เอแบคโพลล์: ความเชื่อของคนไทยภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของประชาชน

ข่าวผลสำรวจ Monday April 20, 2009 07:23 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (ABAC Real-Time Survey)” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติก่อน จากนั้นได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็น ตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไวภายในระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจเรื่อง ความเชื่อของคนไทยภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ มหานคร ปทุมธานีเชียงใหม่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี เพชรบุรี ขอนแก่น หนองบัวลำภู สกลนคร ศรีสะเกษ ระนอง พัทลุง และ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,439 ครัวเรือน ในวันที่ 17 เมษายน 2552 พบว่า

ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.2 ได้ติดตามข่าวการชุมนุมประท้วงของประชาชนอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ร้อยละ 16.6 ติดตาม บ้าง และร้อยละ 7.2 ไม่ได้ติดตามเลย

เมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนที่ติดตามข่าวต่อประเด็นสำคัญต่างๆ ภายหลังการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของประชาชนในช่วงเทศกาล สงกรานต์ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.8 เชื่อว่า กลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ชุมนุมกันด้วยความบริสุทธิ์ใจเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม รัก ประชาธิปไตย มีเพียงส่วนน้อยต้องการใช้ความรุนแรง แต่ร้อยละ 35.2 ไม่เชื่อ ในขณะที่ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.9 เชื่อว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันสลาย การชุมนุมด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 25.1 ไม่เชื่อ

เมื่อถามถึงความเชื่อต่อการเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุชุมนุมประท้วงรัฐบาล พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.2 เชื่อว่าการเสียชีวิต ของประชาชนจากเหตุชุมนุมประท้วงเกิดจาก กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำกันเอง ไม่ใช่การกระทำของฝ่ายทหาร ในขณะที่ร้อยละ 26.8 ไม่เชื่อเช่นนั้น

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.9 เชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่จะมีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ ตระหนักถึงความเสียหายต่อตนเองและ ประเทศชาติจากเหตุวุ่นวายทางการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 21.1 ไม่เชื่อ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.1 เชื่อว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงรัก สามัคคีกัน เกื้อกูล เมตตาปราณีต่อกัน ในขณะที่ร้อยละ 14.9 ไม่เชื่อ

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.5 กังวลว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และรัฐบาลจะไม่เป็นหนึ่งเดียวกันใน การแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ในขณะที่ร้อยละ 20.3 ไม่กังวล และที่เหลือร้อยละ 13.2 ไม่มีความเห็น และเมื่อถามความเห็นต่อการโยก ย้าย ปรับเปลี่ยน นายทหารหรือนายตำรวจระดับสูงในช่วงเวลานี้ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.3 ไม่เห็นด้วย ในขณะที่ร้อยละ 21.9 เห็นด้วย และ ร้อยละ 12.8 ไม่มีความเห็น และเมื่อถามถึงความหวังของประชาชนว่า คนไทยส่วนใหญ่จะรักสามัคคี เมตตาปราณี ให้อภัยกัน หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 79.1 ยังมีความหวัง ในขณะที่ร้อยละ 20.9 ไม่มีความหวังแล้ว

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า กลไกต่างๆ ของรัฐ รัฐบาล คนไทยทุกคนและสื่อมวลชนต้องช่วยกันรณรงค์ให้สังคมไทยสงบสุขอย่างต่อเนื่อง เพราะตัวเลขที่ค้นพบในทางลบมีอยู่เป็นจำนวนมากพอที่จะกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงของประเทศ และอะไรที่เป็นความดีความงามของกลุ่มคนเสื้อ แดงก็ต้องสนับสนุนส่งเสริมรักษาไว้ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดเทียบเท่ากับการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนคือ การนำเรื่อง แนวทางสร้างเสริมความ เป็นธรรมในสังคม ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ใช่เพียงเรื่องของการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เพราะเรื่องของธุรกิจท่องเที่ยวจะทำให้กลุ่มนายทุนได้ เม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำเพียงไม่กี่กลุ่ม แต่การสร้างเสริมความเป็นธรรมในสังคมน่าจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับและส่งผลดีต่อบรรยากาศทางสังคม การเมืองและเศรษฐกิจอีกด้วย นอกจากนี้ ฝ่ายการเมืองต้องเร่งแสดงให้เห็นว่ามีความรักความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก่อนที่จะมาขับเคลื่อนให้คน ไทยในสังคมรักกัน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 52.9 เป็นหญิง

ร้อยละ 47.1 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 7.1 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 22.4 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 23.5 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 23.0 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 24.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 71.8 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ในขณะที่ร้อยละ23.5 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 4.7 มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

นอกจากนี้ ตัวอย่าง ร้อยละ 30.9 เกษตรกร/รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป

ร้อยละ 26.1 ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 17.2 เป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 11.1 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 6.6 นักศึกษา

ร้อยละ 5.8 แม่บ้าน เกษียณอายุ

และร้อยละ 2.3 ว่างงาน

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การติดตามข่าวการชุมนุมประท้วงของประชาชน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวการชุมนุมประท้วงของประชาชน                        ค่าร้อยละ
1          ติดตามอย่างใกล้ชิด                                                  76.2
2          ติดตามบ้าง                                                        16.6
3          ไม่ได้ติดตาม                                                        7.2
          รวมทั้งสิ้น                                                         100.0

ตารางที่ 2  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเชื่อภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาล

สงกรานต์(เฉพาะคนที่ติดตามข่าว)

ลำดับที่          ประเด็นภายหลังเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงช่วงเทศกาลสงกรานต์               เชื่อค่าร้อยละ    ไม่เชื่อค่าร้อยละ
1          กลุ่มคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ชุมนุมกันด้วยความบริสุทธิ์ใจ เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม
           รักประชาธิปไตย มีเพียงส่วนน้อยต้องการใช้ความรุนแรง                           64.8          35.2
2          รัฐบาลชุดปัจจุบันสลายการชุมนุมด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้                      74.9          25.1
3          การเสียชีวิตของประชาชนจากเหตุชุมนุมประท้วงเกิดจาก กลุ่มผู้ชุมนุมกระทำกันเอง
           ไม่ใช่การกระทำของฝ่ายทหาร                                              73.2          26.8
4          ประชาชนส่วนใหญ่จะมีสติ รู้จักยับยั้งชั่งใจ ตระหนักถึงความเสียหายต่อตนเอง
           และประเทศชาติมากขึ้น จากเหตุวุ่นวายทางการเมือง                             78.9          21.1
5          ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ยังคงรักสามัคคีกัน เกื้อกูล เมตตาปราณีต่อกัน                 85.1          14.9

ตารางที่ 3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และรัฐบาล จะไม่เป็น

หนึ่งเดียวกันในการแก้ปัญหาความขัดแย้งแตกแยกในสังคม

ลำดับที่          ความกังวล                      ค่าร้อยละ
1          กังวล                                66.5
2          ไม่กังวล                              20.3
3          ไม่มีความเห็น                          13.2
          รวมทั้งสิ้น                             100.0

ตารางที่ 4  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความเห็นต่อ การโยกย้าย ปรับเปลี่ยน นายทหารหรือนายตำรวจระดับสูงในช่วงเวลานี้
ลำดับที่          ความเห็น                       ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                              21.9
2          ไม่เห็นด้วย                            65.3
3          ไม่มีความเห็น                          12.8
          รวมทั้งสิ้น                             100.0

ตารางที่ 5  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความหวังต่อความรักความสามัคคี เมตตาปราณี ให้อภัยต่อกันของคนไทย
ลำดับที่          ความหวัง                                        ค่าร้อยละ
1          มีความหวังว่า คนไทยจะรักสามัคคี เมตตาปราณี ให้อภัยกัน           79.1
2          ไม่มีความหวัง                                            20.9
          รวมทั้งสิ้น                                               100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ