เอแบคโพลล์: ความในใจของสาธารณชน อุทาหรณ์จากความขัดแย้งทางการเมืองและนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย

ข่าวผลสำรวจ Monday December 8, 2008 07:37 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความในใจของสาธารณชน อุทาหรณ์จากความขัดแย้งทางการเมือง และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย: กรณีศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด จำนวนตัวอย่างทั้งสิ้น 3,864 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3-6 ธันวาคม 2551 พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 90 ระบุ ติดตามข่าวสารประจำวันโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์

ดร.นพดล กล่าวว่า เมื่อสอบถามถึงความในใจของประชาชนที่ถูกศึกษาที่มีต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมา โดยเมื่อสอบถามถึงสิ่งที่ อยากจะบอกกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงที่ผ่านมานั้น พบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งคือ ร้อยละ 67.1 ระบุขอโทษ จากใจประชาชนคนไทยทุกคน ในขณะที่ร้อยละ 28.2 ยืนยันว่าประเทศไทยยังมีความปลอดภัย /เป็นสยามเมืองยิ้ม/คนไทยรักสันติและอยากให้กลับมา เที่ยวอีก สำหรับสิ่งที่อยากจะบอกกับนานาประเทศทั่วโลกที่เข้าใจสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยและช่วยเหลือเมื่อมีการร้องขอไปนั้น พบว่า ประมาณ 1 ใน 3 คือร้อยละ 34.5 ระบุขอบคุณสำหรับไมตรีและความช่วยเหลือที่มีให้ ร้อยละ 20.2 ระบุขอให้เชื่อมั่นในประเทศไทย/เมืองไทยยัง ยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยว/คนไทยยังรักความสงบ/เรายังเป็นเพื่อนกันเสมอ ร้อยละ 16.7 ระบุขอให้เข้าใจ และเปิดใจยอมรับในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ร้อยละ 12.0 ระบุอยากกล่าวคำขอโทษ อย่างไรก็ตามผลการสำรวจพบว่ามีประชาชนบางส่วนที่ระบุขอโอกาสให้ประเทศไทยและคนไทย/อย่าซ้ำเติม ประเทศไทย/อย่าแทรกแซงการเมืองในประเทศ/ขอให้เสนอข่าวตามความเป็นจริงอย่าบิดเบือน

สำหรับสิ่งที่อยากจะบอกกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่างๆ นั้น ดร.นพดล กล่าวว่า ร้อยละ 41.2 ระบุขอให้ยุติการชุมนุม/อย่าให้มีการชุมนุม เกิดขึ้นอีก ในขณะที่ร้อยละ 38.2 ระบุขอให้คิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก/อย่าทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย ร้อยละ 19.3 ระบุให้รู้รักสามัคคี มี สติ และให้อภัยกัน ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบสิ่งที่ประชาชนที่ถูกศึกษาอยากบอกกับบุคคลในกระบวนการยุติธรรมคือร้อยละ 62.8 ระบุ ขอให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด ร้อยละ 31.5 ระบุขอให้มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง/ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในขณะที่ร้อยละ 13.8 ระบุขอขอบคุณที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์/ขอบคุณที่ทำให้ประเทศชาติสงบ

อย่างไรก็ตาม ดร.นพดล กล่าวว่า เมื่อสอบถามถึงสิ่งที่อยากบอกกับกลุ่มนักการเมืองนั้น พบว่า ร้อยละ 30.2 ระบุให้นักการเมืองเลิก ทุจริตคอรัปชั่น ร้อยละ 28.3 ระบุขอให้รักประเทศอย่างจริงจัง และตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติทดแทนคุณแผ่นดินเสียที ร้อยละ 23.5 ระบุเลิก เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง และร้อยละ 22.2 ระบุขอให้มีคุณธรรม จริยธรม และขอให้ละอายต่อบาป ในขณะที่เมื่อสอบถามถึงสิ่งที่อยากจะ บอกกับหน่วยงานด้านความมั่นคงนั้น พบว่า ร้อยละ 52.6 ระบุขอให้จงรักภักดีและปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม และเป็นกลางโดยยึดประโยชน์ของ ประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ร้อยละ 31.8 ระบุให้ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและความปลอดภัยของประชาชน/รักษาความมั่นคงของประเทศชาติให้ ได้ และร้อยละ 17.0 ขอให้อดทน เข้มแข็ง เสียสละ กล้าตัดสินใจ มีสติ และยึดมั่นในความถูกต้อง ตามลำดับ

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า เมื่อสอบถามถึงความสุขต่อสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศภายหลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรค การเมืองต่างๆ นั้น ประชาชนประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 64.7 ระบุมีความสุขเหมือนเดิม-มีความสุขมากขึ้น ในขณะที่ร้อยละ 26.5 ระบุไม่มีความ สุขเหมือนเดิม และร้อยละ 8.8 ระบุมีความสุขน้อยลง

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่โดยพิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละบุคคลใน การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นพบว่า ร้อยละ 50.7 ระบุนายอานันท์ ปันยารชุน มีความเหมาะสม ซึ่งเป็นผลสำรวจที่แตกต่างจากมุมมองของเด็ก และเยาวชน เมื่อครั้งที่ผ่านมาและอาจเป็นเพราะสังคมไทยกำลังมองหาคนที่เป็นกลางทางการเมืองเข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งในขณะนี้ ส่วนในอันดับที่สองหรือร้อยละ 38.9 ระบุ ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ มีความเหมาะสม อันดับที่สามหรือร้อยละ 34.7 ระบุนายอภิสิทธิ์ เวชชา ชีวะ มีความเหมาะสม และรองๆ ลงมาคือร้อยละ 29.7 ระบุนายเตช บุนนาค (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ) มีความเหมาะสม และ ร้อยละ 29.5 ระบุนายชวน หลีกภัย มีความเหมาะสม (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ)

เมื่อถามว่า อยากได้นายกรัฐมนตรีแบบไหนมากกว่ากัน ถ้าเลือกได้ คือ เก่งในการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจมากกว่า เก่งเรื่องแก้ปัญหา การเมืองมากกว่า หรือเก่งเรื่องแก้ปัญหาสังคมมากกว่า ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.4 ระบุต้องการนายกรัฐมนตรีที่เก่งในการแก้ปัญหา เรื่องเศรษฐกิจปากท้องมากกว่าเรื่องอื่น ในขณะที่ร้อยละ 15.1 ระบุต้องการนายกรัฐมนตรีที่เก่งเรื่องแก้ปัญหาสังคมมากกว่า และร้อยละ 10.5 ระบุ ต้องการนายกรัฐมนตรีที่เก่งเรื่องแก้ปัญหาการเมืองมากกว่า ตามลำดับ

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือเมื่อสอบถามถึงทางออกของปัญหาการเมืองในขณะนี้นั้นพบว่า ร้อยละ 26.2 ระบุยุบสภา คืนอำนาจให้ ประชาชน และเลือกตั้งใหม่ ในขณะที่ร้อยละ 20.3 ระบุเร่งส่งเสริมความสามัคคีในกลุ่มประชาชน และร้อยละ 17.5 ระบุทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาพูดคุย กันด้วยเหตุผล/ร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติ เป็นต้น

ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ความรู้สึกนึกคิดของประชาชนต่อเรื่องความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองยังคงมีอยู่ เพียง แต่ลดระดับความร้อนแรงลงไป เพราะ เมื่อวิเคราะห์ทางสถิติเรื่องความสุขหลังคดียุบพรรค พบว่า คนโดยส่วนใหญ่ที่มีความสุขเป็นกลุ่มคนไม่สนับสนุน รัฐบาล และกลุ่มที่อยู่ตรงกลางหรือพลังเงียบ แต่กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลส่วนใหญ่มีความสุขลดลง ความร้อนแรงของความขัดแย้งจึงเหมือนกับความคุกรุ่นอยู่ ภายใน จึงยังจำเป็นต้องหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศไทยต่อไป ไม่น่าจะเป็นการย้ายฝั่งสลับขั้วโดยฝ่ายการเมือง เพียงอย่างเดียว ทางออกที่น่าพิจารณามีอยู่อย่างน้อยสามทางคือ หนึ่ง “โมเดลแห่งการปันอำนาจรัฐ” ให้ทุกฝ่ายการเมืองมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการปัญหาของประเทศ ทางที่สองคือ ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีหากเกิดการย้ายขั้วสลับข้างทางการเมืองต้องสามารถเชื่อมประสานทุกกลุ่มการเมือง และให้สาธารณชนมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายกันอีก และอีกทางหนึ่งคือ การยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งใหม่ แต่ ก่อนเลือกตั้งใหม่จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์แห่งการปรับเจตคติและพฤติกรรมแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง และการโกงการเลือกตั้งในกลุ่มเจ้าหน้าที่ของ รัฐเสียก่อน

ผ.อ.เอแบคโพลล์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าจะทำให้คนไทยส่วนใหญ่ไตร่ตรองดูคือ การออกมาเคลื่อนไหวให้เห็นว่า สังคมไทยและโลกของเรา ไม่ได้มีเพียงสองสี คือสีเหลืองและสีแดงเท่านั้น แต่สังคมไทยยังมีหลากหลายสีที่จะทำให้เราได้พบกับความดีความงามในสังคมไทยเหมือนในอดีตที่เคยมี ความรักความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และบรรดาผู้อาวุโสในสังคมช่วยประคับประคองให้คนในสังคมประพฤติปฏิบัติอยู่ในครรลองคลองธรรมและ กฎหมาย และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่จึงต้องระวังอย่ามีอคติและอย่ามองแบบเหมารวม (Stereotype) ไปว่า สีเหลืองเป็นสีของ กลุ่มพันธมิตรฯ และสีแดงเป็นสีของ นปก. และ นปช. ตรงกันข้าม สีเหลืองยังสามารถเป็นสีแห่งสัญลักษณ์ของความจงรักภักดี และสีแดงยังสามารถมอง ได้ว่าเป็นความรักชาติที่เข้มข้นของบรรพบุรุษที่เคยยอมเสียสละชีวิตในการรักษาพื้นแผ่นดินไทยนี้ไว้ ดังนั้น ประชาชนในสังคมไทยน่าช่วยกันสร้าง “สังคม แห่งความหลากหลายสี” เพื่อเข้าถึง “ความจริงและความดีความงามแห่งความสงบสุขสันติ” ได้มากกว่าความพยายามของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างว่า รักชาติและระบอบประชาธิปไตย โดยซ่อนผลประโยชน์แห่งอำนาจของตนเองและพวกพ้องเอาไว้เบื้องหลัง

รายละเอียดงานวิจัย

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน

2. เพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่

3. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการสำรวจภาคสนามของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในครั้งนี้เรื่อง ความในใจของสาธารณชน อุทาหรณ์จาก ความขัดแย้งทางการเมือง และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทย: กรณีศึกษาประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด เทคนิควิธีการสุ่ม ตัวอย่าง ได้แก่ การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะ โน ขนาดตัวอย่างที่ทำการสำรวจ คือ 3,864 ตัวอย่าง ช่วงความเชื่อมั่นอยู่ในระดับ ร้อยละ 95 ขณะที่ขอบเขตความคลาดเคลื่อนจากการ กำหนดขนาดตัวอย่างอยู่ที่ +/- ร้อยละ 5 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสัมภาษณ์ หลัง จากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ข้อมูลและงบประมาณเป็นของมหาวิทยาลัย โดยมีคณะผู้ วิจัย จำนวนทั้งสิ้น 117 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไป

ของตัวอย่าง ร้อยละ 54.1 เป็นเพศหญิง

ร้อยละ 45.9 เป็นเพศชาย

ร้อยละ 9.0 ระบุอายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 26.9 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 27.7 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และ ร้อยละ 14.7อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 71.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือร้อยละ 26.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 2.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 9.5 อาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 16.1 เป็นพนักงานเอกชน/ลูกจ้างเอกชน

ร้อยละ 39.6 มีธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ/ค้าขาย

ร้อยละ 26.0 เกษตรกร/รับจ้างใช้แรงงาน

ร้อยละ 6.8 เป็นพ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 2.0 ระบุว่างงาน/ไม่มีรายได้/ไม่ประกอบอาชีพ/ตกงาน

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวประจำวันโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์
ลำดับที่          การติดตามข่าวประจำวันโดยเฉลี่ยต่อสัปดาห์          ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                  66.3
2          3-4 วัน/สัปดาห์                                   17.8
3          1-2 วัน/สัปดาห์                                    7.8
4          น้อยกว่า 1 วัน/สัปดาห์                               6.6
5          ไม่ได้ติดตาม                                       1.5
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 2  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสิ่งที่อยากจะบอกกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ได้รับความเดือดร้อน

และผลกระทบจากกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่          สิ่งที่อยากจะบอกกับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนและผลกระทบจากการชุมนุมประท้วงต่างๆ   ค่าร้อยละ
1          ขอโทษจากใจประชาชนคนไทยทุกคน                                                               67.1
2          ยืนยันว่าประเทศไทยยังมีความปลอดภัย  /เป็นสยามเมืองยิ้ม/คนไทยรักสันติและอยากให้กลับมาเที่ยวอีก              28.2
3          อยากให้มองว่าเป็นเรื่องปกติ สำหรับการปกครองแบบประชาธิปไตย                                         8.7
4          อยากให้เข้าใจถึงเหตุผลที่มีการชุมนุม                                                               7.7
5          อื่นๆ อาทิ  ปัญหาต่างๆจะสามารถคลี่คลายได้/เป็นเหตุสุดวิสัย/เราจะดูแลท่านเป็นอย่างดี                         6.4

ตารางที่ 3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสิ่งที่อยากจะพูดกับนานาประเทศทั่วโลกที่เข้าใจสถานการณ์การเมืองในประเทศ

ไทยและช่วยเหลือเมื่อประเทศไทยร้องขอไป (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)

ลำดับที่          สิ่งที่อยากจะพูดกับนานาประเทศทั่วโลกที่เข้าใจสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยและช่วยเหลือ -            ค่าร้อยละ

เมื่อประเทศไทยร้องขอไป

1          ขอบคุณสำหรับไมตรีและความช่วยเหลือที่มีให้                                                         34.5
2          ขอให้เชื่อมั่นในประเทศไทย/เมืองไทยยังยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยว/คนไทยยังรักความสงบ/เรายังเป็นเพื่อนกันเสมอ      20.2
3          ขอให้เข้าใจ และเปิดใจยอมรับในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น                                                   16.7
4          ขอโทษ                                                                                    12.0
5          ขอให้มองประเทศไทยโดยภาพรวม/เป็นเรื่องปกติของประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย/
           คนไทยมีอิสระทางความคิด                                                                       9.9
6          ขอโอกาสให้ประเทศไทยและคนไทย/อย่าซ้ำเติมประเทศไทย/อย่าแทรกแซงการเมืองในประเทศ/
           ขอให้เสนอข่าวตามความเป็นจริงอย่าบิดเบือน                                                        14.8

ตารางที่ 4   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สิ่งที่อยากจะพูดกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงต่างๆ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ความคิดเห็นของตัวอย่าง                                                               ค่าร้อยละ
1          ขอให้ยุติการชุมนุม/อย่าให้มีการชุมนุมเกิดขึ้นอีก                                                      41.2
2          ขอให้คิดถึงประเทศชาติเป็นหลัก/อย่าทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย                                  38.2
3          ให้รู้รักสามัคคี มีสติ และให้อภัยกัน                                                               19.3
4          ขอให้ชุมนุมอย่างสงบ/ไม่ใช้ความรุนแรง และอยู่ในกรอบของกฎหมาย                                      17.2
5          อื่นๆ อาทิ รู้สึกเห็นใจผู้ชุมนุมที่ต้องมาลำบาก/ขอให้ศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วนก่อน/ขอให้สู้ต่อไป/ถ้าจะชุมนุม
           อย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน                                                                   13.4

ตารางที่  5  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสิ่งที่อยากจะพูดกับบุคคลในกระบวนการยุติธรรม (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่อยากจะพูดกับบุคคลในกระบวนการยุติธรรม                                               ค่าร้อยละ
1          ขอให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด                                          62.8
2          ขอให้มีความเป็นกลางอย่างแท้จริง/ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา                                          31.5
3          ขอขอบคุณที่ทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์/ขอบคุณที่ทำให้ประเทศชาติสงบ                                        13.8
4          อย่าให้มีอำนาจใดมาอยู่เหนือความถูกต้อง/อย่างเกรงกลัวอิทธิพลของใคร/อย่าตกเป็นเครื่องมือของใคร              9.8
5          อื่นๆ อาทิ ประชาชนเข้าใจดี/ขอให้สามัคคีกันตลอดไป                                                  3.3

ตารางที่ 6   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสิ่งที่อยากจะพูดกับกลุ่มนักการเมือง (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่อยากจะพูดกับกลุ่มนักการเมือง                                                        ค่าร้อยละ
1          เลิกทุจริตคอรัปชั่น                                                                           30.2
2          ขอให้รักประเทศอย่างจริงจัง และตั้งใจทำงานเพื่อประเทศชาติทดแทนคุณแผ่นดินเสียที                          28.3
3          เลิกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง                                                           23.5
4          ขอให้มีคุณธรรม จริยธรม และขอให้ละอายต่อบาป                                                    22.2
5          อื่นๆ อาทิ ขอให้สามัคคีกัน/เลิกแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน/ให้อภัยกัน/เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน               17.1

ตารางที่  7  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สิ่งที่อยากจะพูดกับหน่วยงานด้านความมั่นคง (ตอบได้มากกว่า 1ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่อยากจะพูดกับหน่วยงานด้านความมั่นคง                                                  ค่าร้อยละ
1          ขอให้จงรักภักดีและปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงธรรม และเป็นกลางโดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง            52.6
2          ให้ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและความปลอดภัยของประชาชน/รักษาความมั่นคงของประเทศชาติให้ได้      31.8
3          ขอให้อดทน  เข้มแข็ง เสียสละ กล้าตัดสินใจ มีสติ และยึดมั่นในความถูกต้อง                               17.0
4          ให้นำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษโดยเร็ว                                                         9.4
5          อื่นๆ อาทิ ขอให้อยู่ในที่ตั้ง/อย่าออกมายึดอำนาจ/ขอให้ทบทวนบทบาทที่ทำมา                                 3.8

ตารางที่  8  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความสุขต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศภายหลังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ตัดสินยุบพรรคการเมืองต่างๆ

ลำดับที่          ความสุขต่อสถานการณ์การเมืองของประเทศภายหลังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคการเมืองต่างๆ  ค่าร้อยละ
1          มีความสุขเพิ่มสูงขึ้น                                                                         26.0
2          มีความสุขเหมือนเดิม                                                                        38.7
3          ไม่มีความสุขเหมือนเดิม                                                                      26.5
4          มีความสุขน้อยลง                                                                            8.8
          รวมทั้งสิ้น                                                                                100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเหมาะสมของบุคคลต่างๆ ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ลำดับที่          ความเหมาะสมของบุคคลต่างๆ ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี    เหมาะสม     ไม่เหมาะสม     รวมทั้งสิ้น
1          นายอานันท์  ปันยารชุน                                        50.7          49.3       100.0
2          ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์                                    38.9          61.1       100.0
3          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ                                        34.7          65.3       100.0
4          นายเตช  บุนนาค (อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ)           29.7          70.3       100.0
5          นายชวน หลีกภัย                                             29.5          70.5       100.0
6          พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา                                       23.5          76.5       100.0
7          พล.อ.เชษฐา  ฐานะจาโร                                     21.0          79.0       100.0
8          นายมิ่งขวัญ  แสงสุวรรณ                                       20.9          79.1       100.0
9          นายพลากร  สุวรรณรัตน์                                       12.2          87.8       100.0
10          ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง                                       12.1          87.9       100.0
11          นายชัย  ชิดชอบ                                            10.2          89.8       100.0

ตารางที่ 10   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อคุณสมบัติที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อคุณสมบัติที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีคนใหม่             ค่าร้อยละ
1          นายกรัฐมนตรีต้องเก่งในการแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจปากท้องมากกว่า          74.4
2          เก่งในการแก้ปัญหาสังคมมากกว่า                                    15.1
3          เก่งการแก้ปัญหาการเมืองมากกว่า                                   10.5
          รวมทั้งสิ้น                                                     100.0

ตารางที่ 11   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางออกของปัญหาการเมืองในขณะนี้  (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ทางออกของปัญหาการเมืองในขณะนี้                            ค่าร้อยละ
1          ยุบสภา คืนอำนาจให้ประชาชน และเลือกตั้งใหม่                         26.2
2          เร่งส่งเสริมความสามัคคีในกลุ่มประชาชน                              20.3
3          ทุกฝ่ายหันหน้าเข้ามาพูดคุยกันด้วยเหตุผล/ร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติ           17.5
4          ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ/ให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารประเทศ          12.2
5          ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ                                      5.0
6          เคารพและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด                             3.9
7          อื่นๆ อาทิ ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตย/เปลี่ยนขั้วการเมือง/การเมืองใหม่/
           ยุติการชุมนุมประท้วง/ห้ามทหารเข้ามามีบทบาทมากกว่านี้                   20.3

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ