เอแบคโพลล์: ศึกษาปัจจัยที่มีผลทำให้กลุ่มพลังเงียบมีความสุขในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง

ข่าวผลสำรวจ Monday March 15, 2010 07:48 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า จากการวิจัยก่อนหน้านี้หลายครั้งพบว่า กลุ่มคน ส่วนใหญ่ของประเทศเป็นกลุ่มที่ต้องการอยู่ตรงกลาง เป็นพลังเงียบ ไม่ต้องการอยู่ฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน จึงเล็ง เห็นว่า กลุ่มพลังเงียบจะเป็นตัวแปรสำคัญในทางการเมือง เพราะกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลและไม่สนับสนุนรัฐบาลขณะนี้มีจำนวนพอๆ กัน คณะผู้วิจัยจึงมุ่งทำ การศึกษาวิเคราะห์ประชาชนกลุ่มพลังเงียบนี้เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยของประเทศ

โดยเป็นการศึกษาวิจัยแบบ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่ม เชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไว จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่าย คอมพิวเตอร์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง ศึกษาปัจจัยที่มีผลทำให้กลุ่มพลังเงียบมีความสุขในช่วงการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง กรณีศึกษาตัวอย่าง ประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู ระนอง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,877 ตัวอย่าง ดำเนิน โครงการระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2553 ผลการสำรวจพบว่า

หลังจากวิเคราะห์ค่าสถิติวิจัยความสุขของคนไทยแล้วพบว่า กลุ่มปัจจัยที่มีผลค่อนข้างมากต่อความสุขของคนไทย มีค่าอยู่ที่ 0.60 จากค่า คะแนนเต็ม 1 โดยมีปัจจัยสำคัญเรียงลำดับได้ดังนี้ ปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่ทำให้คนไทยมีความสุขคือ สภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน เรื่องปากท้อง การกินการอยู่ในครอบครัว รองลงไปอันดับที่สอง คือ สุขภาพใจที่ดี และที่น่าพิจารณาคือ ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากในอันดับที่สาม ได้แก่ ความเป็นธรรมใน สังคม ความเป็นมาตรฐานเดียวกัน

ส่วนปัจจัยสำคัญอันดับรองๆ ลงไป ได้แก่ การนอนหลับได้สนิทเพียงพอ สุขภาพกายที่ดี บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน หน้าที่การ งาน การประกอบอาชีพ บรรรยากาศทางการเมือง ระบบการศึกษาที่ดี และการยึดมั่นปฏิบัติตามหลักศาสนา

ดร.นพดล กล่าวว่า ผลวิเคราะห์ทางสถิตินี้ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐกำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สังคมไทยอยู่รอด คืนสู่สภาวะปกติได้ ถ้าทำให้สภาวะเศรษฐกิจไปได้ดีในระดับครัวเรือนของประชาชน ไม่ใช่สภาวะเศรษฐกิจที่ดูดีในระดับประเทศเช่น การนำเข้า ส่ง ออก หรือธุรกิจอื่นๆ ระดับภาพรวมส่วนบนเพียงอย่างเดียว และที่สำคัญอย่างยิ่งคือ “ความเป็นธรรมในสังคม” ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันต้องให้เกิดขึ้น เด่นชัดในประเทศ โอกาสช่วงการแสดงพลังของกลุ่มประชาชนครั้งนี้จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่ฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐควรประกาศให้ ความเป็นธรรมในสังคมและความเป็นมาตรฐานเดียวกัน เป็นวาระแห่งชาติ ให้สามารถหล่อหลอมคนไทยที่หลากหลายรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยพบว่า ในช่วงเวลาแห่งการชุมนุมนี้ คนไทยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.1 กำลังมีความสุขจากการปฏิบัติธรรม มาเป็น อันดับที่1 ด้วยการพูด การอธิษฐาน การทำบุญ การอ่านหนังสือธรรมะ อันดับสอง คือ ร้อยละ 74.0 กำลังมีความสุขกับการดูแลเอาใจใส่สุขภาพ กายของตนเอง อันดับสามคือ ร้อยละ 65.1 สุขกับการดูแลสุขภาพใจ ร้อยละ 64.3 มีความสุขต่อการมุ่งรักษาบรรยากาศความสัมพันธ์ที่ดีของคนใน ชุมชน โดยไม่คุยกันเรื่องการเมือง ช่วยกันแก้ปัญหาชุมชน เป็นต้น ส่วนรองๆ ลงไปคือ ความพอใจต่อหน้าที่การงาน การประกอบอาชีพ และความสุข ต่อระบบการศึกษา

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ มีประชาชนประมาณครึ่งต่อครึ่งที่กำลังนอนไม่ค่อยหลับสนิท อีกครึ่งหนึ่งนอนได้หลับสนิทเพียงพอ และไม่ถึงครึ่งหรือร้อย ละ 44.6 ที่มีความสุขต่อสภาวะเศรษฐกิจครัวเรือนขณะนี้ อย่างไรก็ตามเพียงร้อยละ 25.1 มีความสุขต่อความเป็นธรรมในสังคม ความเป็นมาตรฐาน เดียวกัน และร้อยละ 11.7 เท่านั้นที่มีความสุขต่อบรรยากาศทางการเมืองในขณะนี้ ดังนั้นทุกฝ่ายจะสามารถช่วยทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีความ สุขเพิ่มมากขึ้นถ้าเคลื่อนไหวทางการเมืองเชิงสร้างสรรค์และอยู่ในความสงบเรียบร้อยตามระบอบประชาธิปไตยที่ไม่ใช้ความรุนแรง

ส่วนความในใจที่อยากบอกกับกลุ่มประชาชนที่กำลังชุมนุมขณะนี้ โดยพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.7 ขอให้ชุมนุมโดยสันติวิธี ไม่ใช้ความ รุนแรง ร้อยละ 80.9 กำลังวิตกกังวลว่าจะวุ่นวาย มากกว่าปีที่แล้ว ร้อยละ 78.5 ขอให้ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความ เรียบร้อย ร้อยละ 76.1 ขอให้เคารพกฎหมาย และร้อยละ 73.3 ฝากช่วยรณรงค์ให้คนไทยรักกัน ไม่ทำร้ายกัน

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 42.1 เป็นชาย

ร้อยละ 57.9 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 6.4 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 23.9 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 20.3 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 24.6 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 24.8 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 77.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 20.1 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 2.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 30.0 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 25.4 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 17.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 11.8 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 7.4 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 5.6 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ในขณะที่ร้อยละ 2.2 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าวิเคราะห์สถิติวิจัยที่ระบุปัจจัยที่มีผลต่อความสุขของกลุ่มประชาชนพลังเงียบ ที่เป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ เรียงลำดับดังนี้
อันดับที่          ปัจจัยสำคัญ                                                    ค่าสถิติ
1          สภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน                                        R = .600
2          สุขภาพใจที่ดี                                        หมายความว่าปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อความสุขของคนไทย
3          ความเป็นธรรมในสังคม ความเป็นมาตรฐานเดียวกัน           กลุ่มพลังเงียบค่อนข้างมาก
4          การนอนหลับได้สนิทเพียงพอ
5          สุขภาพกายที่ดี                                       Adjusted R Square = .356
6          บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน                     หมายความว่า ความสุขของคนไทยถูกอธิบายด้วยตัวแปร
7          หน้าที่การงาน การประกอบอาชีพ                         เหล่านี้อยู่ร้อยละ 35.6
8          บรรยากาศทางการเมืองที่ดี
9          ระบบการศึกษาที่ดี
10         การยึดมั่นปฏิบัติตามหลักศาสนา

ตารางที่ 2  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความสุขที่มีต่อปัจจัยต่างๆ  ระดับมากถึงมากที่สุด
ลำดับที่          ความสุขต่อปัจจัยต่างๆ                              ค่าร้อยละ
1          ความสุขต่อการปฏิบัติธรรม                                 81.1
2          สุขภาพกาย                                            74.0
3          สุขภาพใจ                                             65.1
4          บรรยากาศความสัมพันธ์ของคนในชุมชน                        64.3
5          พอใจต่อหน้าที่การงาน การประกอบอาชีพ                      61.5
6          ระบบการศึกษา                                         60.2
7          การนอนหลับได้สนิทเพียงพอ                                51.3
8          ความสุขต่อ สภาวะเศรษฐกิจระดับครัวเรือน                    44.6
9          ความเป็นธรรมในสังคม เป็นมาตรฐานเดียวกัน                  25.1
10          สุขต่อบรรยากาศทางการเมือง                             11.7

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความในใจที่อยากบอกกลุ่มผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง
ลำดับที่          ความในใจ                                                 ค่าร้อยละ
1          ขอให้ชุมนุมโดยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง                                 82.7
2          วิตก กังวล ว่า จะวุ่นวาย มากกว่า ปีที่แล้ว                               80.9
3          ขอให้ร่วมมือกับ เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย          78.5
4          ขอให้เคารพ กฎหมาย                                               76.1
5          ฝากช่วยรณรงค์ให้คนไทยรักกัน ไม่ทำร้ายกัน                               73.3

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ