เอแบคโพลล์: สำรวจความภูมิใจของประชาชนต่อ ประเทศและความเป็นคนไทยในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้

ข่าวผลสำรวจ Monday December 1, 2008 07:25 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง สำรวจความภูมิใจของประชาชน ต่อ ประเทศและความเป็นคนไทยในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัด ปริมณฑล จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 2,404 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2551 พบว่า ประชาชนที่ถูก ศึกษาส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 90 ติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำทุกสัปดาห์ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา

แต่เมื่อถามถึงความรู้สึกต่อประเทศไทยและความเป็นคนไทยในสถานการณ์การเมืองขณะนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.5 ระบุว่าเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ทำให้รู้สึกน่าละอาย และถูกชาวต่างชาติมองว่าประเทศไทยไม่น่าอยู่ระดับมากถึงมากที่สุด

ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจพบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51.3 ยังรู้สึกพูดได้เต็มที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งรอยยิ้มระดับมาก ถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 13.3 มีความรู้สึกเช่นนี้ระดับปานกลาง และเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 35.4 ที่รู้สึกน้อยถึงไม่กล้าเลยที่จะพูดว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งรอยยิ้ม ผลสำรวจที่ค้นพบครั้งนี้ แตกต่างไปจากผลสำรวจในปี 2549 ที่คนไทยประมาณร้อยละ 90 รู้สึกพูดได้เต็มที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งรอยยิ้ม

ยิ่งไปกว่านั้น ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 47.3 ระบุว่า โลกของเราจะน่าอยู่กว่านี้มากถึงมากที่สุด ถ้าคนชาติอื่นๆ เป็นเหมือนกับคนไทย ใน ขณะที่ ร้อยละ 16.6 รู้สึกระดับปานกลาง และเกินกว่า 1 ใน 3 หรือร้อยละ 36.1 ที่ระบุว่า โลกของเราจะน่าอยู่กว่านี้ระดับน้อยถึงไม่น่าอยู่เลย ถ้า คนชาติอื่นๆ เป็นเหมือนกับคนไทย

ผลสำรวจพบด้วยว่า ไม่ถึงครึ่งหรือร้อยละ 46.8 ระบุเมื่ออยู่ในสภาวะที่เดือดร้อน ยังรู้สึกว่าคนไทยเห็นอกเห็นใจต่อกันและกันระดับมาก ถึงมากที่สุด แต่ร้อยละ 13.6 ระบุระดับปานกลาง และร้อยละ 39.6 ระบุระดับน้อยถึงไม่มีเลย

ที่น่าเป็นห่วงคือ ประมาณครึ่งหรือร้อยละ 51.0 รู้สึกน้อยถึงไม่รู้สึกเลยว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีความสงบสุขและสันติ มากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 11.7 ระบุระดับปานกลาง และร้อยละ 37.3 ยังคงระบุระดับมากถึงมากที่สุด นอกจากนี้ ประมาณครึ่งหนึ่งเช่นกันหรือร้อย ละ 49.8 รู้สึกน้อยถึงไม่รู้สึกเลยว่า ประชาชนคนไทยในสังคมรักและเกื้อกูลกัน ในขณะที่ร้อยละ 12.9 ระบุระดับปานกลางและร้อยละ 37.3 ระบุ ระดับมากถึงมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.4 ยังรู้สึกมากถึงมากที่สุดว่า วันนี้ ฉันยังรู้สึกภูมิใจที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย ใน ขณะที่ร้อยละ 6.8 ระบุระดับปานกลางและร้อยละ 11.8 ระบุน้อยถึงไม่ภูมิใจเลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.4 ระบุว่า ฉันพร้อมที่จะเป็นคน หนึ่งที่จะรักและช่วยเหลือคนอื่นๆ ระดับมากถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 10.7 ระบุปานกลาง และร้อยละ 9.9 ระบุน้อยถึงไม่มีความพร้อมเลย

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.1 ระบุโดยภาพรวมรู้สึกภูมิใจน้อยถึงไม่ภูมิใจเลยในความเป็นไทย หากเหตุการณ์ขัดแย้ง ทางการเมืองรุนแรงบานปลายต่อไป ในขณะที่ร้อยละ 34.9 ยังคงภูมิใจมาก ถึงมากที่สุด

ส่วนทางออกของปัญหาการเมืองขณะนี้ ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 92.3 ระบุให้ยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม หลักกฎหมาย (ใครผิด ใครถูกให้เป็นไปตามกฎหมาย) รองลงมาคือ ร้อยละ 57.1 ระบุจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ มีคนกลางเป็นนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 52.0 ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ และร้อยละ 43.8 ระบุพรรคร่วมรัฐบาลควรประกาศถอนตัวออกจากการเป็นรัฐบาล

และที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.1 เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่ทางออกของปัญหาการเมืองขณะนี้ ในขณะที่ร้อยละ 39.9 เห็นว่าเป็นทางออก

และเมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมืองของประชาชนในสถานการณ์ล่าสุดขณะนี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือเกือบร้อยละ 60 คือร้อยละ 58.4 ไม่ ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คือขออยู่ตรงกลาง ในขณะที่ร้อยละ 26.1 เลือกที่จะสนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 15.5 เลือกที่จะไม่สนับสนุนรัฐบาล

ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งรุนแรงบานปลายระหว่างรัฐบาล กับ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตยกำลังสร้างเงื่อนไขเพื่อแบ่งแยกประชาชนคนไทยของประเทศออกเป็นสองขั้วสองสีคือ สีแดงกับสีเหลือง ถ้าหากปล่อยให้ความขัดแย้งที่มีต่อ กันเช่นนี้ยาวนานออกไปตามธรรมชาติของมัน ผลที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือ ความแตกแยกที่จะขยายวงกว้างออกไปยังกลุ่มคนในชนชั้นต่างๆ และพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ส่งผลให้ความภูมิใจของประชาชนคนไทยถูกผลักดันออกไปให้ห่างไปจากวันวานในอดีตที่แต่ละเทศกาลรื่นเริงในฤดูแห่งการท่องเที่ยว ประชาชนคนไทยในแต่ละภูมิภาคเคยเดินทางไปมาหาสู่กัน สนุกสนานร่วมกัน และสัมผัสกับความดีความงามในวัฒนธรรมประเพณีและสิ่งแวดล้อมทาง ธรรมชาติของประเทศไทย

“สิ่งที่น่าจะทำให้คนไทยส่วนใหญ่ที่ยังไม่เลือกข้างขณะนี้ไตร่ตรองดูคือ สังคมไทยและโลกของเราไม่ได้มีเพียงสองสี คือสีเหลืองและสีแดง เท่านั้น แต่สังคมไทยยังมีหลากหลายสีที่จะทำให้เราได้พบกับความดีความงามในสังคมไทยเหมือนในอดีตที่เคยมีความรักความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูล กัน และบรรดาผู้อาวุโสในสังคมช่วยประคับประคองให้คนในสังคมประพฤติปฏิบัติอยู่ในครรลองคลองธรรมและกฎหมาย” ดร.นพดล กล่าว

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่จึงต้องระวังอย่ามีอคติและอย่ามองแบบเหมารวม (Stereotype) ไปว่า สีเหลืองเป็นสีของกลุ่มพันธมิตรฯ และสีแดงเป็นสีของ นปก. และ นปช. ตรงกันข้าม สีเหลืองยังสามารถเป็นสีแห่งสัญลักษณ์ ของความจงรักภักดี และสีแดงยังสามารถมองได้ว่าเป็นความรักชาติที่เข้มข้นของบรรพบุรุษที่เคยยอมเสียสละชีวิตในการรักษาพื้นแผ่นดินไทยนี้ไว้ ดังนั้น ประชาชนในสังคมไทยน่าช่วยกันสร้าง “สังคมแห่งความหลากหลายสี” เพื่อเข้าถึง “ความจริงและความดีความงามแห่งความสงบสุขสันติ” ได้มากกว่า ความพยายามของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่างฝ่ายต่างอ้างว่า รักชาติและระบอบประชาธิปไตย โดยซ่อนผลประโยชน์แห่งอำนาจของตนเองและ พวกพ้องเอาไว้เบื้องหลัง

รายละเอียดงานวิจัย

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจความภูมิใจของประชาชนต่อประเทศไทยและความเป็นคนไทยในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้

2. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการสำรวจภาคสนามของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในครั้งนี้เรื่อง สำรวจความภูมิใจของประชาชนต่อ ประเทศ และความเป็นคนไทยในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ กรณีศึกษาประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่าง ได้แก่ การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจาก การทำสำมะโน ขนาดตัวอย่างที่ทำการสำรวจ คือ 2,404 ตัวอย่าง ช่วงความเชื่อมั่นอยู่ในระดับร้อยละ 95 ขณะที่ขอบเขตความคลาดเคลื่อน จากการกำหนดขนาดตัวอย่างอยู่ที่ +/- ร้อยละ 5 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การ สัมภาษณ์ หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ข้อมูลและงบประมาณเป็นของมหาวิทยาลัย โดยมีคณะผู้วิจัย จำนวนทั้งสิ้น 89 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 56.3 เป็นหญิง

ร้อยละ 43.7 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 11.8 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 30.1 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 28.1 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 17.9 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 12.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 69.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือร้อยละ 28.9 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 2.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 36.0 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 21.5 ระบุอาชีพรับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 19.3 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 9.2 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 7.1 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ในขณะที่ร้อยละ 6.9 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวการเมืองผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา  ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                        72.7
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                        14.3
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                         6.4
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                                      5.3
5          ไม่ได้ติดตามเลย                                          1.3
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้สึกต่อประเทศไทยและความเป็นคนไทยในสถานการณ์เมืองในขณะนี้
ลำดับที่          ความรู้สึกต่อข้อความต่างๆ                        น้อย-ไม่รู้สึกเลย     ปานกลาง   มาก-มากที่สุด    รวมทั้งสิ้น
1          เหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ทำให้รู้สึกน่าละอาย            ค่าร้อยละ     ค่าร้อยละ      ค่าร้อยละ
           และถูกชาวต่างชาติมองว่าประเทศไทยไม่น่าอยู่                     16.1         7.4        76.5       100.0
2          ฉันยังรู้สึกกล้าพูดได้เต็มที่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแห่งรอยยิ้ม        35.4        13.3        51.3       100.0
3          โลกของเราจะน่าอยู่กว่านี้ ถ้าคนชาติอื่นๆ เป็นเหมือนกับคนไทย         36.1        16.6        47.3       100.0
4          เมื่ออยู่ในสภาวะที่เดือดร้อน ฉันรู้สึกว่าคนไทยเห็นอกเห็นใจต่อกันและกัน   39.6        13.6        46.8       100.0
5          ฉันรู้สึกว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีความสงบสุข
           และสันติมากที่สุด                                           51.0        11.7        37.3       100.0
6          ฉันรู้สึกว่า ประชาชนคนไทยในสังคมรักและเกื้อกูลกัน                 49.8        12.9        37.3       100.0
7          วันนี้ ฉันยังรู้สึกภูมิใจที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย                        11.8         6.8        81.4       100.0
8          ฉันพร้อมที่จะเป็นคนหนึ่งที่จะรักและช่วยเหลือคนอื่นๆ                   9.9        10.7        79.4       100.0

ตารางที่ 3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความภูมิใจในความเป็นไทย หากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงบานปลายต่อไป
ลำดับที่          ความภูมิใจในความเป็นไทย หากเหตุการณ์รุนแรงบานปลาย         ค่าร้อยละ
1          ยังคงภูมิใจมาก ถึง มากที่สุด                                      34.9
2          ภูมิใจน้อย ถึง ไม่มีความภูมิใจอยู่เลย                                65.1
          รวมทั้งสิ้น                                                    100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางออกของปัญหาการเมืองในขณะนี้
ลำดับที่          ทางออกของปัญหาการเมืองในขณะนี้                                ใช่ค่าร้อยละ   ไม่ใช่ค่าร้อยละ   รวมทั้งสิ้น
1          ยึดมั่นในกระบวนการยุติธรรม หลักกฎหมาย (ใครผิด ใครถูก ให้เป็นไปตามกฎหมาย)    92.3           7.7      100.0
2          จัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ มีคนกลางเป็นนายกรัฐมนตรี                              57.1          42.9      100.0
3          ยุบสภาเลือกตั้งใหม่                                                    52.0          48.0      100.0
4          พรรคร่วมรัฐบาลควรประกาศถอนตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล                      43.8          56.2      100.0
5          แก้ไขรัฐธรรมนูญ                                                      39.9          60.1      100.0

ตารางที่ 5  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ จุดยืนทางการเมืองในสถานการณ์ขณะนี้
ลำดับที่          จุดยืนทางการเมืองในสถานการณ์ขณะนี้        ค่าร้อยละ
1          สนับสนุนรัฐบาล                                26.1
2          ไม่สนับสนุนรัฐบาล                              15.5
3          ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ขออยู่ตรงกลาง              58.4
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ