เอแบคโพลล์: เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราการยุบพรรคการเมืองและมาตราอื่นๆ ที่สำคัญ

ข่าวผลสำรวจ Wednesday August 19, 2009 10:02 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” ที่เป็นการ สำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำ การสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไว จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจ เรื่อง เสียงสะท้อน ของสาธารณชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราการยุบพรรคการเมืองและมาตราอื่นๆ ที่สำคัญ กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 17 จังหวัด ของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,246 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 18 สิงหาคม 2552 ผลการสำรวจพบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนเป็นประจำทุกสัปดาห์

เมื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.1 เห็นว่าควรแก้ไข เพราะทำให้เปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ทำงานไม่ต่อเนื่อง ฝ่ายการเมืองอ่อนแอเกินไป เกิดความขัดแย้งในสังคม บ้านเมืองแตก แยกเนื่องจากฝ่ายสนับสนุนพรรคที่ต้องการให้ถูกยุบและไม่ต้องการให้ถูกยุบเผชิญหน้ากัน และเกิดปัญหาการพนันต่อรองกัน เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 25.9 เห็นว่าไม่ควรแก้ไข เพราะดีอยู่แล้ว ช่วยขจัดคนไม่ดีที่แอบแฝงออกไป และต้องการให้พรรคอื่นโดนยุบบ้าง เป็นต้น

นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.1 เห็นว่าควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ที่ประกอบด้วย ส.ว. 150 คน โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนและที่มาจากการสรรหา 74 คน ในขณะที่ร้อยละ 42.9 เห็นว่า ไม่ควรแก้ไข

แต่ที่น่าพิจารณาคือ มาตราที่เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ประกอบด้วย ส.ส. รวม 480 คน โดยมาจากการเลือกตั้งแบบ แบ่งเขต 400 คน และเลือกตั้งแบบสัดส่วน 80 คน นั้นพบว่าก้ำกึ่งกันคือ ตัวอย่างร้อยละ 51.8 เห็นว่าควรแก้ไข ในขณะที่ร้อยละ 48.2 เห็นว่าไม่ ควรแก้ไข

และเมื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็น ส.ส. หรือ ส.ว. จะต้องไม่ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐอื่น ใดอีก ไม่รับหรือแทรกแซงก้าวก่ายสัมปทานจากรัฐ หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ และไม่รับผลประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐเป็นการพิเศษ นั้นพบว่า ร้อยละ 54.6 เห็นว่าไม่ควรแก้ไข ในขณะที่ร้อยละ 45.4 เห็นว่าควรแก้ไข

สำหรับประเด็นในรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ที่มีผลต่อความมั่นคงทาง เศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศจะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภานั้น พบว่า ตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 55.0 เห็นว่าไม่ควรแก้ไข ใน ขณะที่ร้อยละ 45.0 เห็นว่าควรแก้ไข

นอกจากนี้ ผลการสำรวจพบว่าตัวอย่างร้อยละ 56.6 เห็นว่าไม่ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่เกี่ยวกับการห้ามใช้ตำแหน่ง ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงระบบราชการ อาทิ การปฏิบัติราชการในหน้าที่ประจำ การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย หรือให้พ้นจากตำแหน่ง ในขณะที่ร้อยละ 43.4 เห็นว่าควรแก้ไขในประเด็นนี้

อย่างไรก็ตาม ที่น่าพิจารณาคือตัวอย่างส่วนใหญ่คือร้อยละ 92.3 เห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนในการ ตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 7.7 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว

ดร.นพดล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังถกเถียงกันอยู่ 6 มาตรานั้น มีอยู่เพียงมาตรา เดียวที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ที่เห็นว่าควรแก้ไข คือ ประเด็นเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่ระบุใจความว่า ให้ยุบพรรคการ เมืองและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค หากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง โดยที่หัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหาร พรรคมีส่วนรู้เห็นหรือปล่อยปละละเลย

“ส่วนมาตราที่เหลือจะพบว่า เรื่องที่มาของ ส.ว. มีผู้เห็นว่าควรแก้ไขเกินครึ่ง แต่ผู้เห็นว่าไม่ควรแก้ไขก็มีจำนวนมาก ในขณะที่มาตรา เกี่ยวกับที่มาของ ส.ส. ถ้าหากจะแก้ไขก็มีคนเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยก้ำกึ่งกัน จึงน่าเป็นห่วงว่าอาจกลายเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนนำไปสู่ความขัดแย้ง ทางสังคมได้ เช่นเดียวกับมาตราอื่นๆ ที่เหลือ ที่มีคนเห็นควรแก้ไขและไม่ควรแก้ไขจำนวนมากเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจคือ ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วทำให้ ภาคประชาชนเข้มแข็งเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่นทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นได้ ก็จะได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนเป็น ส่วนใหญ่ ซึ่งฝ่ายการเมืองน่าจะนำข้อมูลครั้งล่าสุดที่ค้นพบนี้ไปพิจารณา เพื่อหวังลบภาพลักษณ์ทัศนคติของประชาชนที่เคยพบว่า ยอมรับรัฐบาลที่ทุจริต คอรัปชั่นได้” ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 48.4 เป็นหญิง

ร้อยละ 51.6 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 4.0 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 17.3 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 22.6 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 25.3 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 30.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 77.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือร้อยละ 20.5 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 2.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 33.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 25.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 14.1 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 10.9 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 4.9 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ร้อยละ 7.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ในขณะที่ร้อยละ 2.8 ระบุว่างงาน

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในช่วง 30 วันที่ผ่านมา      ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                        60.2
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                        12.5
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                         8.0
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                                     13.2
5          ไม่ได้ติดตามเลย                                          6.1
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0

ตารางที่ 2   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง
ลำดับที่          ความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราเกี่ยวกับ การยุบพรรคการเมือง                      ค่าร้อยละ
1          ควรแก้ไข เพราะ ทำให้เปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ทำงานไม่ต่อเนื่อง ฝ่ายการเมืองอ่อนแอเกินไป
           เกิดความขัดแย้งในสังคม บ้านเมืองแตกแยก เป็นต้น                                            74.1
2          ไม่ควรแก้ไข เพราะ ดีอยู่แล้ว ช่วยขจัดคนไม่ดีที่แอบแฝงออกไป และต้องการให้พรรคอื่นโดนยุบบ้าง เป็นต้น    25.9
          รวมทั้งสิ้น                                                                           100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง ที่ระบุความเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นอื่นๆ
ลำดับที่          ประเด็นสำคัญในรัฐธรรมนูญ                                       ควรแก้ไขค่าร้อยละ    ไม่ควรแก้ไขค่าร้อยละ
1          วุฒิสภา ประกอบด้วย ส.ว. รวม 150 คน โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน
           รวม 76 คน และที่เหลือมาจากการสรรหา รวม 74 คน                           57.1               42.9
2          สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย ส.ส. รวม 480 คน โดยมาจากการเลือกตั้ง
           แบบแบ่งเขต 400 คน และเลือกตั้งแบบสัดส่วน 80 คน                            51.8               48.2
3          ส.ส. หรือ ส.ว. จะต้องไม่ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานของรัฐอื่นใดอีก ไม่รับหรือ

แทรกแซงก้าวก่ายสัมปทานจากรัฐ หรือเป็นคู่สัญญากับรัฐ และไม่รับผลประโยชน์

           จากหน่วยงานของรัฐเป็นการพิเศษ                                           45.4               54.6
4          การทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ที่มีผลต่อความมั่นคง
           ทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศ จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา              45.0               55.0
5          ห้ามใช้ตำแหน่ง ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงระบบราชการ อาทิ
           การปฏิบัติราชการในหน้าที่ประจำ การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย หรือให้พ้นจากตำแหน่ง      43.4               56.6

ตารางที่ 4   แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณีที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนในการตรวจสอบการ

ทุจริตคอรัปชั่นทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นได้โดยตรง

ลำดับที่          ความคิดเห็น            ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                     92.3
2          ไม่ได้                        7.7
          รวมทั้งสิ้น                    100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ