เอแบคโพลล์: ประสบการณ์และความรู้สึกของประชาชนต่อ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์

ข่าวผลสำรวจ Tuesday April 7, 2009 07:36 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง ประสบการณ์และความรู้สึกของ ประชาชนต่อ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ กรณีศึกษาประชาชนอายุ 12 — 60 ปีใน 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่ สุโขทัย ราชบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา จำนวนตัวอย่าง ทั้งสิ้น 2,228 คน โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึง 4 เมษายน 2552 ผลการสำรวจพบว่า

ประชาชนประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 49.7 เคยพบเห็นอุบัติเหตุด้วยตนเองบนท้องถนนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ร้อยละ 50.3 ไม่เคยพบเห็น นอกจากนี้ ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความเพียงพอของข้อมูลชื่อถนนและรายละเอียดอื่นๆ ที่จะอธิบายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยกู้ภัย สามารถเดินทางมายังจุดเกิดเหตุได้ทันที ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 61.5 ระบุยังไม่เพียงพอ ในขณะที่ร้อยละ 38.5 ระบุมีข้อมูลมาก เพียงพอแล้ว

ที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อถามถึงความเพียงพอของการมีสัญญาณเตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้าในยามค่ำคืนบริเวณก่อสร้าง ซ่อมแซมถนน และจุดเกิด อุบัติเหตุบ่อย พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.9 ระบุยังไม่เพียงพอ ในขณะที่ร้อยละ 32.1 มีสัญญาณเตือนผู้ขับขี่ยามค่ำคืนเพียงพอแล้ว

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือหรือติดต่อแจ้ง เหตุ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ได้รับความพึงพอใจตอบรับบริการประชาชนได้ดีที่สุดเมื่อมีการแจ้งเหตุหรือร้องขอความช่วย เหลือคือ เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย ได้ 7.21 คะแนน รองลงมา ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจผ่านทางเบอร์โทร 191 ได้ 6.11คะแนนในขณะที่ เจ้าหน้าที่ ตำรวจท้องที่ได้ 5.60 คะแนน และเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงได้ 5.38 คะแนน

นอกจากนี้ ประชาชนจำนวนมากประมาณ 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25.0 เคยถูกตำรวจเรียกเก็บเงินจากการตั้งด่าน โดยไม่เขียนใบสั่ง และร้อยละ 75.0 ไม่เคยถูกเรียก

รายละเอียดงานวิจัย

วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการวิจัย
          1.          เพื่อสำรวจประสบการณ์และความรู้สึกของประชาชนต่อ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและ
ทรัพย์สินบนท้องถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์
          2.          เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งต่อไป

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการสำรวจภาคสนามของของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในครั้งนี้เรื่อง ประสบการณ์และความรู้สึกของประชาชน ต่อ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินบนท้องถนน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ กรณีศึกษาประชาชนอายุ 12 — 60 ปีใน 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา จันทบุรี สุรินทร์ อุบลราชธานี ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่ สุโขทัย ราชบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา จำนวนตัวอย่าง ทั้งสิ้น 2,228 คน โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 26 มีนาคม ถึง 4 เมษายน 2552 ประเภทของการสำรวจวิจัยครั้งนี้คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มประชากรเป้าหมาย คือ ประชาชนทั่วประเทศ เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่าง ได้แก่ การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับประชากรเป้าหมายจาก การทำสำมะโน ช่วงความเชื่อมั่นอยู่ในระดับร้อยละ 95 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การ สัมภาษณ์ หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ข้อมูลและงบประมาณเป็นของมหาวิทยาลัย มี คณะผู้วิจัย จำนวนทั้งสิ้น 78 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง

ร้อยละ 47.4 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 12.8 อายุ 12-17 ปี

ร้อยละ 5.9 อายุ 18-19 ปี

ร้อยละ 23.1 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 23.2 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 18.8 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 16.2 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 54.9 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอยต้น/ต่ำกว่า

ร้อยละ 23.0 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช.

ร้อยละ 7.6 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส.

ร้อยละ 13.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 1.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 31.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 29.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 8.1 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 5.6 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 4.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 16.4 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ในขณะที่ร้อยละ 3.7 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การเคยพบเห็นการประสบอุบัติเหตุด้วยตนเอง
ลำดับที่          การเคยพบเห็นการประสบอุบัติเหตุด้วยตนเอง          ค่าร้อยละ
1          เคยพบเห็น                                        49.7
2          ไม่เคยพบเห็น                                      50.3
          รวมทั้งสิ้น                                         100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อความเพียงพอของข้อมูลชื่อถนนและรายละเอียดอื่นๆ
มากพอจะอธิบายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยกู้ภัยสามารถเดินทางมายังจุดเกิดเหตุได้ทันที
ลำดับที่          ความคิดเห็น             ค่าร้อยละ
1          มีข้อมูลมากเพียงพอแล้ว          38.5
2          ยังไม่เพียงพอ                 61.5
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณีความพอเพียงของการมีสัญญาณเตือนผู้ขับขี่ล่วงหน้า
ในยามค่ำคืนบริเวณก่อสร้าง ซ่อมแซมถนน และจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย
ลำดับที่          ความคิดเห็น                            ค่าร้อยละ
1          มีสัญญาณเตือนผู้ขับขี่ยามค่ำคืนเพียงพอแล้ว             32.1
2          ยังไม่เพียงพอ                                 67.9
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือ
หรือติดต่อแจ้งเหตุ (คะแนนเต็ม 10 คะแนน)
ลำดับที่          ความพึงใจต่อการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีการร้องขอความช่วยเหลือ หรือ แจ้งเหตุ      คะแนนเฉลี่ย
1          เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัย                                                     7.21
2          ตำรวจ 191                                                          6.11
3          ตำรวจท้องที่                                                          5.60
4          ตำรวจทางหลวง                                                       5.38

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุประสบการณ์ในการถูกตำรวจตั้งด่านเรียกเก็บเงินโดยไม่เขียนใบสั่ง
ในการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          ประสบการณ์ในการถูกตำรวจตั้งด่านเรียกเก็บเงินโดยไม่เขียนใบสั่ง
ในการเดินทางไปต่างจังหวัดในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา                    ค่าร้อยละ
1          เคยถูกเรียกเก็บเงินจากการตั้งด่าน โดยไม่เขียนใบสั่ง          25.0
2          ไม่เคย                                             75.0
          รวมทั้งสิ้น                                           100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ