เอแบคโพลล์: ความสุขของเด็กและเยาวชนไทยกับการให้ของผู้ใหญ่ในสังคม

ข่าวผลสำรวจ Thursday October 15, 2009 10:44 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัย อัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความสุขของเด็กและเยาวชนไทยกับการให้ของผู้ใหญ่ในสังคม กรณีศึกษาเด็กและเยาวชนอายุ 12 — 24 ปีใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,802 ครัวเรือน ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 — 14 ตุลาคม ผลการสำรวจพบว่า

เมื่อถามถึงการให้ของผู้ใหญ่ในชุมชนที่ตนเองพักอาศัยอยู่ พบว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.5 ระบุว่าผู้ใหญ่ในชุมชนที่ตนเอง พักอาศัยอยู่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันน้อย ถึงไม่มีเลย ในขณะที่เพียงร้อยละ 30.5 ที่ระบุว่ามีมากถึงมากที่สุด เช่นเดียวกันกับการช่วยกันแก้ไขปัญหาของ ชุมชน เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม พบว่า ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 71.4 ระบุผู้ใหญ่ในชุมชนช่วยกันน้อยถึงไม่ช่วยกันแก้ปัญหาชุมชนเลย มี เพียงร้อยละ 28.6 ที่ระบุว่ามีการช่วยกันมากถึงมากที่สุด นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ระบุผู้ใหญ่ในชุมชนที่ตนเองพักอาศัย ยังไม่ค่อยช่วยกันสอด ส่องดูแลคนในชุมชน ไม่ค่อยช่วยกันทำความสะอาดชุมชน และไม่ช่วยกันรักษาทรัพย์สินสาธารณะในชุมชน เช่น ตู้โทรศัพท์ ไฟฟ้าส่องสว่าง เป็นต้น

เมื่อถามถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ในครอบครัวของตนเอง พบว่า ก่ำกึ่งกันหรือร้อยละ 50.2 ที่ระบุว่า พ่อแม่ ผู้ปกครอง และผู้ใหญ่ใน ครอบครัวของตนเองให้เวลาอยู่ร่วมกันมากถึงมากที่สุด ส่วนในประเด็นอื่นๆ ผลสำรวจพบต่ำกว่าครึ่งทุกประเด็น ได้แก่ ร้อยละ 45.0 ระบุพ่อแม่ ผู้ ปกครองให้ความเคารพต่อกันมากถึงมากที่สุด แต่ร้อยละ 55.0 ระบุมีให้กันน้อยถึงไม่มีเลย ส่วนเรื่องการให้ความเห็นอก เห็นใจกัน ร้อยละ 39.7 ระบุมีมากถึงมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.3 ระบุมีให้กันน้อยถึงไม่มีเลย นอกจากนี้ เรื่องการช่วยกันแก้ปัญหาในครอบครัว ร้อยละ 39.6 ระบุมี การช่วยกันมากถึงมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.4 ระบุมีให้กันน้อยถึงไม่มีเลย ในขณะที่ร้อยละ 35.4 ระบุพ่อแม่ ผู้ปกครองให้การดูแลลูกเป็น อย่างดีมากถึงมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.6 ระบุมีให้น้อยถึงไม่มีเลย

เมื่อเด็กและเยาวชนมองไปยังการให้ของผู้ใหญ่ในสังคมนักการเมือง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.0 ระบุรัฐบาลให้ความไว้วางใจ เป็นที่พึ่งได้น้อยถึงไม่มีเลย ในขณะที่ร้อยละ 32.0 ระบุมีมากถึงมากที่สุด เช่นเดียวกัน การให้ความไว้วางใจ เป็นที่พึ่งได้ขององค์กรอิสระ และแกนนำ ชุมชน ที่สำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ระบุมีน้อยถึงไม่มีเลย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.6 ระบุผู้ใหญ่ในสังคมการเมืองให้ความโปร่งใส ตรวจสอบ รัฐบาลได้น้อยถึงไม่มีเลย ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 73.3 ระบุให้ความโปร่งใส ตรวจสอบแกนนำชุมชนได้น้อยถึงไม่มีเลย

เมื่อสอบถามถึงการให้ของผู้ใหญ่ในด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ 54.9 ระบุผู้ใหญ่มีการให้ทุนการศึกษาแก่ เด็กและเยาวชนระดับมากถึงมากที่สุด แต่มีเพียงร้อยละ 35.0 ระบุผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้เรียนต่อจนถึงปริญญาตรีมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 31.1 ให้การศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเดียวกันมากถึงมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.9 บอกมีน้อยถึงไม่มีเลย ในขณะที่ร้อยละ 30.5 ระบุผู้ใหญ่ให้ครู อาจารย์ที่มีคุณภาพเท่าเทียมกันทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นมากถึงมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.5 ระบุมีให้น้อยถึงไม่มีเลย และที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.3 ระบุผู้ใหญ่กระทำตัวเป็นแบบอย่างด้านคุณธรรม จริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนน้อยถึงไม่มีเลย

เมื่อสอบถามถึง การให้ของผู้ใหญ่แก่เด็กและเยาวชนในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีไทยระดับมากถึงมากที่สุด พบว่า เกินครึ่งเล็กน้อยหรือร้อย ละ 52.0 ระบุผู้ใหญ่ให้คำทักทาย สวัสดี รองลงมา ไม่ถึงครึ่ง คือร้อยละ 49.2 ให้รอยยิ้ม ร้อยละ 46.3 ให้ความช่วยเหลือ เอื้ออาทรต่อกัน ร้อย ละ 45.1 ให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ร้อยละ 44.4 ให้ความรับผิดชอบ ร้อยละ 42.6 ให้ความซื่อสัตย์ต่อกัน ร้อยละ 41.5 ให้แบบอย่างเรื่องความเชื่อ ในบาป บุญคุณโทษ ร้อยละ 38.3 ให้ความกรุณา ปราณี และที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.9 ระบุผู้ใหญ่ให้แบบอย่างเพียงเล็กน้อย ถึงไม่เป็นแบบอย่างเลย ในเรื่องความเป็นหนึ่งเดียว ไม่แตกแยก

สิ่งที่น่าพิจารณาคือ เด็กและเยาวชนร้อยละ 20.3 มีความสุขมากถึงมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.7 มีความสุขระดับปานกลาง และร้อยละ 24.0 มีความสุขน้อยถึงไม่มีเลย

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า สรุปก็คือว่างานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ยังไม่เห็นแบบอย่างที่ดีมากเพียงพอจาก ผู้ใหญ่ในสังคม เกือบทุกเรื่องที่ทำวิจัย เช่น ผู้ใหญ่ในสังคมยังไม่มีการช่วยเหลือเกื้อกูล ยังไม่มีน้ำใจไมตรีจิตต่อกันมากเพียงพอ ยังไม่ช่วยกันแก้ปัญหา ภายในครอบครัวและชุมชน ยังไม่ได้อบรมเลี้ยงดูลูกเป็นอย่างดี ส่งผลให้ เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่มีความสุขแค่ระดับปานกลาง และประมาณเกือบ 1 ใน 4 มีความสุขน้อยถึงไม่มีเลย

“ยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเวลาการทำวิจัยครั้งนี้ กับมีคดีฆ่าหั่นศพสะเทือนขวัญของเด็กและเยาวชนที่ชี้ให้เห็นว่าผู้ใหญ่ “ใจร้าย” ต่อเด็ก ดัง นั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรใช้เวลานี้จัดกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า สวนสัตว์ สวนสาธารณะ และสถานที่ที่เด็กมักจะทำกิจกรรมร่วม กัน เป็นต้น เพื่อปลอบขวัญให้กับเด็กและเยาวชนได้รับรู้ว่ายังมีผู้ใหญ่ “ใจดี” ในสังคมไทยอีกจำนวนมากที่พร้อมดูแลและแก้ปัญหาต่างๆ ของเด็กๆ ทุก คน” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 54.1 เป็นหญิง

ร้อยละ 45.9 เป็นชาย

และส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 63.6 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ในขณะที่ร้อยละ 36.4 มีการศึกษาปริญญาตรีขึ้นไป

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การให้ของผู้ใหญ่ในชุมชนที่ตนเองพักอาศัย
ลำดับที่          การให้ของผู้ใหญ่ในชุมชนที่ตนเองพักอาศัย                         มีมาก ถึงมากที่สุด   มีน้อย ถึงไม่มีเลย
1          การช่วยเหลือกันเกื้อกูลกันในชุมชน                                        30.5          69.5
2          การช่วยกันแก้ไขปัญหาของชุมชน เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม            28.6          71.4
3          ช่วยกันสอดส่องดูแลคนในชุมชน                                           27.0          73.0
4          ช่วยกันทำความสะอาดชุมชน                                             26.7          73.3
5          การช่วยกันรักษาทรัพย์สินสาธารณะในชุมชน เช่น ตู้โทรศัพท์ ไฟฟ้าส่องสว่าง          24.0          76.0

ตารางที่  2  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การให้ของพ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในครอบครัวของตนเอง
ลำดับที่          การให้ของพ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้ใหญ่ในครอบครัวของตนเอง          มีมาก ถึงมากที่สุด  มีน้อย ถึงไม่มีเลย
1          ให้เวลาอยู่ร่วมกัน                                                  50.2          49.8
2          ให้ความเคารพต่อกัน                                                45.0          55.0
3          ให้ความเห็นอก เห็นใจกัน                                            39.7          60.3
4          ช่วยกันแก้ปัญหา                                                    39.6          60.4
5          ให้การดูแลลูกเป็นอย่างดี                                             35.4          64.6

ตารางที่  3  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การให้ของผู้ใหญ่ในสังคมนักการเมือง
ลำดับที่          การให้ของผู้ใหญ่ในสังคมนักการเมือง                           มีมาก ถึงมากที่สุด   มีน้อย ถึงไม่มีเลย
1          ให้ความไว้วางใจ เป็นที่พึ่งรัฐบาลได้                                    32.0          68.0
2          ให้ความไว้วางใจ เป็นที่พึ่งองค์กรอิสระได้                                29.8          70.2
3          ให้ความไว้วางใจ เป็นที่พึ่งแกนนำชุมชนได้                                29.4          70.6
4          ให้ความโปร่งใส ตรวจสอบรัฐบาลได้                                    27.4          72.6
5          ให้ความโปร่งใส ตรวจสอบแกนนำชุมชนได้                                26.7          73.3

ตารางที่  4  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การให้ของผู้ใหญ่ในด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน
ลำดับที่          การให้ของผู้ใหญ่ในด้านการศึกษาแก่เด็กและเยาวชน                มีมาก ถึงมากที่สุด   มีน้อย ถึงไม่มีเลย
1          ให้ทุนการศึกษา                                                    54.9          45.1
2          ให้การสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้เรียนต่อจนถึงปริญญาตรี                     35.0          65.0
3          ให้การศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเดียวกัน                                31.1          68.9
4          ให้ครู อาจารย์ที่มีคุณภาพดีอย่างเท่าเทียม ส่วนกลางและท้องถิ่น                 30.5          69.5
5          กระทำตัวให้เป็นแบบอย่างด้านคุณธรรม จริยธรรม แก่เด็กและเยาวชน            29.7          70.3

ตารางที่  5  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การให้ของผู้ใหญ่แก่เด็กและเยาวชนในสังคมวัฒนธรรม ประเพณีไทย
ลำดับที่          การให้ของผู้ใหญ่แก่เด็กและเยาวชนในสังคมวัฒนธรรมประเพณีไทย      มีมาก ถึงมากที่สุด   มีน้อย ถึงไม่มีเลย
1          ให้คำทักทาย สวัสดี                                                  52.0          48.0
2          ให้รอยยิ้ม                                                         49.2          50.8
3          ให้ความช่วยเหลือ เอื้ออาทรต่อกัน                                       46.3          53.7
4          ให้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่                                               45.1          54.9
5          ให้ความรับผิดชอบ                                                   44.4          55.6
6          ให้ความซื่อสัตย์ต่อกัน                                                 42.6          57.4
7          ให้แบบอย่างเรื่องความเชื่อในบาป บุญคุณโทษ                               41.5          58.5
8          ให้ความกรุณา ปราณี                                                 38.3          61.7
9          ให้แบบอย่างเป็นหนึ่งเดียว ไม่แตกแยก                                    35.1          64.9

ตารางที่  6  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ระดับความสุข
ลำดับที่          ระดับความสุขของเด็กและเยาวชนไทย          ร้อยละ
1          มีความสุขมาก ถึง มากที่สุด                      20.3
2          มีความสุขปานกลาง                            55.7
3          มีความสุขน้อย ถึง ไม่มีเลย                      24.0
          รวมทั้งสิ้น                                   100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ