เอแบคโพลล์: สภาพแวดล้อมเสี่ยงปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม กับความพึงพอใจของประชาชนต่อรัฐบาลฯ

ข่าวผลสำรวจ Wednesday March 25, 2009 12:38 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามระดับครัวเรือน เรื่อง สภาพ แวดล้อมเสี่ยงปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม กับความพึงพอใจของประชาชนต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่นในการแก้ปัญหายาเสพติดของ ชุมชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ตาก ลำปาง เชียงราย อ่างทอง สระแก้ว พระนครศรี อยุธยา นครปฐม สมุทรปราการ หนองบัวลำภู มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครราชสีมา ภูเก็ต ตรัง และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,067 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 21 — 24 มีนาคม 2552 ประเด็นสำคัญที่ค้นพบมีดังต่อไปนี้

เมื่อสอบถามถึงสภาพแวดล้อมเสี่ยงปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมในรัศมี 300 เมตรจากที่พักอาศัย พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วน ใหญ่หรือร้อยละ 66.8 ระบุมีคนดื่มเหล้าเมาเป็นประจำ รองลงมาคือ ร้อยละ 59.7 ระบุบ้านเรือนติดเหล็กดัด ร้อยละ 43.2 มีคนใช้สารเสพติด ร้อย ละ 41.2 มีการจับกลุ่มมั่วสุมของวัยรุ่น ร้อยละ 35.2 มีบ้านพักอาศัยถูกทิ้งรกร้างว่างเปล่า ร้อยละ 32.1 ระบุมีขยะปล่อยทิ้งไว้ ร้อยละ 29.3 ระบุมี แกงค์กลุ่มก่อความเดือดร้อนรำคาญ ร้อยละ 28.6 มีร่องรอยทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ร้อยละ 24.6 ไม่มีการทำความสะอาดบริเวณที่พักอาศัย และ ร้อยละ 24.4 มีการพ่นสีสเปรย์บนผนังกำแพงที่สาธารณะ ตามลำดับ

เมื่อวิเคราะห์ค่าอิทธิพลทางสถิติวิจัยของสภาพแวดล้อมเสี่ยงในรัศมี 300 เมตรจากที่พักอาศัย กับการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดของ ประชาชน พบว่า กลุ่มประชาชนที่พักอาศัยในสภาพแวดล้อมเสี่ยงปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติดสูงเกือบ 4 เท่า หรือ 3.613 เท่ามากกว่ากลุ่มประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมเสี่ยง

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ผลวิจัยพบว่า กลุ่มคนที่ไม่ใช่ญาติแต่มาพักอาศัยในบ้านเดียวกันมีค่าร้อยละของคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเสพติด หลายตัวยา มากกว่า กลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติและคนในครอบครัวเดียวกัน เช่น ร้อยละ 66.8 ของคนที่ไม่ใช่ญาติ ดื่มเหล้า ในขณะที่ ร้อย ละ 50.5 และร้อยละ 53.8 ของคนที่เป็นเครือญาติและคนในครอบครัวเดียวกันที่เป็น พ่อแม่ลูก พี่น้อง ตามลำดับ ที่ดื่มเหล้า

ที่น่าเป็นห่วงคือ ร้อยละ 13.3 ของคนที่ไม่ใช่ญาติแต่มาอยู่ในบ้านเดียวกัน เสพกัญชา ในขณะที่ร้อยละ 7.4 และ ร้อยละ 8.3 ของคนที่ เป็นเครือญาติและคนในครอบครัวเดียวกัน ตามลำดับที่เสพกัญชา นอกจากนี้ ร้อยละ 8.2 ของคนที่ไม่ใช่ญาติแต่มาอยู่ในบ้านเดียวกัน เสพยาบ้า ในขณะ ที่ ร้อยละ 6.1 และร้อยละ 4.9 ของคนที่เป็นเครือญาติและคนในครอบครัวเดียวกัน ตามลำดับ ที่เสพยาบ้า สำหรับยาเสพติดรองๆ ลงไปคือ กระท่อม สารระเหย ยาไอซ์ และผงขาวหรือเฮโรอีน ตามลำดับ

          เมื่อสอบถามถึงการรับทราบข่าวที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ได้มอบนโยบายความมั่นคงและนโยบาย        ยาเสพติด ในวัน
ที่ 18 มีนาคม ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.9 ไม่ทราบข่าว ในขณะที่ร้อยละ 35.1 ทราบข่าว

ที่น่าพิจารณาคือ การจัดอันดับผลงานและแนวทางการทำงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐในเรื่องปัญหายาเสพติดที่ประชาชนพึงพอใจ พบว่า อันดับ แรก หรือร้อยละ 66.2 พอใจต่อผู้บัญชาการทหารบกเข้มงวดพื้นที่ชายแดน 8 จังหวัด 18 อำเภอสกัดกั้นยาเสพติด รองลงมาคือ ร้อยละ 65.4 พอใจ ต่อกรณีศาลฎีกาพิพากษาผู้ค้ายาเสพติด 4 ราย นอกจากนี้ ร้อยละ 65.0 พอใจต่อตำรวจทางหลวงประกาศคุมเข้มยาเสพติดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ร้อย ละ 63.8 พอใจต่อ ดีเอสไอ จับกุมนักค้า ยาเสพติดเครือข่ายขุนส่า ยึดทรัพย์กว่า 117 ล้านบาท ร้อยละ 62.9 พอใจต่อตำรวจภูธรภาค 1 วิสามัญ พ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ ร้อยละ 62.3 พอใจต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานงานประเทศกัมพูชาแก้ปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน ร้อยละ 60.3 พอใจต่อกองทัพบก ประสาน 3 เหล่าทัพและทุกภาคส่วนแก้ปัญหายาเสพติด และร้อยละ 58.4 พอใจต่อตำรวจชายแดน ทหาร จ.แม่ฮ่องสอนจับ กุมยาเสพติดได้ของกลางยาบ้า กว่า 1 แสนเม็ด ตามลำดับ

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาพอใจต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหายาเสพติดมากกว่าหน่วยงานของรัฐในระดับท้องถิ่นทุก ด้าน ได้แก่ ด้านการปราบปราม ประชาชนร้อยละ 60.6 พอใจรัฐบาล ในขณะที่ ร้อยละ 49.7 พอใจหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น ด้านการป้องกันปัญหา ยาเสพติด ประชาชนร้อยละ 60.2 พอใจรัฐบาล ในขณะที่ ร้อยละ 49.2 พอใจหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น และด้านการบำบัดฟื้นฟูให้ผู้เสพยาเสพติดเป็น คนดี คืนสู่สังคม ประชาชนร้อยละ 58.7 พอใจรัฐบาล ในขณะที่ ร้อยละ 51.5 พอใจหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น

อย่างไรก็ตาม ประชาชนร้อยละ 39.0 ไม่คิดว่าโครงการ “เท่ห์ดีไม่ต้องมียาเสพติด” จะสำเร็จในการแก้ปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชน แต่ก็สนับสนุนให้ทำโครงการนี้ และร้อยละ 2.7 ไม่คิดว่าโครงการนี้จะสำเร็จและไม่สนับสนุนให้ทำ ในขณะที่ ร้อยละ 35.6 คิดว่าโครงการนี้จะสำเร็จ ได้ตามเป้าหมาย และที่เหลือร้อยละ 22.7 ไม่มีความเห็น

ดร.นพดล กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า มีสิ่งที่ฝ่ายบ้านเมืองต้องเร่งพิจารณาหลายประการได้แก่ ประการแรก สภาพแวดล้อมทาง กายภาพที่เสี่ยงต่อปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมมีส่วนทำให้ประชาชนที่พักอาศัยในสภาพแวดล้อมนั้นมีโอกาสสูงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้ยาเสพติด ประการที่สอง ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับรู้เกี่ยวกับนโยบายแก้ปัญหายาเสพติดที่นายกรัฐมนตรีมอบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ในเรื่องของรั้วชายแดน รั้วสังคม รั้วชุมชน รั้วโรงเรียน และรั้วครอบครัว เมื่อสาธารณชนส่วนใหญ่ไม่รับทราบแนวทางที่ชัดเจนของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเรื่อง “รั้วทั้งห้า” และจะให้ ประชาชนก้าวออกมาสร้าง “รั้ว” เหล่านั้นได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลมีนโยบายให้สร้างรั้วต่างๆ แต่ขณะนี้ยาเสพติดกลับมาแพร่ระบาดในรั้ว ต่างๆ อย่างแพร่หลายแล้ว นโยบายและยุทธศาสตร์สร้างรั้วอาจเป็นนโยบายที่จะทำให้เจ้าหน้าที่รัฐและทุกภาคส่วนเดินผิดทางได้ เพราะผลวิจัยครั้งนี้พบ ว่า ยาเสพติดแพร่เข้าไปครอบครัวแล้วผ่านทางกลุ่มคนในครอบครัว กลุ่มคนที่เป็นเครือญาติ และกลุ่มคนที่ไม่ใช่ญาติแต่เข้ามาพักอาศัยในรั้วเดียวกันเรียบ ร้อยแล้ว คำถามตามมาคือ “รั้ว” ดังกล่าวจะป้องกันไม่ให้ยาเสพติดเข้า หรือป้องกันไม่ให้ยาเสพติดออกไปจากสังคมไทย รัฐบาลจึงต้องเร่งทบทวน นโยบายสาธารณะและยุทธศาสตร์เหล่านี้โดยเร็ว

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ประการที่สาม ความพอใจของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลและต่อหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน คือความ พอใจของประชาชนต่อหน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่นในชุมชนมีสัดส่วนน้อยกว่า จึงมองได้ว่า มีช่องว่างของการแก้ปัญหายาเสพติดเกิดขึ้น ความพอใจของ ประชาชนต่อรัฐบาลจึงอาจกลายเป็นเพียง “ภาพลวงตา” ไม่ใช่ของจริงได้ ผลที่ตามมาคือ นโยบายแก้ปัญหายาเสพติดที่นายกรัฐมนตรีมอบไปจะไม่ สามารถแก้ไขความทุกข์ของประชาชนได้อย่างยั่งยืน

“ทางออกที่น่าพิจารณามีสามแนวทาง คือ แนวทางแรก ต้องมุ่งเน้นไปที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยอาศัยการรวมตัวกันของภาค ประชาชนมาเป็นเจ้าภาพร่วม เพราะในนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ประกาศไปพบว่า กรรมการแต่ละชุดมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเจ้าภาพ ไม่มีคณะกรรมการ ของภาคประชาชนเลย แนวทางที่สองคือ นายกรัฐมนตรีน่าจะจัดตั้งคณะทำงานติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานของกรรมการชุดต่างๆ โดยอิสระ เพราะ หากปล่อยให้กรรมการผู้ปฏิบัติแต่ละชุดติดตามการทำงานของตนเองอาจไม่ได้ข้อมูลที่เป็นจริง และแนวทางที่สามคือ กลไกต่างๆ ของการแก้ปัญหายาเสพ ติดที่รัฐบาลทักษิณได้วางระบบไว้น่าจะนำมาเป็นต้นแบบสำคัญในเรื่องความเอาจริงเอาจังและต่อเนื่อง ปรับแก้บางส่วน เช่น ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูต้องได้ รับการติดต่อให้มารายงานตัวเป็นระยะๆ ประมาณสามถึงสี่ปี ไม่ใช่เพียงสองหรือสามเดือนเท่านั้น เป็นต้น” ผอ.เอแบคโพลล์กล่าว

รายละเอียดงานวิจัย

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมเสี่ยงปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม กับพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดในระดับครัวเรือน

2. เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการวิจัยเชิงสำรวจภาคสนามระดับครัวเรือนของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในครั้งนี้เรื่อง สภาพแวดล้อมเสี่ยง ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม กับความพึงพอใจของประชาชนต่อรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐระดับท้องถิ่นในการแก้ปัญหายาเสพติดของชุมชน กรณี ศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ตาก ลำปาง เชียงราย อ่างทอง สระแก้ว พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรปราการ หนองบัวลำภู มหาสารคาม สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี นครราชสีมา ภูเก็ต ตรัง และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,067 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 21 — 24 มีนาคม 2552 กลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่าง ได้แก่ การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน ช่วงความเชื่อมั่น อยู่ในระดับร้อยละ 95 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสัมภาษณ์ หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ข้อมูลและงบประมาณเป็นของมหาวิทยาลัย มีคณะผู้วิจัย จำนวนทั้งสิ้น 89 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 54.6 เป็นหญิง

ร้อยละ 35.4 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 8.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 15.6 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 16.5 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 38.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 70.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือร้อยละ 26.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 3.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 30.9 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 25.5 . ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 17.7 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 11.5 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 5.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 6.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ในขณะที่ร้อยละ 1.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดง 10 อันดับตัวชี้วัดสภาพแวดล้อมเสี่ยงปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมในรัศมี 300 เมตรจากที่พักอาศัย
ลำดับที่          ตัวชี้วัดสภาพแวดล้อมเสี่ยงปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมในรัศมี 300 เมตรจากที่พักอาศัย          ค่าร้อยละ
1          มีคนดื่มเหล้าเมาเป็นประจำ                                                            66.8
2          บ้านเรือนติดเหล็กดัด                                                                 59.7
3          มีคนใช้สารเสพติด                                                                   43.2
4          มีการจับกลุ่มมั่วสุมของวัยรุ่น                                                            41.2
5          มีบ้านพักอาศัยถูกทิ้งร้างว่างเปล่า                                                        35.2
6          มีขยะปล่อยทิ้งไว้                                                                    32.1
7          มีแกงค์กลุ่มก่อความเดือดร้อนรำคาญ                                                      29.3
8          มีร่องรอยทำลายทรัพย์สินสาธารณะ                                                       28.6
9          ไม่มีการทำความสะอาดบริเวณที่พักอาศัย                                                   24.6
10          มีการพ่นสีสเปรย์บนนผนังกำแพงที่สาธารณะ                                                24.4

ตารางที่ 2 แสดงค่าอิทธิพลของสภาพแวดล้อมเสี่ยงในรัศมี 300 เมตรจากที่พักอาศัย กับการเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดของประชาชน
ลำดับที่          สภาพแวดล้อมในรัศมี 300 เมตรจากที่พักอาศัยของประชาชน    Odds Ratio(95% C I )   ค่านัยสำคัญP-value
1          เสี่ยงต่อปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม                              3.613               0.000
2          ไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมเสี่ยง                                       อ้างอิง               0.000

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับสารเสพติดชนิดต่างๆ ในระดับครัวเรือน
ลำดับที่          สารเสพติดชนิดต่างๆ     คนในครอบครัว(พ่อแม่ลูก พี่น้อง)    ญาติในบ้านเดียวกัน       ไม่ใช่ญาติแต่พักอยู่ด้วยกัน
1          เหล้า                              53.8                   50.5                   66.8
2          กัญชา                               8.3                    7.4                   13.3
3          ยาบ้า                               4.9                    6.1                    8.2
4          กระท่อม                             4.1                    3.7                    3.1
5          สารระเหย                           1.5                    0.9                    4.2
6          ไอซ์                                3.1                    2.8                    2.2
7          เฮโรอีน                             1.2                    0.3                    0.7

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การรับรู้/รับทราบข่าวการมอบนโยบายความมั่นคงและยาเสพติดโดยนายกรัฐมนตรี
ลำดับที่          การรับทราบข่าวการมอบนโยบายความมั่นคง และนโยบายยาเสพติด โดยนายกรัฐมนตรี       ค่าร้อยละ
1          ทราบข่าว                                                                      35.1
2          ไม่ทราบข่าว                                                                    64.9
          รวมทั้งสิ้น                                                                      100.0

ตารางที่ 5 แสดงอันดับค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความพึงพอใจต่อการดำเนินงานและผลงานของหน่วยงานต่างๆ ด้านยาเสพติดในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          ผลงานของหน่วยงานต่างๆ ด้านยาเสพติดในช่วง 30 วันที่ผ่านมา                    ค่าร้อยละ
1          ผู้บัญชาการทหารบกเข้มงวดพื้นที่ชายแดน 8 จังหวัด 18 อำเภอ สกัดกั้นยาเสพติด             66.2
2          ศาลฎีกาพิพากษาประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติด 4 ราย และจำคุก 25 ปี 1 ราย                65.4
3          ตำรวจทางหลวงประกาศคุมเข้มยาเสพติดช่วงเทศกาลสงกรานต์                          65.0
4          ดีเอสไอ จับกุมนักค้ายาเสพติดเครือข่ายขุนส่า ยึดทรัพย์กว่า 117 ล้านบาท                  63.8
5          ตำรวจภูธรภาค 1 วิสามัญพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่                                    62.9
6          สำนักงานตำรวจแห่งชาติประสานงานประเทศกัมพูชาแก้ปัญหายาเสพติดแนวชายแดน            62.3
7          กองทัพบก ประสาน 3 เหล่าทัพ และทุกภาคส่วนแก้ปัญหายาเสพติด                        60.3
8          ตำรวจชายแดน ทหาร จ.แม่ฮ่องสอนจับกุมยาเสพติดได้ของกลางยาบ้านกว่า 1 แสนเม็ด        58.4

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความพอใจต่อรัฐบาลและหน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่นในการแก้ปัญหายาเสพติด
ลำดับที่          การแก้ปัญหายาเสพติดด้านต่างๆ           รัฐบาลได้ร้อยละ        หน่วยงานรัฐระดับท้องถิ่น
1          การปราบปรามยาเสพติด                        60.6                    49.7
2          การป้องกันปัญหายาเสพติด                       60.2                    49.2
3          การบำบัดฟื้นฟูให้ผู้เสพยาเสพติดเป็นคนดี คืนสู่สังคม     58.7                    51.5

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อโครงการ “เท่ห์ดีไม่ต้องมียาเสพติด” แก้ปัญหายาเสพติดในกลุ่มเยาวชน
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อโครงการ  “เท่ห์ดีไม่ต้องมียาเสพติด”       ค่าร้อยละ
1          เชื่อว่าโครงการนี้จะสำเร็จได้ตามเป้าหมาย                    35.6
2          ไม่คิดว่าโครงการนี้จะสำเร็จ แต่ก็สนับสนุนให้ทำ                 39.0
3          ไม่คิดว่าโครงการนี้จะสำเร็จและไม่สนับสนุน                     2.7
4          ไม่มีความเห็น                                          22.7
          รวมทั้งสิ้น                                             100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ