เอแบคโพลล์: ประชาชนกลัวอะไรหวัดหมูหรือหมูแพง

ข่าวผลสำรวจ Tuesday April 28, 2009 11:22 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผล สำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (ABAC Real-Time Survey)” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติก่อน จากนั้นได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไวภายในระยะเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง จากนั้น ประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง ประชาชนกลัวอะไรหวัดหมูหรือหมูแพง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี เพชรบุรี หนองบัวลำภู สกลนคร ศรีสะเกษ ขอนแก่น พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,361 ครัวเรือน ในวันที่ 28 เมษายน 2552 พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่คือร้อยละ 94.1 ระบุรับทราบข่าวการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในประเทศเม็กซิโกแล้ว ทั้งนี้มีเพียงร้อยละ 5.9 เท่านั้นที่ยังไม่ทราบข่าวการแพร่ระบาดดังกล่าว

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือเมื่อสอบถามถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในประเทศไทยนั้น พบว่าร้อยละ 14.0 ระบุมีความ กังวลมาก-มากที่สุด ร้อยละ 17.2 ระบุค่อนข้างมาก ร้อยละ 31.6 ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 37.2 ระบุน้อย-ไม่กังวลในเรื่องนี้ เลย ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในประเทศไทยนั้น ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 37.7 ระบุเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 36.0 ระบุค่อนข้างมาก ในขณะที่ร้อยละ16.3 ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 10.0 ระบุน้อย-ไม่เชื่อมั่นเลย

ประเด็นที่น่าพิจารณาคือเมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูกับการที่หมูมีราคาแพงนั้น ผลการ สำรวจพบว่าร้อยละ 55.8 กลัวว่าหมูจะมีราคาแพงมากกว่า ในขณะที่ร้อยละ 44.2 ระบุกลัวการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูมากกว่า

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่าผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนมีความกังวลค่อนข้างน้อยถึงไม่กังวลเลยต่อการระบาดของไข้หวัดหมูใน เม็กซิโก และส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่นถึงเชื่อมั่นมากที่สุดต่อการป้องกันการแพร่ระบาดไข้หวัดหมูในประเทศไทย และคนเกินครึ่งกลัวหมูราคาแพง มากกว่า กลัวการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม คนที่กลัวการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในคนยังมีจำนวนมากพอสมควรคือกว่า ร้อยละ 40 นั่นหมายความว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องแสดงมาตรการต่างๆ ออกมาให้ชัดเจนและต่อเนื่องต่อไปว่า สามารถป้องกันและเฝ้าระวังการ แพร่ระบาดของไข้หวัดได้จนความกลัวของประชาชนคลี่คลายหมดไป

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 52.1 เป็นหญิง

ร้อยละ 47.9 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 4.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 19.9 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 24.4 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 22.7 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 28.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 74.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือร้อยละ 21.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 4.0 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 32.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 24.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 18.0 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 10.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 6.4 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 4.6 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ในขณะที่ร้อยละ 3.9 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการรับทราบข่าวการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในประเทศเม็กซิโก
ลำดับที่          การรับทราบข่าวการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในประเทศเม็กซิโก          ค่าร้อยละ
1          ทราบข่าว                                                       94.1
2          ไม่ทราบข่าว                                                      5.9
          รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

ความคลาดเคลื่อนจากการกำหนดขนาดตัวอย่าง +- ร้อยละ 5

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในประเทศไทย
ลำดับที่          ความกังวลว่าจะมีการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในประเทศไทย            ค่าร้อยละ
1          กังวลมาก-มากที่สุด                                                14.0
2          ค่อนข้างมาก                                                     17.2
3          ค่อนข้างน้อย                                                     31.6
4          น้อย-ไม่กังวลเลย                                                 37.2
          รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

ตารางที่ 3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อมั่นในการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในประเทศไทย
ลำดับที่          ความเชื่อมั่นในการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูในประเทศไทย      ค่าร้อยละ
1          เชื่อมั่นมาก                                                      37.7
2          ค่อนข้างมาก                                                     36.0
3          ค่อนข้างน้อย                                                     16.3
4          น้อย-ไม่เชื่อมั่นเลย                                                10.0
          รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณีการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูกับการที่เนื้อหมูมีราคาแพง
ลำดับที่          ความคิดเห็นกรณีการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูกับการที่เนื้อหมูมีราคาแพง     ค่าร้อยละ
1          กลัวการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมู                                      44.2
2          กลัวหมูมีราคาแพง                                                 55.8
          รวมทั้งสิ้น                                                       100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ