เอแบคโพลล์: เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน

ข่าวผลสำรวจ Monday April 12, 2010 08:48 —เอแบคโพลล์

          ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์    มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” ที่เป็นการสำรวจจากครัวเรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้อย่างรวดเร็วฉับไว จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง เสียงสะท้อนของสาธารณชนต่อสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร   แพร่    กำแพงเพชร    เชียงใหม่  ปราจีนบุรี  ประจวบคีรีขันธ์  สระแก้ว  พระนครศรีอยุธยา  ชลบุรี  หนองบัวลำภู  ยโสธร  หนองคาย  มหาสารคาม ขอนแก่น  นครราชสีมา  ชุมพร  และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,124 ตัวอย่าง  ดำเนินโครงการในวันที่ 10 เมษายน  2553 ผลการสำรวจพบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่ที่ถูกศึกษาร้อยละ 67.4 ติดตามข่าวการชุมนุมทุกวันหรือเกือบทุกวัน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.0 กำลังมีความทุกข์ใจมากถึงมากที่สุดที่เห็นเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.8 อยากเห็นการเปิดเจรจาครั้งที่ 3 ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม โดยของขวัญวันสงกรานต์หรือการขึ้นปีใหม่ของไทยที่อยากได้จากการเจรจา คือ อันดับแรกหรือร้อยละ 93.4 อยากได้ความสงบสุขของบ้านเมือง รองลงมาคือร้อยละ 84.0 อยากได้ความเป็นธรรมในสังคม ร้อยละ 82.2 อยากได้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ร้อยละ 78.1 อยากได้ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 75.2 อยากให้ช่วยกันแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่น และการรีดไถข่มขู่ ร้อยละ 64.4 อยากให้ช่วยกันแก้ปัญหายาเสพติด และอื่นๆ เช่น การดูแลรักษาคุณภาพเด็กและเยาวชน คนชรา สูงอายุ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรง เป็นต้น

ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า ผลสำรวจชี้ชัดว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องการความสงบสุข และความเป็นธรรมในสังคม โดยไม่มีหลายมาตรฐาน กลุ่มผู้ชุมนุมและรัฐบาลน่าจะเจรจากันและนำไปสู่แนวทางที่สาธารณชนเห็นได้ชัดเจนว่า สิ่งที่เจรจากันนั้นสามารถสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้ว่า ความเสียสละทั้งของเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนผู้ชุมนุมในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของไทย หรือช่วงเข้าสู่สงกรานต์ปีนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยในทิศทางที่ดีขึ้น

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 47.0 เป็นชาย ร้อยละ 53.0 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 10.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 22.3 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี ร้อยละ 18.3 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี และ ร้อยละ 27.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 63.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 32.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 4.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 30.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 16.1 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 11.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 5.9 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ในขณะที่ร้อยละ 3.1 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวการชุมนุมในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวการชุมนุมในช่วง 30 วันที่ผ่านมา          ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                    67.4
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                    11.0
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                     6.6
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                  9.6
5          ไม่ได้ติดตามเลย                      5.4
          รวมทั้งสิ้น                          100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ระดับความทุกข์ใจของประชาชนที่เห็นเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน
(จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน)
ลำดับที่          ความรู้สึกทุกข์ใจของประชาชน           ค่าร้อยละ
1          น้อยถึงไม่รู้สึกอะไรเลย                      18.8
2          ปานกลาง                                24.2
3          ทุกข์มาก ถึงมากที่สุด                        57.0
          รวมทั้งสิ้น                                100.0

คะแนนเฉลี่ยจากคะแนนเต็ม 10 เท่ากับ 6.09 คะแนน

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อการเปิดเจรจาครั้งที่ 3 ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม
ลำดับที่          ความคิดเห็นต่อการเปิดเจรจาครั้งที่ 3 ระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มแกนนำผู้ชุมนุม     ค่าร้อยละ
1          เห็นด้วย                                                            72.8
2          ไม่เห็นด้วย                                                          22.1
3          ไม่มีความเห็น                                                         5.1
          รวมทั้งสิ้น                                                           100.0

ตารางที่ 4  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ สิ่งที่อยากได้จากการเจรจาเป็นของขวัญวันสงกรานต์ให้กับประชาชน (ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          สิ่งที่อยากได้จากการเจรจา                                                           ค่าร้อยละ
1          ความสงบสุขของบ้านเมือง                                                                 93.4
2          ความเป็นธรรมในสังคม                                                                   84.0
3          ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น                                                           82.2
4          ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน                                                            78.1
5          การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และการรีดไถข่มขู่                                              75.2
6          การแก้ไขปัญหายาเสพติด                                                                  64.4
7          อื่นๆ เช่น การดูแลรักษาคุณภาพเด็กและเยาวชน คนชรา การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง เป็นต้น   42.5

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ