เอแบคโพลล์: ความหวัง กับ ความกลัวของสาธารณชนต่อสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday November 24, 2008 07:21 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความหวัง กับ ความกลัวของ สาธารณชนต่อสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศ กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 2,722 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-22 พฤศจิกายน 2551 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือประมาณกว่าร้อยละ 90 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา และเมื่อถามถึงเหตุผลในการติดตามข่าวการเมือง ผลสำรวจพบว่า โดยส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 83.4 ระบุเป็นเพราะความสนใจส่วนตัว รองลงมาคือร้อยละ 69.3 ระบุเพื่อตรวจสอบว่าตรงกับความคิดเห็นหรือความเชื่อของตนเองหรือไม่ ในขณะที่ร้อยละ 69.2 ระบุเพราะสื่อที่ติดตามข่าวการเมืองอยู่นั้นมีความเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ร้อยละ 69.0 ระบุเป็นเพราะต้องใช้ ข้อมูลข่าวการเมืองปัจจุบันในการตัดสินใจบางเรื่อง ร้อยละ 68.8 ระบุเป็นเพราะความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ ร้อยละ 57.9 ระบุ เป็นเพราะต้องการเอาไว้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์กับผู้อื่น และร้อยละ 54.8 ระบุเพื่อติดตามสถานการณ์ฝ่ายที่ตนเองสนับสนุนและไม่ สนับสนุน ตามลำดับ

ที่น่าพิจารณาคือ ผลการจัด 5 อันดับความรู้สึกของประชาชนที่มีต่อสังคมไทยปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.6 มีความสุขใจที่ เห็นคนไทยแสดงความจงรักภักดี อย่างไรก็ตาม รองลงมาหรือร้อยละ 62.4 ยังคงกังวลต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ในขณะที่ อันดับที่สาม หรือร้อย ละ 54.6 เครียดต่อเรื่องการเมือง อันดับที่สี่หรือร้อยละ 53.6 ยังมีความหวังว่าจะเกิดความปรองดอง รักสามัคคีกันของคนในชาติ และที่น่าเป็นห่วง คือ อันดับที่ห้า หรือเกินกว่าครึ่งเพียงเล็กน้อยคือร้อยละ 53.3 ยังคงเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีเหตุขัดแย้งรุนแรง (ที่น่าเป็นห่วงเพราะ เคยวิจัยพบในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ร้อยละ 65.9 ที่ยังคงเชื่อมั่นระดับมากต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีความขัดแย้งรุนแรงทาง การเมืองเกิดขึ้นในสังคมไทย)

เมื่อถามถึงความนิยมศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ระหว่างการโฟนอิน กับยุติความเคลื่อนไหวทางการเมือง ผลสำรวจ พบว่า ถ้ามีการโฟนอินจะมีประชาชนนิยมศรัทธาต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณอยู่ร้อยละ 47.3 แต่ถ้า พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ยุติการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะมี ประชาชนที่นิยมศรัทธาต่อ อดีตนายกรัฐมนตรี เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 57.6 ในการสำรวจครั้งนี้

ที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งคือ ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.0 คิดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเรื่องนำไปสู่ความ ขัดแย้งรุนแรงบานปลายได้ ในขณะที่ร้อยละ 31.0 คิดว่าไม่รุนแรงบานปลาย

ที่น่าพิจารณาคือ จุดยืนทางการเมืองของประชาชนในการสำรวจครั้งล่าสุดพบว่า คนไทยที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.6 กลับไปอยู่ ตรงกลางคือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในขณะที่มีร้อยละ 25.0 สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 13.4 ไม่สนับสนุนรัฐบาล

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.2 เลือกที่จะมีความหวังและก้าวต่อไปข้างหน้าในท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยขณะนี้ ในขณะที่ร้อยละ 42.8 มีความกลัวต่อเหตุการณ์ข้างหน้าของประเทศ

รายละเอียดงานวิจัย

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจความหวังและความกลัวของประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน

2. เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อบทบาททางการเมืองของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร

3. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการสำรวจภาคสนามของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในครั้งนี้เรื่อง ความหวัง กับ ความกลัวของสาธารณชนต่อ สถานการณ์บ้านเมืองของประเทศ กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่าง ได้แก่ การ สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน ขนาดตัวอย่างที่ทำ การสำรวจ คือ 2,722 ตัวอย่าง ช่วงความเชื่อมั่นอยู่ในระดับร้อยละ 95 ขณะที่ขอบเขตความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่างอยู่ที่ +/- ร้อยละ 5 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสัมภาษณ์ หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบ ความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ข้อมูลและงบประมาณเป็นของมหาวิทยาลัย โดยมีคณะผู้วิจัย จำนวนทั้งสิ้น 97 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 56.6 เป็นหญิง

ร้อยละ 43.4 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 9.1 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 30.3 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 28.8 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 18.9 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และ ร้อยละ 12.9 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 65.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือร้อยละ 30.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 3.9 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 34.5 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 21.1 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 18.2 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 8.5 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 5.1 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 7.0 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ในขณะที่ร้อยละ 5.6 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวการเมืองในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวการเมืองในช่วง 30 วันที่ผ่านมา                     ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                                  59.1
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                                  18.4
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                                  15.3
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                                                6.6
5          ไม่ได้ติดตามเลย                                                    0.6
          รวมทั้งสิ้น                                                        100.0

ตารางที่  2  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุเหตุผลที่ติดตามข่าวการเมือง
ลำดับที่          เหตุผลที่ติดตามข่าวการเมือง                                   ค่าร้อยละ
1          ความสนใจส่วนตัวเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน                               83.4
2          ตรวจสอบข่าวว่าตรงกับความคิดเห็นหรือความเชื่อของตนเองหรือไม่              69.3
3          สื่อที่ติดตามนำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด               69.2
4          ต้องใช้ข้อมูลจากข่าวการเมืองปัจจุบันในการตัดสินใจบางเรื่อง                  69.0
5          ความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่นำเสนอ                                68.8
6          เอาไว้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น/วิพากษ์วิจารณ์กับผู้อื่นในวงสนทนา            57.9
7          เพื่อติดตามสถานการณ์ฝ่ายที่ตนเองสนับสนุนและไม่สนับสนุน                     54.8

ตารางที่  3  แสดง 5 อันดับค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความรู้สึกที่มีต่อสังคมไทยปัจจุบัน
ลำดับที่          ความรู้สึกที่มีต่อสังคมไทยปัจจุบัน                                 ค่าร้อยละ
1          มีความสุขที่เห็นคนไทยแสดงความจงรักภักดี                                82.6
2          กังวลใจต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน                                   62.4
3          เครียดต่อเรื่องการเมือง                                             54.6
4          มีความหวังว่าจะเกิดความปรองดอง รักสามัคคีกันของคนในชาติ                 53.6
5          เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีเหตุขัดแย้งรุนแรง                      53.3

ตารางที่ 4  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความนิยมศรัทธาต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ระหว่างการโฟนอิน กับ การยุติการ

เคลื่อนไหวทางการเมือง

ลำดับที่          ความนิยมศรัทธาต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร    กรณีโฟนอิน    กรณี ยุติเคลื่อนไหว
1          นิยมศรัทธาต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ                    47.3           57.6
2          ไม่นิยมศรัทธา                                  52.7           42.4
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0          100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเรื่องที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรง
บานปลายในขณะนี้
ลำดับที่          ความคิดเห็นกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นเรื่องที่นำไปสู่ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในขณะนี้   ค่าร้อยละ
1          คิดว่าจะทำให้รุนแรงบานปลาย                                                            69.0
2          ไม่รุนแรงบานปลาย                                                                    31.0
          รวมทั้งสิ้น                                                                           100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ จุดยืนทางการเมืองในปัจจุบัน
ลำดับที่          จุดยืนทางการเมือง                       ค่าร้อยละ
1          สนับสนุนรัฐบาล                                25.0
2          ไม่สนับสนุนรัฐบาล                              13.4
3          ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด              61.6
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความหวังและความหวาดกลัวต่อเหตุการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมของประเทศไทย
ลำดับที่          ความรู้สึกระหว่างความหวังและความหวาดกลัว      ค่าร้อยละ
1          เลือกที่จะหวังก้าวต่อไปข้างหน้า                        57.2
2          มีความกลัวต่อเหตุการณ์ข้างหน้าของประเทศ               42.8
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ