เอแบคโพลล์: ความทรงจำของคนกรุงเทพฯ ต่อสถานการณ์การเมืองในปีที่แล้ว กับความคิดเห็นต่อ ผลที่จะตามมาหลังคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร

ข่าวผลสำรวจ Monday February 22, 2010 07:21 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความทรงจำของคนกรุงเทพมหานคร ต่อสถานการณ์การเมืองในปีที่แล้ว กับความคิดเห็นต่อ ผลที่จะตามมาหลังคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่พักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่เป็นการสำรวจด้วยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิ ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ในระดับครัวเรือนตามหลักสถิติ โดยครั้งนี้มีตัวอย่างในการสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 1,515 ตัวอย่าง เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 19 — 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญที่ค้นพบคือ

คนกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.2 ยังคงติดตามข่าวการพิจารณาคดียึดทรัพย์ โดยมีประชาชนเกินกว่าร้อยละ 10 คือร้อยละ 11.7 กังวลมากจนถึงขั้นจะกักตุนอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ และร้อยละ 3.0 กังวลจนถึงขั้นจะกักตุนอาหารและจะชักชวนคนอื่นด้วย อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.3 ไม่รู้สึกกังวลและจะใช้ชีวิตไปตามปกติ

ที่น่าเป็นห่วงคือ ความรู้สึกของประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังการพิพากษาคดียึดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่พบว่า ร้อยละ 49.2 คิดว่าจะวุ่นวายเหมือนเดิม และร้อยละ 44.2 จะวุ่นวายมากขึ้น มีเพียงร้อยละ 6.6 ที่คิดว่าจะลดความวุ่นวายลง

คนกรุงเทพฯและปริมณฑลส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.4 ยังคงจำได้ว่าในปีที่ผ่านมา มีการชุมนุมประท้วงก่อความวุ่นวายของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่ใช้ความรุนแรง โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.4 ระบุว่าถ้าเกิดสถานการณ์การเมืองวุ่นวายรุนแรงเหมือนปีที่ผ่านมาอีกตนเองจะเดือดร้อนมากกว่า แต่มีอยู่เพียงร้อยละ 4.6 เท่านั้นที่คิดว่าจะได้รับประโยชน์มากกว่าถ้าเกิดความรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.4 คิดว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองบางกลุ่ม ในขณะที่เพียงร้อยละ 9.6 คิดว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และร้อยละ 29.0 ไม่มีความเห็น

สำหรับ 5 อันดับแรก ที่คนกรุงเทพฯและปริมณฑลมีข้อเสนอแนะต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่มขณะนี้ อันดับแรกหรือร้อยละ 89.6 ระบุขอความสงบในการเคลื่อนไหวไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน อันดับสองหรือร้อยละ 86.5 ระบุให้ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ และอันดับสาม หรือร้อยละ 83.1 ระบุให้เร่งช่วยกันแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ส่วนอันดับสี่และห้าคือ ให้อภัยต่อกัน และทำงานการเมืองเชิงสร้างสรรค์ ไม่มุ่งแต่ทำลายกัน ตามลำดับ

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างพบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 52.9 ระบุเป็นหญิง

ในขณะที่ร้อยละ 47.1 ระบุ เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 5.6 ระบุอายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 18.2 ระบุอายุระหว่าง 20-29 ปี

ร้อยละ 24.6 ระบุอายุระหว่าง 30-39 ปี

ร้อยละ 21.9 ระบุอายุระหว่าง 40-49 ปี

และร้อยละ 29.7 ระบุอายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 44.5 สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า

ร้อยละ 27.0 สำเร็จการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช.

ร้อยละ 10.1 สำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ปวส.

ร้อยละ 16.8 สำเร็จการระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 1.6 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 30.9 ระบุธุรกิจส่วนตัว/อาชีพค้าขาย

ร้อยละ 29.1 ระบุรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป

ร้อยละ 14.5 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 10.0 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 7.4 ระบุเป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 5.3 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา

ร้อยละ 2.8 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การติดตามข่าวการพิจารณาคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ลำดับที่          การติดตามข่าวการพิจารณาคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร          ค่าร้อยละ
1          ติดตาม                                                              73.2
2          ไม่ได้ติดตาม                                                          26.8
          รวมทั้งสิ้น                                                            100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงบานปลายจากกรณีการพิพากษาคดียึดทรัพย์ของ   พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
ลำดับที่          ความรู้สึกกังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงบานปลายจากกรณีการพิพากษายึดทรัพย์           ค่าร้อยละ
1          กังวลจนถึงขั้นจะกักตุนอาหารและสินค้าอุปโภค/บริโภคต่างๆ และจะชักชวนคนอื่นกักตุนด้วย          3.0
2          กังวลมาก จนถึงขั้นจะกักตุนอาหาร และสินค้าอุปโภค/บริโภคต่าง ๆ                         11.7
3          ไม่รู้สึกกังวล และจะใช้ชีวิตปกติ                                                   85.3
          รวมทั้งสิ้น                                                                   100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อสถานการณ์การเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหลังการพิพากษาคดียึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ลำดับที่          ความคิดเห็น                              ค่าร้อยละ
1          วุ่นวายมากขึ้น                                  44.2
2          วุ่นวายเหมือนเดิม                               49.2
3          ลดความวุ่นวายลง                                6.6
          รวมทั้งสิ้น                                     100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสิ่งที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีที่ผ่านมาที่จำได้  (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่เกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีที่ผ่านมาที่จำได้                          ค่าร้อยละ
1          การชุมนุมประท้วงก่อความวุ่นวาย ของกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ที่ใช้ความรุนแรง          88.4
2          ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับคดียึดทรัพย์ของพ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร                               8.5
3          ความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา                                              4.7
4          การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองต่างๆ                                                   4.3
5          ข่าวเกี่ยวกับการปฏิวัติรัฐประหาร                                                     3.0
6          อื่นๆ อาทิ  ความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ/การประกาศใช้พระราชบัญญัติความมั่นคง/
           ปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้/การตั้งพรรคการเมืองของกลุ่มพันธมิตร                 5.6

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อกรณีการได้รับประโยชน์หรือความเดือดร้อน ถ้าสถานการณ์การเมืองเป็นเหมือนปีที่ผ่านมา
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                ค่าร้อยละ
1          คิดว่าจะได้ประโยชน์มากกว่า                           4.6
2          คิดว่าเดือดร้อนมากกว่า                              95.4
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0


ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อกรณีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นไปเพื่อประโยชน์
ส่วนตัวของนักการเมืองบางกลุ่ม หรือเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                ค่าร้อยละ
1          คิดว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของนักการเมืองบางกลุ่ม     61.4
2          คิดว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยส่วนรวมของประเทศชาติ        9.6
3          ไม่มีความเห็น                                     29.0
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0


ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่าง 5 อันดับแรก ที่ระบุ ข้อเสนอแนะต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ ทุกกลุ่มในเวลานี้
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                   ค่าร้อยละ
1          ขอความสงบในการเคลื่อนไหว ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน          89.6
2          ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ                                    86.5
3          เร่งช่วยกันแก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน                                   83.1
4          ให้อภัยต่อกัน                                                         70.2
5          ทำงานการเมืองเชิงสร้างสรรค์ ไม่มุ่งแต่ทำลายกัน                             68.4

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ