4.73
6          พนักงานบริษัทเอกชน                  4.66

ตารางที่ 10 แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชน จำแนกตาม ระดับรายได้
ลำดับที่          ระดับรายได้          ค่าคะแนนดัชนีความสุขมวลรวม

โดยเฉลี่ย (คะแนนเต็ม 10)

1          ไม่เกิน 5,000 บาท ต่อเดือน            4.89
2          5,001 — 10,000 บาทต่อเดือน          4.88
3          10,001 — 15,000 บาทต่อเดือน         4.78
4          15,001 — 20,000 บาทต่อเดือน         4.86
5          มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป       4.75

ตารางที่ 11  แสดงค่าดัชนีความสุขมวลรวมของประชาชน จำแนกตาม ภูมิภาค และเปรียบเทียบกับงานวิจัยก่อนหน้านี้
ลำดับที่          ภูมิภาคของประเทศ          12 กันยายน(คะแนนเต็ม 10 คะแนน)    16 พฤศจิกายน(คะแนนเต็ม 10 คะแนน)
1          ภาคเหนือ                                5.34                              4.78
2          ภาคกลาง                                5.36                              4.87
3          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ                     6.40                              5.11
4          ภาคใต้                                  5.09                              4.48
5          กรุงเทพมหานคร                           5.01                              4.62

ตารางที่ 12 แสดง 5 อันดับค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สิ่งที่จะช่วยทำให้ความสุขมวลรวมเพิ่มสูงขึ้น (ตอบได้มากกว่า  1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่จะช่วยทำให้ความสุขมวลรวมของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น                    ร้อยละ
1          ประชาชนคนไทยทุกคนปฏิบัติตนด้วยความรักความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน          92.6
2          ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย หันหน้าจับมือกันต่อหน้าสาธารณชน ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง            91.4
3          ทุกฝ่าย ทุกคน เคารพและยอมรับกระบวนการยุติธรรม ตามตัวบทกฎหมาย            90.4
4          รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน                       86.7
5          ทุกฝ่าย ยอมรับผลการตัดสินของศาลคดีที่ดินรัชดา                              80.2

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ