เอแบคโพลล์: ความเคลือบแคลงสงสัยของคนกรุงเทพมหานครต่อโครงการเมกะโปรเจกและโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน

ข่าวผลสำรวจ Monday June 8, 2009 07:29 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ ภาคสนาม เรื่อง ความเคลือบแคลง สงสัยของคนกรุงเทพมหานครต่อโครงการเมกะโปรเจก และโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยลงเก็บรวบรวมข้อมูลตามครัวเรือนที่ได้จากการสุ่มตามหลักสถิติ ขนาดตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 2,097 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3 — 6 มิถุนายน 2552 พบว่า คนกรุงเทพมหานครที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.0 ติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำทุกสัปดาห์อย่างน้อยสัปดาห์ละ ครั้ง

อย่างไรก็ตาม มีประชาชนคนกรุงเทพมหานครร้อยละ 22.8 เข้าใจว่าโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน เป็นโครงการของพรรค ประชาธิปัตย์ และร้อยละ 29.7 ไม่ทราบ ไม่แน่ใจ ในขณะที่ร้อยละ 42.3 ที่ทราบว่าเป็นโครงการของ พรรคภูมิใจไทย และร้อยละ 5.2 คิดว่าเป็น ของพรรคอื่นๆ

คนกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.5 คิดว่าความชัดเจนของข่าวสารเกี่ยวกับโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คันยังไม่ เพียงพอ ในขณะที่ร้อยละ 15.5 คิดว่าเพียงพอแล้ว โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.3 รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยต่อโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน ในขณะที่ร้อยละ 21.7 ไม่รู้สึกเคลือบแคลงสงสัยอะไร

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.9 ต้องการให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของบรรดาที่ปรึกษาของ รัฐมนตรีด้วย และส่วนใหญ่เช่นกันหรือร้อยละ 61.2 เห็นว่าควรโอนโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน ไปให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ ดูแล ในขณะที่ร้อยละ 38.8 เห็นว่าไม่ควรโอน

อย่างไรก็ตาม คนกรุงเทพฯ เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.3 ต้องการให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดโครงการเช่ารถ เมล์นี้ ในขณะที่ ร้อยละ 27.7 ต้องการให้นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ชี้แจง และร้อยละ 18.0 ต้องการให้นายปิยะ พันธ์ จัมปาสุต ประธานกรรมการ ขสมก. เป็นผู้ชี้แจง

ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.4 คิดว่าปัญหาโครงการเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันนี้จะกลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรค ร่วมรัฐบาล ในขณะที่ร้อยละ 24.6 ไม่คิดเช่นนั้น นอกจากนี้ เมื่อถามถึงโครงการของรัฐขนาดใหญ่ที่ยังคงค้างคาใจเป็นอนุสรณ์เรื่องความไม่โปร่งใสใน หมู่ประชาชน พบว่า อันดับแรก ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.0 ระบุเป็นโครงการรถดับเพลิง เรือดับเพลิง อันดับสอง หรือร้อยละ 69.9 ระบุ โครงการ โฮปเวล คู่ขนานถนนวิภาวดีรังสิต อันดับสามหรือร้อยละ 65.6 ระบุการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ อันดับสี่หรือร้อยละ 60.1 ระบุโครงการบ่อบำบัดน้ำ เสียคลองด่าน อันดับห้า หรือร้อยละ 57.0 ระบุโครงการบ้านเอื้ออาทร และอันดับหก หรือร้อยละ 46.3 ระบุโครงการสร้างอุโมงค์ลอดสี่แยก ตาม ลำดับ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เมื่อบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองไทยในกลุ่มประชาชนด้วยกันเองเริ่มลดลง ฝ่ายการเมืองในรัฐบาล น่าจะเร่งรัดทำงานให้หนักแสดงผลงานเป็นที่ประจักษ์จับต้องได้ แต่กลับเริ่มมีความเคลือบแคลงสงสัยในกลุ่มประชาชนขึ้นมาแทน ซึ่งอันตรายต่อ เสถียรภาพของรัฐบาล ทางออกที่น่าพิจารณาคือ ต้องชี้แจง และจัดสร้างระบบป้องกันแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่นให้เข้มแข็งมีกลไกที่น่าพิจารณาดังนี้

ประการแรก รัฐบาลต้องรวดเร็วฉับไวต่อกระแสความรู้สึกนึกคิดของประชาชนในทางลบต่อรัฐบาล การชี้แจงให้โปร่งใสอย่างกว้างขวาง เป็นเพียงแค่การลดทอนปัญหาในระยะสั้น แต่โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาลมีอีกเป็นจำนวนมากที่ต้องให้โอกาสการมีส่วนร่วมตรวจสอบอย่างทั่วถึง จากภาคประชาชน

ประการที่สอง ระบบต้องสามารถลงโทษกลุ่มบุคคลทั้งนายทุน นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่พาประเทศไปสู่ความเสียหายจากการทุจริต คอรัปชั่น แม้ไม่มีใบเสร็จก็สามารถเอาผิดในฐานะที่มีเพียง “พฤติการณ์” ที่เชื่อได้ว่าทุจริตคอรัปชั่น เช่น การเลี้ยงดูปูเสื่อคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น

ประการที่สาม กลไกของรัฐต้องสามารถทำให้ปราศจากการล็อบบี้ระหว่างกลุ่มนายทุน ที่ปรึกษารัฐมนตรี นักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของ รัฐ เพื่อลดการล็อกสเปก และการเลือกปฏิบัติจากความไม่เป็นธรรมในสังคม

ประการที่สี่ ระบบต้องทำให้สื่อมวลชนปลอดอิทธิพลของฝ่ายการเมืองในการแทรกแซงการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาทุจริตคอรัปชั่น แม้ว่า ข่าวนั้นจะกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลก็ตาม

ประการที่ห้า ระบบต้องทำให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานภาครัฐพร้อมถูกตรวจสอบจากสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ประการที่หก ระบบต้องสามารถเสริมสร้างจิตสำนึกและความตะหนักถึงผลร้ายของปัญหาทุจริตคอรัปชั่นให้เกิดขึ้นในกลุ่มประชาชนและ เยาวชนคนรุ่นใหม่ผ่านการศึกษาจากชั้นเรียนในสถาบันการศึกษาและจากสื่อมวลชน

ประการที่เจ็ด ระบบต้องทำให้รัฐบาลมีประสิทธิภาพแท้จริงในการขจัดหรือลดกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่แสวงหาประโยชน์จากธุรกิจผิด กฎหมาย หรือผิดศีลธรรม เช่น การค้ามนุษย์ เงินบ่อน เงินหวย และยาเสพติด เป็นต้น

รายละเอียดงานวิจัย

ระเบียบวิธีการทำโพลล์

โครงการสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ความเคลือบแคลงสงสัยของคนกรุงเทพมหานครต่อโครงการเมกะโปรเจกและโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร” ซึ่งดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3 — 6 มิถุนายน 2552ประเภท ของการสำรวจวิจัยครั้งนี้คือ การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มประชากรเป้าหมายคือ ประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยอยู่ใน เขตกรุงเทพมหานคร เทคนิควิธีการสุ่มตัวอย่างได้แก่ การสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และกำหนดลักษณะของตัวอย่างให้สอดคล้องกับ ประชากรเป้าหมายจากการทำสำมะโน ขนาดตัวอย่างที่ทำการสำรวจคือ 2,097 ตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบ ถาม วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ การสัมภาษณ์ หลังจากนั้นคณะผู้วิจัยได้ตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของแบบสอบถามทุกชุดก่อนนำเข้าวิเคราะห์ ข้อมูล มีคณะผู้วิจัยจำนวนทั้งสิ้น 65 คน

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 51.0 เป็นหญิง

ร้อยละ 49.0 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 5.2 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 27.1 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 27.8 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 21.9 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 18.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 76.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 21.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 2.2 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 40.7 ระบุอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ

รองลงมาร้อยละ 22.3 ระบุอาชีพลูกจ้าง/พนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 15.2 ระบุอาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป

ร้อยละ 7.2 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา

ร้อยละ 5.8 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 4.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ในขณะที่ร้อยละ 4.2 ระบุอาชีพอื่นๆ รวมถึงผู้ว่างงาน

ตัวอย่าง ร้อยละ 62.7 ระบุมีรายได้ส่วนตัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน

ร้อยละ 24.6 ระบุมีรายได้ 10,001 — 20,000 บาท

และร้อยละ 12.7 ระบุมีรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความถี่ในการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          ความถี่ในการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา  ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                            53.7
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                            19.9
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                            11.4
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                                         11.0
5          ไม่ได้ติดตามเลย                                              4.0
          รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุการรับทราบพรรคการเมืองที่เสนอโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน
ลำดับที่          การรับทราบพรรคการเมืองที่เสนอโครงการฯ                 ค่าร้อยละ
1          เข้าใจว่าเป็นพรรคภูมิใจไทย                                    42.3
2          เข้าใจว่าเป็นพรรคประชาธิปัตย์                                  22.8
3          เข้าใจว่าเป็นพรรคอื่นๆ                                         5.2
4          ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ                                            29.7
          รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุความชัดเจนของข่าวสารเกี่ยวกับโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน
ลำดับที่          ความชัดเจนของข่าวสาร                                ค่าร้อยละ
1          ละเอียดชัดเจนเพียงพอแล้ว                                     15.5
2          ยังไม่เพียงพอ                                               84.5
          รวมทั้งสิ้น                                                  100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัยต่อโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน
ลำดับที่          ความรู้สึกเคลือบแคลงสงสัย                              ค่าร้อยละ
1          รู้สึกเคลือบแคลงสงสัย                                        78.3
2          ไม่รู้สึก                                                   21.7
          รวมทั้งสิ้น                                                 100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อหน่วยงานตรวจสอบแก้ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในการ
ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของผู้ที่เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                         ค่าร้อยละ
1          ต้องการให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของผู้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีด้วย          95.9
2          ไม่ต้องตรวจสอบอะไร                                         4.1
          รวมทั้งสิ้น                                                 100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการโอนรถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน ให้ผู้ว่าราชการ
กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                        ค่าร้อยละ
1          ควรโอนให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแล                   61.2
2          ไม่ควร                                                  38.8
          รวมทั้งสิ้น                                                100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุ บุคคลที่ต้องการให้เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คัน
ลำดับที่          บุคคลที่ต้องการให้เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดโครงการ            ค่าร้อยละ
1          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี                           54.3
2          นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม                 27.7
3          นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานกรรมการ ขสมก.                   18.0
          รวมทั้งสิ้น                                                100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุความคิดเห็นว่าโครงการเช่ารถเมล์ เอ็นจีวี 4,000 คันนี้ จะกลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                        ค่าร้อยละ
1          คิดว่าจะกลายเป็นความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล                75.4
2          ไม่คิด                                                   24.6
          รวมทั้งสิ้น                                                100.0

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุโครงการเมกะโปรเจกที่ค้างคาใจเรื่องความไม่โปร่งใส
ลำดับที่          โครงการที่ค้างคาใจเรื่องความไม่โปร่งใส                   ร้อยละ
1          โครงการรถดับเพลิง เรือดับเพลิง                              74.0
2          โครงการโฮปเวล                                          69.9
3          สนามบินสุวรรณภูมิ                                          65.6
4          โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน                              60.1
5          โครงการบ้านเอื้ออาทร                                      57.0
6          โครงการสร้างอุโมงค์ลอดสี่แยก                                46.3

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ