เอแบคโพลล์: สำรวจความเครียดและทางออกในบรรยากาศขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน กับเสียงความต้องการของประชาชนที่อยากบอกคนไทยคนอื่นๆ ในประเทศ

ข่าวผลสำรวจ Monday March 8, 2010 07:21 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไวและประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง สำรวจความเครียดและทางออกในบรรยากาศขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน กับเสียงความต้องการของประชาชนที่อยากบอกคนไทยคนอื่นๆ ในประเทศ กรณีศึกษาประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู ระนอง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,394 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 5-6 มีนาคม 2553

ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.3 ที่รู้สึกเครียดต่อบรรยากาศขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาล กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มที่ไม่อยู่ฝ่ายใดหรือพลังเงียบนั้น พบว่า กลุ่มคนที่ไม่อยู่ฝ่ายใด หรือพลังเงียบจะมีจำนวนคนที่ไม่เครียดเลยมากที่สุดคือร้อยละ 35.7 ในขณะที่กลุ่มประชาชนที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลมีจำนวนคนที่เครียดค่อนข้างมากถึงเครียดมาก มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ คือร้อยละ 54.0 ต่อร้อยละ 41.2 ของกลุ่มสนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 35.9 ของกลุ่มพลังเงียบ ส่วนที่เหลือจะมีความเครียดค่อนข้างน้อย ถึงเครียดน้อยกระจายกันออกไปตามกลุ่มต่างๆ ในการสำรวจครั้งนี้

ผลสำรวจพบด้วยว่า 10 อันดับแรกของวิธีที่ใช้ในการลดความเครียดในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้คือ อันดับแรก หรือร้อยละ 83.5 คือ พยายามไม่ยึดติดกับกลุ่มการเมืองใดๆ อันดับสองหรือร้อยละ 83.1 ปล่อยวาง ยอมรับสภาพความเป็นจริง อันดับสามหรือร้อยละ 79.6 หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง อันดับที่สี่หรือร้อยละ 71.2 ลด งดพูดคุยเรื่องการเมืองกับคนอื่น และอันดับที่ห้าหรือร้อยละ 68.6 ลด งดติดตามข่าวสารทางการเมืองทางสื่อต่างๆ ส่วนรองๆ ลงไปคือ ติดตามรายการบันเทิงคลายเครียดให้มากขึ้น พูดคุยปรึกษาปัญหาความเครียดกับคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หาที่พึ่งทางศาสนา ฝึกสมาธิ และเลือกติดตามข่าวสารเฉพาะสื่อที่อยู่ฝ่ายเดียวกับตนเอง

ส่วน 10 อันดับวิธีใช้ในการแสวงหาความสุข ในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองขณะนี้ อันดับแรกคือ ร้อยละ 37.7 ดูหนัง ฟังเพลง รองลงไปอันดับสองหรือร้อยละ 26.7 เล่นกีฬา ออกกำลังกาย อันดับที่สามหรือร้อยละ 21.6 คือ พูดคุยสังสรรค์ และรองๆ ลงไปคือ พักผ่อนนอนหลับ เข้าวัดฟังธรรม เดินทางท่องเที่ยว อ่านหนังสือ ปลูกต้นไม้ บริจาค ทำบุญ เดินห้าง ช้อปปิ้ง ตามลำดับ

นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือ 5 อันดับแรก ของสิ่งที่อยากบอกกับคนไทยคนอื่นๆ ในประเทศคือ อันดับแรกหรือร้อยละ 86.2 อยากเห็นความสงบสุข กลับคืนมาโดยเร็ว อันดับที่สองหรือร้อยละ 81.0 อยากเห็นคนไทยรักกัน อันดับที่สามหรือร้อยละ 75.6 อยากให้เลิกทะเลาะกัน อันดับที่สี่ หรือร้อยละ 71.1 อยากให้ใช้เหตุใช้ผลแก้ปัญหา มากกว่า อารมณ์โกรธแค้นกัน และอันดับที่ห้าหรือร้อยละ 68.9 อยากให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กและเยาวชน ตามลำดับ

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า จากผลสำรวจครั้งนี้ น่าเป็นห่วงและควรเฝ้าระวังกลุ่มคนที่เครียดค่อนข้างมาก ถึงเครียดมากในทุกกลุ่มเพราะความเดือดร้อนในชีวิตประจำวันของประชาชนมีมากอยู่แล้ว เมื่อปมขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นก็ง่ายต่อการทำให้ประชาชนเกิดความเครียดเพิ่มขึ้นไปอีก โดยมีกระแสข้อมูลข่าวสารที่เลือกข้างเป็นตัวเร่งปลุกปั่นปรุงแต่งอารมณ์ความรู้สึกให้รักและเกลียดเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนคนไทย จนบัดนี้อาจพัฒนาไปสู่ “พฤติกรรมร่วมหมู่” ที่ใช้ความรุนแรงโดยไม่ฟังเสียงเตือนจากใครทั้งสิ้นแม้แต่คนใกล้ชิด ผลที่ตามมาคือประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ในสังคมก็อาจจะเสียหายเดือดร้อนหนักไม่แตกต่างไปจาก ชาวเฮติ และประชาชนในประเทศชิลีที่ถูก “ภัยธรรมชาติ” เป็นผู้กระทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน แต่สำหรับประเทศไทยกลับกลายเป็นว่า “คนไทยด้วยกันเอง” เป็นผู้กระทำให้เกิดการสูญเสีย เข้าลักษณะที่ชาวต่างชาติกำลังมองว่า คนไทยกำลังเป็นทุกข์เพราะทำตัวเองให้เป็นทุกข์ ประชาชนคนไทยเดือดร้อนอยู่ก็เพราะทำตัวเองให้เดือดร้อน

“ทางออกคือ สังคมไทยเป็นสังคมแห่งพระศาสนาที่หาทางพ้นทุกข์ได้ไม่ยากนัก จึงควรหากิจกรรมหล่อหลอมจิตใจคนไทยเป็นหนึ่ง โดยเลิกปรุงแต่งอารมณ์ เลิกหมกมุ่นกับข้อมูลข่าวสาร วางจิตใจให้เป็นกลาง ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก แต่ควรรวมตัวกันตรวจสอบปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในกลุ่มนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเข้มข้น ไม่เต้นไปตามแรงยั่วยุ แต่หันมาทำกิจกรรมเชื่อมประสานความรักความเกื้อกูลต่อกันของคนไทยในแต่ละชุมชนและในที่สาธารณะ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ช่วยกันสอดส่องดูแลความปลอดภัยควบคู่ไปด้วย” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 54.7 เป็นหญิง

ร้อยละ 45.3 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 5.6 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 23.8 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 24.7 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 25.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 75.0 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

รองลงมาคือร้อยละ 23.9 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 1.1 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 30.7 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 27.2 ระบุอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ

ร้อยละ 14.6 ระบุอาชีพลูกจ้าง/พนักงานบริษัท

ร้อยละ 12.3 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 7.3 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 5.3 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา

และร้อยละ 2.6 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้สึกเครียดต่อบรรยากาศขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน
ลำดับที่          ความรู้สึกเครียดต่อบรรยากาศขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน               ค่าร้อยละ
1          เครียด                                                            67.3
2          ไม่เครียดเลย                                                       32.7
          รวมทั้งสิ้น                                                          100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความรู้สึกเครียดต่อบรรยากาศขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน (จำแนกตามจุดยืนการเมือง)
ลำดับที่          ความรู้สึกเครียดต่อบรรยากาศขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน   จุดยืนทางการเมือง   สนับสนุนรัฐบาล  ไม่สนับสนุนรัฐบาล          ไม่อยู่ฝ่ายใด (พลังเงียบ)
1          เครียดค่อนข้างมาก ถึง เครียดมาก                              41.2          54.0           35.9
2          ค่อนข้างน้อย ถึงเครียดน้อย                                    30.7          21.8           28.4
3          ไม่เครียดเลย                                              28.1          24.2           35.7
          รวมทั้งสิ้น                                                 100.0         100.0          100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละ 10 อันดับ วิธีการลดความเครียดจากบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน
(เฉพาะตัวอย่างที่รู้สึกเครียดต่อบรรยากาศทางการเมืองในปัจจุบัน และตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          วิธีที่ใช้ในการลดความเครียด                              ค่าร้อยละ
1          พยายามไม่ยึดติดกับกลุ่มการเมืองใดๆ                             83.5
2          ปล่อยวาง ยอมรับสภาพความเป็นจริง                             83.1
3          หลีกเลี่ยงการเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง                       79.6
4          ลด/งด พูดคุยเรื่องการเมืองกับคนอื่น                             71.2
5          ลด/งดติดตามข่าวสารการเมืองทางสื่อต่างๆ                        68.6
6          ติดตามรายการบันเทิงคลายเครียดมากขึ้น                          67.6
7          พูดคุยปรึกษาปัญหาความเครียดกับคนในครอบครัว/คนใกล้ชิด             54.2
8          หาที่พึ่งทางศาสนา                                           52.0
9          ฝึกสมาธิ                                                  41.7
10          เลือกติดตามข่าวสารเฉพาะสื่อที่อยู่ฝ่ายเดียวกับตัวเอง                33.2

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ 10 อันดับวิธีที่ใช้เพื่อแสวงหาความสุข ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          วิธีที่ใช้เพื่อแสวงหาความสุข ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน       ค่าร้อยละ
1          ดูหนัง ฟังเพลง                                             37.7
2          เล่นกีฬา/ออกกำลังกาย                                       26.7
3          พูดคุยสังสรรค์                                              21.6
4          พักผ่อนนอนหลับ                                             19.8
5          เข้าวัด ฟังธรรม                                            18.3
6          เดินทางท่องเที่ยว                                           13.8
7          อ่านหนังสือ                                                11.9
8          ปลูกต้นไม้                                                 11.7
9          บริจาค/ทำบุญ                                              11.3
10          เดินห้าง/ช้อปปิ้ง                                           11.3

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ 5 อันดับแรกของสิ่งที่อยากบอกกับคนไทยคนอื่นๆ ในประเทศ
ลำดับที่          5 อันดับแรก ของสิ่งที่อยากบอกกับคนไทยคนอื่นๆ ในประเทศ          ค่าร้อยละ
1          อยากเห็นความสงบสุข กลับคืนมาโดยเร็ว                              86.2
2          อยากเห็นคนไทยรักกัน                                            81.0
3          อยากให้เลิกทะเลาะกัน                                           75.6
4          อยากให้ใช้เหตุใช้ผลแก้ปัญหา มากกว่าอารมณ์โกรธแค้นกัน                  71.1
5          อยากให้เป็นตัวอย่างที่ดีแก่เด็กๆ และเยาวชน                           68.9

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ