เอแบคโพลล์: โครงการเฝ้าระวังและรักษาคุณภาพอนาคตเยาวชนไทย

ข่าวผลสำรวจ Friday March 5, 2010 10:46 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์ โพลล์” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง โครงการเฝ้าระวังและรักษาคุณภาพอนาคตเยาวชนไทย กรณีศึกษาตัวอย่างเด็กและเยาวชนไทย อายุ 9-18 ปี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,060 ตัวอย่าง โดยมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่าง กุมภาพันธ์ — มีนาคม 2553 ผลการ สำรวจพบว่า กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่กลุ่มเด็กและเยาวชนได้ทำในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.6 ระบุเล่นกีฬา รองลงมาร้อยละ 84.6 ระบุอ่านหนังสือ/เข้าห้องสมุดและกิจกรรมทางศาสนา ทำบุญ/บริจาคทาน ร้อยละ 81.6 ระบุช็อปปิ้ง เที่ยวห้างสรรพสินค้า ร้อยละ 78.5 ระบุทำกิจกรรมเพื่อสังคมสาธารณะประโยชน์ และรองๆ ลงมาคือ ท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ ชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์ เล่น ดนตรี ดูการแสดงดนตรี/คอนเสิร์ต และเรียนพิเศษ ตามลำดับ ส่วนกิจกรรมเชิงลบที่กลุ่มเด็กและเยาวชน ทำในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 73.3 เล่นเกมคอมพิวเตอร์/เกมกด/เกมเพลย์ (ที่ไม่ใช่เกมออนไลน์) รองลงมาร้อยละ 29.2 เที่ยวกลางคืน เช่น ผับ /ดิสโก้/คาราโอ เกะ ร้อยละ 28.6 หนีเรียน /ไม่ไปเรียน และร้อยละ 24.4 เล่นทายพนัน/เล่นหวย

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ ผลวิจัยตามหลักสถิติประมาณการจำนวนเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 9-18 ปีใน กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่นและสงขลาที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,764,419 คนหรือกว่า 1.7 ล้านคน พบว่ามีผู้เคยดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 619,311 คน (ประมาณหกแสนคน) และยังพบว่าจำนวน 310,538 หรือกว่าสาม แสนคนเคยใช้ยาเสพติดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ค่าสถิติวิจัยด้วยค่า Odds Ratio ทำให้เห็นพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างชัดเจน ดังต่อไปนี้

เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดสูงถึงประมาณ 9 เท่า หรือ 8.692 เท่ามากกว่า เด็กและเยาวชนที่ไม่ได้สูบ บุหรี่

เด็กและเยาวชนที่เล่นทายพนัน มีความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดสูงถึง 6.735 เท่ามากกว่า กลุ่มเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้เล่นทายพนัน

เด็กและเยาวชนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ ไวน์ มีความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดสูงถึง 4.080 เท่ามากกว่า กลุ่มเด็ก และเยาวชนที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เด็กและเยาวชนที่พฤติกรรมเที่ยวกลางคืน อาทิ ผับ/ดิสโก้/คาราโอเกะ มีความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดถึง 3.647 เท่ามากกว่าเด็ก และเยาวชนที่ไม่ได้เที่ยวกลางคืน

ในขณะที่เด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมหนีเรียน มีความเสี่ยงในการใช้ยาเสพติดสูงถึง 2.743 เท่ามากกว่าเด็กและเยาวชนที่ไม่ได้มี พฤติกรรมหนีเรียน

และเมื่อสอบถามความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน เกี่ยวกับการกลับมาแพร่ระบาดของยาเสพติด พบว่าตัวอย่างกว่าครึ่งหรือร้อยละ 59.2 คิดว่ายาเสพติดกลับมาแล้ว มีเพียงร้อยละ 5.8 เท่านั้นที่คิดว่ายาเสพติดยังไม่กลับมา และร้อยละ 35.0 ไม่ทราบ นอกจากนี้กลุ่มเด็กและ เยาวชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.8 ระบุเธค /ผับ /สถานบันเทิง เป็นแหล่งแพร่ระบาดของยาเสพติดในปัจจุบัน รองลงมาร้อยละ 31.2 ระบุบริเวณ ใกล้เคียงกับชุมชนที่พักอาศัย ร้อยละ 30.8 ระบุโรงเรียน /สถานศึกษา ร้อยละ 29.7 ระบุในชุมชนที่พักอาศัย และร้อยละ 19.0 ระบุสถานที่ก่อ สร้าง ตามลำดับ

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวต่อว่า ผลวิจัยครั้งนี้ยืนยันให้เห็นชัดเจนว่า ปัญหายาเสพติดได้กลับฟื้นคืนชีพมารุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้น ในอดีต โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ดังนั้นจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่น่าจะเป็นองค์ประกอบใน การกลับมาของยาเสพติดในครั้งนี้ คือ

ประการแรก ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสังคมที่แก้ไขได้ยากอยู่แล้ว เมื่อเกิดขึ้นในสังคมชุมชนที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ย่อมทำให้ปัญหายาเสพ ติดกลายเป็นเป็นปัญหาสังคมที่แก้ไขได้ยากมากยิ่งขึ้น ถ้าขาดความต่อเนื่องเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นชุมชน ก็จะ ส่งผลให้ผลประโยชน์ไปตกอยู่กับขบวนการค้ายาเสพติดและเจ้าหน้าทื่รัฐที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ความเดือดร้อนไปตกอยู่ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ตัวเด็ก และ ประชาชนทั่วไป

ประการที่สอง การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถตอบสนองนโยบายได้เต็มที่ ครบวงจร และรวมเป็นเนื้อเดียวกับประชาชนในระดับ ชุมชนท้องถิ่นเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกันได้ มีการทำงานที่มุ่งเน้นแต่เรื่องปราบปรามอย่างเดียว จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหายาเสพติดและ อาชญากรรมได้อย่างยั่งยืน

ประการที่สาม การติดตามข้อมูลข่าวสาร หรือเบาะแสที่ได้รับจากประชาชน ของเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับท้องที่ในชุมชนยังไม่มีระบบติดตาม แก้ปัญหาแบบถอนรากถอนโคนให้หมดไปได้ รวมทั้งไม่มีความรวดเร็วฉับไวต่อการแจ้งข่าวสารของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ การทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐระดับท้องที่ในชุมชนของตนเอง

ประการที่สี่ การแก้ปัญหายาเสพติดในภาคประชาชนยังไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาสองถึงสามปีที่ผ่านมา เนื่อง จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแตกแยกของผู้คนในสังคม ส่งผลทำให้ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่มักจะเป็นแบบต่างคนต่างอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ของประชาชนในชุมชนกลับแย่และเลวร้าย ลงไปอีก ผลวิจัยของศูนย์วิจัยความสุขชุมชนที่ผ่านมาหลายครั้งสะท้อนให้เห็นว่า ความร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ปัญหายาเสพติดและปัญหา อาชญากรรมของภาคประชาชนมีน้อยมากจนถึงขั้นไม่ยอมช่วยเหลือกันเลย ส่งผลให้ปัญหายาเสพติดกลับมาเป็นปัญหาใหญ่ที่มีขบวนการค้าและอิทธิพลผล ประโยชน์เกินขอบเขตความสามารถของภาคประชาชนจะจัดการเองได้เพียงลำพัง

ดังนั้น แนวทางแก้ไขที่น่าจะเป็นไปได้ คือทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ควรมุ่งเน้นไปที่การทำให้ประชาชนรับรู้ เข้าใจ ตระหนัก ยึดมั่น ผูกพัน แก้ไขปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมในชุมชนร่วมกัน และกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐรวดเร็วฉับไวต่อการร้องเรียนแจ้งเบาะแสจากประชาชน ยิ่ง เจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนมีความใกล้ชิดใส่ใจต่อกันมากเท่าใด ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรมน่าจะลดลงได้ไม่ยากนัก

นอกจากนี้ รัฐบาลควรเน้นทรัพยากรและงบประมาณไปที่การบำบัดรักษาและฟื้นฟูคุณภาพประชาชนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและปัญหา อาชญากรรม ให้มีการศึกษาที่ดีมีอาชีพการงานสุจริตไม่ผิดต่อสังคมและผู้อื่น ชี้แนะให้ประชาชนรู้จักบริหารจัดการสุขภาพใจ สุขภาพกายของตนเอง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น มากกว่าการมุ่งเน้นทรัพยากรและงบประมาณไปที่การปราบปรามเพราะจะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน และต้องยก ปัญหายาเสพติดเป็น “วาระแห่งชาติ” อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำให้กลไกต่างๆ ของรัฐทั้งกระบวนการทำงานกันได้อย่างบูรณาการทุกหน่วยงานเชื่อมประสาน กับการหนุนเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนอย่างเป็นระบบทีมงานเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง

ลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 50.0 เป็นหญิง

ร้อยละ 50.0 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 33.0 อายุ 9-12 ปี

ร้อยละ 34.1 อายุ 13-15 ปี

และร้อยละ 32.9 อายุ 16-18 ปี

ตัวอย่าง ร้อยละ 32.4 ศึกษาในระดับประถมศึกษา

ร้อยละ 32.8 กำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

ร้อยละ 18.4 ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

ร้อยละ 12.5 ศึกษาในระดับปวช.

ในขณะที่ ร้อยละ 3.9 ระบุระดับการศึกษาอื่นๆ อาทิ ปวส. /อนุปริญญา/ ปริญญาตรี

และเมื่อสอบถามถึงการพักอาศัยในปัจจุบันนั้นพบว่า ร้อยละ 73.1 พักอาศัยอยู่กับพ่อและแม่

รองลงมาร้อยละ 9.7 พักอาศัยอยู่กับญาติผู้ใหญ่/ผู้ปกครอง

ร้อยละ 7.8 พักอาศัยอยู่กับแม่

ร้อยละ 3.9 พักอาศัยอยู่กับพ่อ

ร้อยละ 2.5 พักอาศัยกับเพื่อน/คนรู้จัก

3.0 ระบุอื่นๆ อาทิ พักอาศัยอยู่กับแฟน/คู่รัก /อยู่ตามลำพังคนเดียว

และพักอาศัยอยู่กับพี่/น้องตามลำดับ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ได้ทำในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          กิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ได้ทำในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา          ค่าร้อยละ
1          เล่นกีฬา                                                  86.6
2          อ่านหนังสือ/เข้าห้องสมุด                                      84.6
3          กิจกรรมทางศาสนา  ทำบุญ/บริจาคทาน                           84.6
4          ช็อปปิ้ง เที่ยวห้างสรรพสินค้า                                   81.6
5          ทำกิจกรรมเพื่อสังคมสาธารณะประโยชน์                           78.5
7          ท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ เช่น ทะเล                          68.5
8          ชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์                                    66.5
9          เล่นดนตรี                                                 62.9
10          ดูการแสดงดนตรี/คอนเสิร์ต                                   58.6
11          เรียนพิเศษ                                               55.3

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุกิจกรรมเชิงลบที่ทำในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          กิจกรรมเชิงลบที่ได้ทำในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา                ค่าร้อยละ
1          เล่นเกมคอมพิวเตอร์ /เกมกด/เกมเพลย์ (ที่ไม่ใช่เกมออนไลน์)         73.3
2          เที่ยวกลางคืน เช่น ผับ/ดิสโก้/คาราโอเกะ                        29.2
3          หนีเรียน/ไม่ไปเรียน                                         28.6
4          เล่นทายพนัน/เล่นหวย                                        24.4

ตารางที่ 3  แสดงผลประมาณการเด็กและแยาวชนที่มีประสบการณ์เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
 ประสบการณ์ของเด็กและเยาวชนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา            ผลประมาณการ (คน)
 เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา                    619,311

ผลประมาณการจากฐานข้อมูลจำนวนเด็กอายุระหว่าง 9-18 ปี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น

ชลบุรี และสงขลาจำนวนทั้งสิ้น 1,764,419 คน

ตารางที่ 4 แสดงผลประมาณการเด็กและแยาวชนที่มีประสบการณ์เคยใช้สิ่งเสพติดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

(ไม่นับรวม เหล้า บุหรี่ เบียร์ ไวน์ สปาย)

 ประสบการณ์ของเด็กและเยาวชนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา                                        ผลประมาณการ (คน)
 เคยใช้สิ่งเสพติดประเภทต่างๆ  (ไม่นับรวมเหล้า บุหรี่ เบียร์ ไวน์ และสปาย ) ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา          310,538

ผลประมาณการจากฐานข้อมูลจำนวนเด็กอายุระหว่าง 9-18 ปี ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี

และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,764,419 คน

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นเกี่ยวกับการกลับมาแพร่ระบาดของยาเสพติด
ลำดับที่          ความคิดเห็นเกี่ยวกับการกลับมาแพร่ระบาดของยาเสพติด          ร้อยละ
1          คิดว่ากลับมาแล้ว                                           59.2
2          คิดว่ายังไม่กลับมา                                           5.8
3          ไม่ทราบ                                                 35.0
          รวมทั้งสิ้น                                                100.0

ตารางที่ 6  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุแหล่งแพร่ระบาดยาเสพติดในปัจจุบัน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          แหล่งแพร่ระบาดยาเสพติดในปัจจุบัน                         ร้อยละ
1          เธค/ผับ/สถานบันเทิง                                       57.8
2          บริเวณใกล้เคียงกับชุมชนที่พักอาศัย                              31.2
3          โรงเรียน/สถานศึกษา                                       30.8
4          ในชุมชนที่พักอาศัย                                          29.7
5          สถานที่ก่อสร้าง                                            19.0
6          ที่ทำงาน                                                  5.2
7          อื่นๆ อาทิ บริเวณอาคารร้าง ที่สาธารณะ จุดลับตา/มืด ทะเล เป็นต้น     2.5

ตารางที่ 7  แสดงค่าอิทธิพลของปัจจัยที่มีผลต่อการใช้สิ่งเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน
ลำดับที่          ปัจจัยที่มีผลต่อการใช้ยเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน    Odds Ratio(95% C I)  ค่านัยสำคัญp-value
1          สูบบุหรี่
                    สูบบุหรี่                                        8.692
                    ไม่สูบ                                         อ้างอิง            0.000
2          การเล่นทายพนัน
                    เล่น                                          6.735
                    ไม่เล่น                                        อ้างอิง            0.000
3          ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ เหล้า เบียร์ ไวน์ สปาย
                    ดื่ม                                           4.080
                    ไม่ดื่ม                                         อ้างอิง            0.000
4          เที่ยวกลางคืน เช่น ผับ/ดิสโก้/คาราโอเกะ
                    เที่ยว                                         3.647
                    ไม่เที่ยว                                       อ้างอิง            0.000
5          การหนีเรียน
                    เล่น                                          2.743
                    ไม่เล่น                                        อ้างอิง            0.000

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ