เอแบคโพลล์: สำรวจความหวังของประชาชนต่อแนวทางสันติวิธีในการชุมนุมทางการเมือง ของประชาชน

ข่าวผลสำรวจ Monday March 22, 2010 07:31 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไว จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ เรื่อง สำรวจความหวังของประชาชนต่อแนวทางสันติวิธีในการชุมนุมทางการเมือง ของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู ระนอง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,082 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 20 มีนาคม 2553 ผลการสำรวจพบว่า

ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.2 ติดตามข่าวการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 หรือร้อยละ 89.3 ต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมและรัฐบาลจับมือเจรจากันเพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศและประชาชน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64.2 คิดว่าการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงแสดงออกถึงความเข้มแข็งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย

โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.4 ระบุไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ รัฐประหาร แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.6 เห็นด้วยกับการจะยกวาระ “ความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นมาตรฐานเดียวกัน” ขึ้นเป็นวาระสำคัญในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

ที่น่าสนใจคือ ในท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรงทางการเมืองขณะนี้ ผลสำรวจกลับพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 84.5 ยังคงพบเห็นความมีน้ำใจไมตรีต่อกันในกลุ่มประชาชนที่มีฐานะแตกต่างกัน และร้อยละ 80.6 ยังคงมีความหวังว่าประเทศไทยจะมีทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี

ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกศึกษาใน 17 จังหวัดของประเทศ ระบุชัดเจนว่าการชุมนุมของกลุ่มประชาชนทางการเมืองเป็นการแสดงถึงความเข้มแข็งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย และไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ รัฐประหาร แต่ที่สำคัญคือ การออกมาชุมนุมของประชาชนครั้งนี้ต้องมีประโยชน์ถึงขั้นที่รัฐบาลต้องใส่ใจต่อข้อเรียกร้องหลายข้อที่สำคัญและที่สะท้อนออกมาในผลสำรวจครั้งนี้คือ “ความเป็นธรรมในสังคม และความเป็นมาตรฐานเดียวกัน” ซึ่งท่าทีของรัฐบาลไม่ควรมีเพียง “รอเวลาให้กลุ่มผู้ชุมนุมกลับไป” และทุกอย่างเหมือนเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้ก็จะส่งผลเสียต่อระบบของสังคมในอนาคตได้ กลุ่มผู้ชุมนุมจึงควรทำให้การชุมนุมครั้งนี้สำเร็จลงได้ด้วย “สัญญาประชาคม” จากรัฐบาลว่าจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์และดีขึ้นต่อสาธารณชนคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ และผลที่ตามมาคือ เสียงสนับสนุนของประชาชนต่อกลุ่มคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย และรัฐบาล นั่นคือ การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยสู่สิ่งที่ดีกว่าโดยไม่มีการสูญเสีย ไม่มีความรุนแรง และทุกฝ่ายก็ได้รับชัยชนะ

“สำหรับความเข้าใจในกลุ่มผู้ชุมนุมว่า เอแบคโพลล์ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมือง พวกเราขอชี้แจงต่อสาธารณชนทราบว่า ทุกคนที่สำนักวิจัยฯ ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ กับฝ่ายการเมือง ผลสำรวจโพลล์ทำขึ้นเพื่อให้โอกาสกับคนที่มีความหลากหลายในสถานภาพทางสังคม หลากหลายในฐานะทางเศรษฐกิจ และทุกจุดยืนทางการเมืองมีเสียงสะท้อนผ่านทางผลโพลล์ตามหลักวิชาการทุกประการ เพราะถ้าพวกเราไม่ทำโพลล์ ผลที่ตามมาคือสังคมไทยก็จะถูกชี้นำจากกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น พวกเราขอประกาศย้ำอีกว่า พวกเราไม่มีอนาคตทางการเมือง และจะซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพของการเป็นนักวิจัยตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่” ดร.นพดล กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง

ร้อยละ 47.4 เป็นชาย

ตัวอย่าง ร้อยละ 5.0 อายุต่ำกว่า 20 ปี

ร้อยละ 23.2 อายุ 20 — 29 ปี

ร้อยละ 22.1 อายุ 30 — 39 ปี

ร้อยละ 26.6 อายุ 40 — 49 ปี

และร้อยละ 23.1 อายุ 50 ปีขึ้นไป

โดยตัวอย่าง ร้อยละ 31.6 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 23.3 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 19.3 ระบุอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน

ร้อยละ 12.4 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 4.9 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 4.7 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ในขณะที่ ร้อยละ 3.8 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

นอกจากนี้ ร้อยละ 77.6 มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 20.0 มีการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 2.4 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีขึ้นไป

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง          ค่าร้อยละ
1          ติดตาม                                                  82.2
2          ไม่ได้ติดตาม                                              17.8
          รวมทั้งสิ้น                                                100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมจับมือกับรัฐบาลช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชน
ลำดับที่          ความต้องการ                                                   ค่าร้อยละ
1          ต้องการให้กลุ่มผู้ชุมนุมจับมือกับรัฐบาลช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศและประชาชน        89.3
2          ไม่ต้องการเช่นนั้น                                                      10.7
          รวมทั้งสิ้น                                                            100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงกับการแสดงออก
ถึงความเข้มแข็งของประชาชนตามระบอบ ประชาธิปไตย
ลำดับที่          ความคิดเห็น                                                                          ค่าร้อยละ
1          คิดว่าการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงแสดงออกถึงความเข้มแข็งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย       64.2
2          คิดว่า ไม่ใช่                                                                                35.8
          รวมทั้งสิ้น                                                                                  100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อ การปฏิวัติ รัฐประหาร
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อ การปฏิวัติ รัฐประหาร            ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                                        23.6
2          ไม่เห็นด้วย                                      76.4
          รวมทั้งสิ้น                                       100.0

ตารางที่ 5  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อ การยกวาระ “ความเป็นธรรมทางสังคม ความเป็นมาตรฐานเดียวกัน”

ขึ้นเป็นวาระสำคัญในการแก้ไขปัญหาของประเทศ

ลำดับที่          ความคิดเห็น           ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                    88.6
2          ไม่เห็นด้วย                  11.4
          รวมทั้งสิ้น                   100.0

ตารางที่ 6  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา คุณยังคงพบเห็นประชาชนแสดงความมีน้ำใจไมตรีต่อกัน

ในกลุ่มประชาชนที่มีฐานะแตกต่าง

ลำดับที่          ความคิดเห็น           ค่าร้อยละ
1          ยังคงพบเห็นอยู่               84.5
2          ไม่เห็นอีกแล้ว                15.5
          รวมทั้งสิ้น                   100.0

ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคาดหวังว่าประเทศไทยจะมีทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
ลำดับที่          ความคาดหวังว่าประเทศไทยจะมีทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี      ค่าร้อยละ
1          ยังมีความหวัง                                                      80.6
2          ไม่มีความหวังแล้ว                                                   19.4
          รวมทั้งสิ้น                                                         100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ