สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจ “เอแบคเรียลไทม์โพลล์ (Real-Time Survey)” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไวภายในระยะเวลาประมาณ 10 ชั่วโมง จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง ความคิดเห็นต่อการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปทุมธานี เพชรบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู พัทลุง ระนอง และ สุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,647 ครัวเรือน ดำเนินการสำรวจในวันที่ 8 เมษายน 2553 ประเด็นสำคัญที่พบมีดังนี้
ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ตัวอย่างสูงถึงร้อยละ 71.3 ติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกวัน/เกือบทุกวัน โดยมีเพียงร้อยละ 8.8 ที่ติดตามเป็นบางสัปดาห์ และร้อยละ 5.0 ที่ไม่ได้ติดตามเลย ซึ่งแสดงถึงความตื่นตัวของประชาชนต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน เมื่อสอบถามมุมมองต่อการชุมนุมทางการเมืองโดยทั่วไป พบว่าตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.8 เห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ขณะที่ร้อยละ 25.8 เห็นว่าไม่ใช่ และร้อยละ 12.4 ไม่แน่ใจ
เมื่อให้ตัวอย่างพิจารณาถึงผลดีของการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า 3 อันดับแรกได้แก่ ทำให้ประชาชนมีความสนใจต่อการเมืองมากขึ้น (ร้อยละ 63.0) ทำให้นักการเมืองรับฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น (ร้อยละ 59.4) และทำให้การบริหารบ้านเมืองมีความโปร่งใสมากขึ้น (ร้อยละ 58.8) ตามลำดับ ในทางกลับกันเมื่อพิจารณาถึงผลเสียที่เกิดขึ้น พบว่า 3 อันดับแรกได้แก่ กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ (ร้อยละ 90.0) เกิดความขัดแย้งทางสังคม (ร้อยละ 89.9) และเสียภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ (ร้อยละ 85.2) ตามลำดับ
สำหรับการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อสอบถามความคิดเห็นต่อสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาชุมนุม พบว่าตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 53.5 เห็นว่าเป็นเกมแย่งชิงอำนาจทางการเมือง รองลงมาร้อยละ 16.7 เห็นว่าเพราะมีความไม่เป็นธรรมทางสังคม เกิดสองมาตรฐาน และร้อยละ 15.0 เห็นว่าเพราะไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล นอกจากนี้ยังพบบางส่วนที่ระบุเพราะคิดว่ารัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย คนจนถูกเอารัดเอาเปรียบ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผลประโยชน์ส่วนตัว และยึดติดตัวบุคคล เป็นต้น
การสำรวจครั้งนี้ยังพบประเด็นที่น่าสนใจคือ ตัวอย่างร้อยละ 41.2 อยากให้การชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความแตกแยกของคนในชาติ รองลงมาร้อยละ 16.0 อยากให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และร้อยละ 15.2 อยากให้นำไปสู่การแก้ไขความไม่เป็นธรรมในสังคม อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 60.0 เห็นว่าประชาชนจะได้ประโยชน์น้อยจนถึงไม่ได้อะไรเลยจากการชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ ขณะที่ร้อยละ 20.9 เห็นว่าจะได้ประโยชน์บ้างปานกลาง และร้อยละ 19.1 เห็นว่าจะได้ประโยชน์มากถึงมากที่สุด
ผ.อ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า จากการวิจัยทั้งในอดีตและครั้งล่าสุดนี้ชี้ให้เห็นว่า การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านบรรดาแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมมักจะประสบความสำเร็จในการนำประชาชนออกมาได้จำนวนมาก แต่มักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จที่จะบรรลุเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ หรือเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายสาธารณะแก้ปัญหาสำคัญของประชาชนได้ จะเห็นได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่มองเห็นผลเสียของการชุมนุมมีจำนวนมากกว่ากลุ่มที่มองเห็นผลดีที่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับ การแสดงออกทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการชุมนุมในอนาคตจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและเสียงสะท้อนความรู้สึกของประชาชน เช่น จะต้องเคลื่อนไหวเชิงสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การลดความแตกแยกของคนในชาติ นำไปสู่ความเป็นธรรมในสังคม นำไปสู่การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน แต่ผลสำรวจล่าสุด ประชาชนเกินครึ่งมองว่าการเคลื่อนไหวชุมนุมเป็นเพียงเกมแย่งชิงอำนาจทางการเมือง ดังนั้น สาธารณชนส่วนใหญ่ของประเทศจึงไม่ให้การสนับสนุนการชุมนุมที่นำไปสู่ความวุ่นวายและไม่ทำให้เกิดผลประโยชน์ต่อความดีส่วนรวมของประชาชนทั้งประเทศ
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า
ตัวอย่าง ร้อยละ 54.3 เป็นหญิง
ร้อยละ 45.7 เป็นชาย
ตัวอย่าง ร้อยละ 9.9อายุต่ำกว่า 20 ปี
ร้อยละ 11.1อายุระหว่าง 20 — 29 ปี
ร้อยละ 16.4 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี
ร้อยละ 21.2 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี
และร้อยละ 41.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป
ตัวอย่าง ร้อยละ 65.3 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี
รองลงมาคือร้อยละ 30.2 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
และร้อยละ 4.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 31.3 ระบุอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ
ร้อยละ 20.8 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ
ร้อยละ 14.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป
ร้อยละ 11.4 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา
ร้อยละ 10.8 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 7.2ระบุอาชีพลูกจ้าง/พนักงานบริษัท
และร้อยละ 4.3 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ
โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญที่ค้นพบในตารางต่อไปนี้
ลำดับที่ ความถี่ในการติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน ค่าร้อยละ 1 ทุกวัน/เกือบทุกวัน 71.3 2 3-4 วันต่อสัปดาห์ 9.1 3 1-2 วันต่อสัปดาห์ 5.8 4 ติดตามเป็นบางสัปดาห์ 8.8 5 ไม่ได้ติดตามเลย 5.0 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ใช่ 61.8 2 ไม่ใช่ 25.8 3 ไม่แน่ใจ 12.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุผลดีของการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในระยะ 5 ปีที่ ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ ผลดีของการชุมนุมทางการเมือง ค่าร้อยละ 1 ทำให้ประชาชนมีความสนใจต่อการเมืองมากขึ้น 63.0 2 ทำให้นักการเมืองรับฟังเสียงของประชาชนมากขึ้น 59.4 3 ทำให้การบริหารบ้านเมืองมีความโปร่งใสมากขึ้น 58.8 4 พัฒนาการเมืองภาคประชาชน 57.7 5 ส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย 56.4 6 ส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม 55.4 7 ทำให้ประชาชนมีจิตใจเสียสละเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น 55.3 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุผลเสียของการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ในระยะ 5 ปีที่ ผ่านมา (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ) ลำดับที่ ผลเสียของการชุมนุมทางการเมือง ค่าร้อยละ 1 กระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ 90.0 2 เกิดความขัดแย้งทางสังคม 89.9 3 เสียภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวต่างชาติ 85.2 4 กระทบต่อการแก้ปัญหาสังคมต่างๆ 81.5 5 นำไปสู่การใช้ความรุนแรงต่อกัน 79.9 6 ทำให้ประชาชนเบื่อหน่ายการเมืองมากขึ้น 78.2 7 เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย 70.5 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อสาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน ลำดับที่ สาเหตุสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงออกมาชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน ค่าร้อยละ 1 เป็นเกมแย่งชิงอำนาจทางการเมือง 53.5 2 มีความไม่เป็นธรรมทางสังคม 16.7 3 ไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาล 15.0 4 คิดว่ารัฐบาลไม่เป็นประชาธิปไตย 7.0 5 คนจนถูกเอารัดเอาเปรียบ 2.5 6 อื่นๆ อาทิ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีผลประโยชน์ส่วนตัว ยึดติดตัวบุคคล 5.3 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุปัญหาที่อยากให้การชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ นำไปสู่การแก้ไขมากที่สุด ลำดับที่ ปัญหาที่อยากให้การชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ นำไปสู่การแก้ไข ค่าร้อยละ 1 ความแตกแยกของคนในชาติ 41.2 2 ทุจริตคอรัปชั่น 16.0 3 ความไม่เป็นธรรมในสังคม 15.2 4 ปัญหาเศรษฐกิจ 13.0 5 ยาเสพติดและอาชญากรรม 4.4 6 ภัยแล้ง 2.0 7 ปัญหาคุณภาพเด็กและเยาวชน 1.4 8 อื่นๆ อาทิ การบิดเบือนข่าวสาร ระบบอุปถัมภ์ พัฒนาจิตใจ 6.8 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 7 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุประโยชน์ที่ประชาชนจะรับจากการชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ ลำดับที่ ประโยชน์ที่ประชาชนจะรับจากการชุมนุมทางการเมืองในครั้งนี้ ค่าร้อยละ 1 มาก ถึง มากที่สุด 19.1 2 ปานกลาง 20.9 3 น้อย ถึง ไม่ได้ประโยชน์เลย 60.0 รวมทั้งสิ้น 100.0 --เอแบคโพลล์-- -พห-