เอแบคโพลล์: การรับประทานอาหารนอกบ้าน กับความปลอดภัยในอาหาร

ข่าวผลสำรวจ Wednesday August 5, 2009 10:43 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การรับประทานอาหาร นอกบ้าน กับความปลอดภัยในอาหาร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,325 ครัวเรือน ดำเนิน โครงการระหว่างวันที่ 1 — 4 สิงหาคม 2552

ประเด็นสำคัญที่ค้นพบคือ ประชาชนส่วนใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดปริมณฑลทุกเพศ ทุกวัย ทุกสาขาอาชีพ และทุกระดับรายได้ ส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 70 ถึงร้อยละ 80 ขึ้นไปที่รับประทานอาหารนอกบ้านตามแผงลอย หรือ รถเข็น มากกว่าร้านอาหารที่อยู่ในห้องแถว ห้าง สรรพสินค้า สวนอาหารและภัตตาคาร ยกเว้น กลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีจะรับประทานอาหารตามห้องแถวร้อยละ 76.7 แผงลอยหรือรถเข็น ร้อยละ 66.7 ห้างสรรพสินค้าร้อยละ 60.0 และร้อยละ 43.3 จะรับประทานอาหารตามสวนอาหารหรือภัตตาคาร

ส่วนสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้รับประทานอาหารตามแผงลอยหรือรถเข็น พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.0 ระบุเพราะวิถีชีวิตประจำวันที่ เร่งรีบ และการทำงาน รองลงมาคือร้อยละ 51.2 ระบุเรื่องราคาไม่สูง ร้อยละ 49.3 ระบุเพราะที่ตั้งร้านอาหารอยู่ใกล้ ร้อยละ 45.9 สะดวก และร้อยละ 40.5 เพราะความเป็นกันเองกับเจ้าของร้าน ในขณะที่สาเหตุที่ทำให้รับประทานอาหารตามห้องแถวจะไม่พบความแตกต่างไปจากเหตุผลที่ รับประทานอาหารตามแผงลอยหรือรถเข็น

ที่น่าพิจารณาคือ กลุ่มคนที่รับประทานอาหารที่ห้างสรรพสินค้าและที่สวนอาหารหรือภัตตาคาร โดยพบว่า คนที่ทานอาหารที่ห้างสรรพสินค้าจะ นึกถึงความสะอาดเป็นอันดับแรกคือร้อยละ 47.4 รองลงมาคือ ร้อยละ 45.9 ระบุเพราะการโฆษณา อันดับสามคือร้อยละ 41.4 นึกถึงการรับประกัน ความปลอดภัยในอาหาร ร้อยละ 38.3 เพราะบุคคลใกล้ชิดชักชวน และร้อยละ 38.0 นึกถึงคุณค่าของอาหาร โดยผลสำรวจครั้งนี้พบว่าเหตุผลเป็นไป ในทิศทางเดียวกับการรับประทานอาหารที่สวนอาหารหรือภัตตาคาร ยกเว้นในเรื่องโอกาสพิเศษ และความอร่อย ที่คนรับประทานอาหารที่สวนอาหาร หรือภัตตาคารจะยกมาเป็นเหตุผลอันดับต้นๆ

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ปัญหาที่เคยประสบจากการรับประทานอาหารนอกบ้าน โดยพบว่า ถ้าทานอาหารที่แผงลอยหรือรถเข็น ส่วนใหญ่หรือเกิน กว่าร้อยละ 60 เคยพบปัญหาเรื่องภาชนะที่ใส่อาหารไม่สะอาด อาหารไม่สด มีสิ่งแปลกปลอมในอาหาร เช่น เส้นผม แมลงสาบ แมลงชนิดต่างๆ เศษ วัสดุ ฝอยขัดหม้อ และหนังยาง เป็นต้น เช่นเดียวกันกับร้านอาหารในห้องแถว แต่พบสัดส่วนน้อยกว่า ยกเว้นเรื่อง เคยพบเห็นแมลงวัน แมลงสาบ และ หนูในร้านอาหาร ที่สำรวจพบว่าร้อยละ 41.6 ของคนที่ทานอาหารในห้องแถวและร้อยละ 42.7 ของคนที่ทานอาหารตามแผงลอยหรือรถเข็นเคยมีปัญหา ดังกล่าว นอกจากนี้ ในห้องแถวยังพบปัญหามีหยากไย่แมลงมุม ร้อยละ 55.1 อากาศไม่ถ่ายเท ร้อยละ 50.2 เป็นต้น ในขณะที่ คนที่รับประทานอาหาร ที่ห้างสรรพสินค้าและสวนอาหารหรือภัตตาคาร จะพบปัญหาเรื่องราคาไม่เป็นธรรมมาเป็นอันดับแรก คือพบร้อยละ 31.1 และร้อยละ 27.3 ตามลำดับ

เมื่อประเมินความพอใจของประชาชนผู้บริโภคโดยภาพรวมเรื่องมาตรฐานประกันคุณภาพความปลอดภัยในอาหาร โดยคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ร้านอาหารแผงลอยหรือรถเข็นได้ 5.29 คะแนน ร้านอาหารห้องแถวได้ 5.71 ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า ได้ 6.42 และร้าน อาหารตามสวนอาหารหรือภัตตาคารได้ 6.73 คะแนน

ที่น่าสนใจคือ เมื่อถามถึงความรู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยในอาหารเมื่อแยกตามเพศ พบว่า ผู้ชายมีสัดส่วนคนที่มั่นใจในความปลอดภัยใน อาหารนอกบ้านมากกว่าผู้หญิงในทุกที่ ไม่ว่าเป็นที่แผงลอยหรือรถเข็น ห้องแถว ห้างสรรพสินค้า สวนอาหารหรือภัตตาคาร แต่ถ้าทำอาหารรับประทาน เองที่บ้าน ผลสำรวจพบว่า ผู้หญิงจะมั่นใจมากกว่าผู้ชาย แต่โดยภาพรวมของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.8 บอกว่ารู้สึกมั่นใจใน ความปลอดภัยในอาหารเมื่อทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน โดยมีผู้หญิงร้อยละ 90.0 และผู้ชาย ร้อยละ 82.2 ที่รู้สึกเช่นนั้น

รองลงมาแต่ถือว่าเป็นส่วนน้อยคือร้อยละ 35.5 มั่นใจที่สวนอาหารหรือภัตตาคาร โดยมีผู้ชายมากกว่าร้อยละ 38.6 และผู้หญิงร้อยละ 33.3 ในขณะที่ ร้อยละ 33.5 มั่นใจที่ห้างสรรพสินค้า โดยมีผู้ชายร้อยละ 37.1 และผู้หญิงร้อยละ 31.1 ยิ่งไปกว่านั้น เพียงร้อยละ 7.7 มั่นใจที่ร้าน อาหารตามห้องแถว และร้อยละ 5.8 มั่นใจในความปลอดภัยของอาหารที่ร้านอาหารตามแผงลอยหรือรถเข็น

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ประชาชนคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลส่วนใหญ่รับประทานอาหารนอกบ้านตามแผงลอย หรือรถ เข็น และห้องแถว ทั้งๆ ที่มั่นใจในความปลอดภัยในอาหารน้อยกว่าทำอาหารรับประทานเองที่บ้านโดยเฉพาะผู้หญิง เพราะเวลาทานอาหารนอกบ้านเคย พบเจออาหารไม่สด แต่ถ้ารู้สึกสดเกินไปก็กังวลเรื่องสารพิษถนอมอาหาร มีสิ่งแปลกปลอมในอาหาร และภาชนะที่ใส่อาหารไม่สะอาด แต่เพราะวิถีชีวิต ประจำวันที่เร่งรีบและการทำงาน รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจรายได้ของตนเองจึงต้องนึกถึงเรื่องราคาที่ไม่สูงเป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องรับประทานอาหารตาม แผงลอยหรือรถเข็น แต่ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นข้อดีของร้านอาหารตามแผงลอยหรือรถเข็นและห้องแถวคือ ความสะดวกในการเดินทางและความเป็นกัน เองกับเจ้าของร้าน ดังนั้น จึงเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการได้สร้างหลักประกันความมั่นใจ ปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยในอาหารและ บริการตอบสนองความต้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนผู้บริโภคเคยพบเห็นอย่างเร่งด่วนเพื่อเพิ่มความพึงพอใจและความสุขในการรับประทาน อาหารของลูกค้าต่อไป

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของ

ตัวอย่าง ร้อยละ 58.9 เป็นเพศหญิง

ร้อยละ 41.1 เป็นเพศชาย

ร้อยละ 26.1 ระบุอายุไม่เกิน 25 ปี

ร้อยละ 35.6 อายุระหว่าง 26 — 35 ปี

ร้อยละ 22.4 อายุระหว่าง 36 — 45 ปี

และร้อยละ 15.9 อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 62.6 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 35.1 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี

และร้อยละ 2.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 18.5 ระบุอาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป

ร้อยละ 36.5 ระบุอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ

ร้อยละ 19.1 ระบุอาชีพลูกจ้าง/พนักงานบริษัท

ร้อยละ 12.7 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 4.5 ระบุอาชีพนักเรียนนักศึกษา

และร้อยละ 8.7 ระบุอาชีพพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จำแนกตามเพศ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          การรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 30 วันที่ผ่านมา    เพศชายค่าร้อยละ   เพศหญิงค่าร้อยละ   ทั้งหมดร้อยละ
1          แผงลอย/ รถเข็น                                        78.5           81.2          80.1
2          ห้องแถว                                               63.1           60.2          61.4
3          ห้างสรรพสินค้า                                          47.8           54.0          51.5
4          สวนอาหาร/ภัตตาคาร                                     29.0           27.7          28.2

ตารางที่ 2  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จำแนกตามช่วงอายุ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          การรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 30 วันที่ผ่านมา   ไม่เกิน 25 ปี     26 — 35 ปี    36 — 45 ปี    มากกว่า 45 ปีขึ้นไป
1          แผงลอย/ รถเข็น                                    82.9          83.1          79.8          69.0
2          ห้องแถว                                           66.8          61.0          62.0          52.4
3          ห้างสรรพสินค้า                                      59.0          49.8          52.2          41.9
4          สวนอาหาร/ภัตตาคาร                                 30.6          26.7          30.3          24.8

ตารางที่ 3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จำแนกตามระดับการศึกษา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          การรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 30 วันที่ผ่านมา  ต่ำกว่าปริญญาตรี    ปริญญาตรี     สูงกว่าปริญญาตรี
1          แผงลอย/ รถเข็น                                    81.0          79.1          66.7
2          ห้องแถว                                           58.8          64.3          76.7
3          ห้างสรรพสินค้า                                      47.0          58.0          60.0
4          สวนอาหาร/ภัตตาคาร                                 25.2          32.2          43.3

ตารางที่ 4  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จำแนกตามอาชีพประจำ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
การรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 30 วันที่ผ่านมา   ข้าราชการ   พนักงาน   ค้าขาย   นักเรียน   เกษตรกร    แม่บ้าน   ว่างงาน
                                             รัฐวิสาหกิจ   เอกชน    ส่วนตัว   นักศึกษา    รับจ้าง   เกษียณอายุ  ไม่มีอาชีพ
1. แผงลอย/ รถเข็น                              73.6       82.0     81.4    74.1     80.6      83.3     81.3
2. ห้องแถว                                     60.1       65.2     61.2    63.8     57.4      36.7     58.8
3. ห้างสรรพสินค้า                                50.9       63.5     50.5    51.7     39.7      46.7     55.0
3. สวนอาหาร/ภัตตาคาร                           33.1       36.1     25.1    27.6     20.7      33.3     27.5

ตารางที่ 5  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุการรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 30 วันที่ผ่านมา จำแนกตามรายได้ส่วนตัว  (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          การรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วง 30 วันที่ผ่านมา  ไม่เกิน5,000 บาท    5,001—10,000    10,001—20,000   20,001—30,000   มากกว่า 20,000 ขึ้นไป
1          แผงลอย/ รถเข็น                                     82.7             82.2            79.7            73.8               76.7
2          ห้องแถว                                            64.0             61.2            61.2            60.8               64.4
3          ห้างสรรพสินค้า                                       51.1             47.8            50.3            58.5               61.6
4          สวนอาหาร/ภัตตาคาร                                  24.5             26.4            29.4            30.8               37.0

ตารางที่ 6  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุเหตุผลที่ทำให้ตัดใจเลือกรับประทานอาหารในสถานที่ต่างๆ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
   เหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจเลือกรับประทานอาหาร           แผงลอย/รถเข็น    ห้องแถว   ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า   สวนอาหาร/ภัตตาคาร
1.  วิถีชีวิตประจำวัน เช่น ความเร่งรีบ  การทำงาน          66.0          40.3          15.1                    2.1
2.  การเดินทาง/ท่องเที่ยว                             17.9          15.2          24.8                    20.8
3.  ที่ตั้งร้านอาหารอยู่ใกล้                              49.3          41.7          15.6                    3.7
4.  ราคาไม่สูง                                      51.2          33.1          16.8                    5.3
5.  โอกาส / เทศกาลพิเศษ                             7.4           7.7          39.4                    44.8
6.  ความสะอาด                                      9.0          11.6          47.4                    38.1
7.  ความรวดเร็วในการบริการ                          31.8          21.4          37.4                    17.6
8.  ความอร่อย                                      19.7          18.8          32.1                    44.2
9.  บุคคลใกล้ชิดชักชวน                                18.9          17.3          38.3                    31.6
10. คุณค่าของอาหาร                                  13.7          16.1          38.0                    38.0
11. ความเป็นกันเองกับเจ้าของร้าน                       40.5          34.7          12.4                    15.7
12. ความเป็นที่รู้จักของร้านอาหาร/ชื่อเสียงของร้านอาหาร      17.7          21.4          29.8                    39.5

ตารางที่ 6  (ต่อ) แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุเหตุผลที่ทำให้ตัดใจเลือกรับประทานอาหารในสถานที่ต่างๆ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
    เหตุผลที่ทำให้ตัดสินใจเลือกรับประทานอาหาร    แผงลอย/รถเข็น    ห้องแถว   ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า    สวนอาหาร/ภัตตาคาร
13. การรับประกันความปลอดภัยในอาหาร              8.6          10.7            41.4                    38.7
14. ความสะดวก                               45.9          31.1            31.0                    14.1
15. การโฆษณา/ ประชาสัมพันธ์                     7.6           6.9            45.9                    35.8
16. การติดต่อธุรกิจ                              6.2           6.3            39.2                    34.3

ตารางที่ 7  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาที่เคยประสบจากการรับประทานอาหารในสถานที่ต่างๆ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ปัญหาที่เคยประสบจากการรับประทานอาหารในสถานที่ต่างๆ  แผงลอย/รถเข็น     ห้องแถว   ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า   สวนอาหาร/ภัตตาคาร
1.  อาหารไม่สด                                        66.9          30.7            15.0                 8.9
2.  มีสิ่งแปลกปลอมในอาหาร เช่น เส้นผม  แมลงสาบ -
    แมลงชนิดต่างๆ และ เศษวัสดุฝอยขัดหม้อ หนังยาง เป็นต้น      68.5          35.6            10.3                 5.9
3.  ภาชนะที่ใส่อาหารไม่สะอาด                             69.4          32.7             5.8                 2.5
4.  อาหารมีสารพิษ                                      49.8          17.7             3.7                 2.2
5.  ห้องน้ำสกปรก                                       24.7          35.3             6.0                 3.4
6.  มีแมลงวัน มีแมลงสาบ หนู ในร้านอาหาร                   42.7          41.6             6.6                 5.7
7.  ราคาไม่เป็นธรรม                                    16.9          17.7            31.1                27.3
8.  อากาศไม่ถ่ายเท                                     18.5          50.2            10.8                 3.7
9.  ผนังมีหยากไย่แมลงมุม                                 20.2          55.1             2.9                 1.7
10. เสื้อผ้า การแต่งกาย ของคนทำอาหารไม่สะอาด              59.2          33.8             2.0                 1.1

ตารางที่ 8  แสดงค่าร้อยละและคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจโดยภาพรวมต่อมาตรฐานประกันคุณภาพความปลอดภัยในอาหารของ

ร้านอาหารในสถานที่ต่างๆ (คะแนนเฉลี่ยจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน) -------------------------------------------------------------------------------------------------------

 ความพึงพอใจในมาตรฐานประกันคุณภาพ       ร้านอาหารแผงลอย   ร้านอาหารห้องแถว     ร้านอาหาร       สวนอาหาร/
 ความปลอดภัยในอาหารของร้านอาหาร            ริมถนน                         ในห้างสรรพสินค้า    ภัตตาคาร
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
คะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจโดยภาพรวม
 ต่อมาตรฐานประกันคุณภาพความปลอดภัยในอาหาร    5.29              5.71            6.42          6.73
-------------------------------------------------------------------------------------------------------

ตารางที่ 9  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุรู้สึกมั่นใจในความปลอดภัยของร้านอาหารจำแนกตามเพศ (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ร้านอาหารที่รู้สึกมั่นใจในความปลอดภัย   ชาย            หญิง          ทั้งหมด
1          ทำอาหารรับประทานเองที่บ้าน             82.2          90.0          86.8
2          สวนอาหาร/ภัตตาคาร                   38.6          33.3          35.5
3          ห้างสรรพสินค้า                        37.1          31.1          33.5
4          ห้องแถว                             10.8           5.5           7.7
5          แผงลอย/ รถเข็น                       7.9           4.4           5.8

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ