เอแบคโพลล์: ประมวลภาพการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงการชุมนุม

ข่าวผลสำรวจ Monday May 24, 2010 08:07 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประมวลภาพการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนคนกรุงเทพมหานครและปริมณฑลช่วงการชุมนุม จำนวนทั้งสิ้น 1,416 ครัวเรือน ดำเนินโครงการในวันที่ 10 - 22 พฤษภาคม 2553 ผลการสำรวจพบว่า

ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.4 ระบุในช่วงการชุมนุมได้ใช้ชีวิตพอเพียงอย่างเคร่งครัด รองลงมาคือร้อยละ 80.1 ระบุใช้จ่ายประหยัดมากขึ้น วางแผนรัดกุม ไม่ฟุ่มเฟือย ร้อยละ 66.9 ลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน ทำอาหารทานเองที่บ้าน ร้อยละ 54.2 เก็บออมเงินมากขึ้น มีเงินเก็บออมมากกว่ารายได้ในหนึ่งเดือน ร้อยละ 52.8 ระบุนิยมซื้อสินค้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร้อยละ 43.7 ออกท่องเที่ยวในต่างจังหวัด และร้อยละ 43.0 นำสินค้า ของใช้แล้วมาใช้ซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ผลวิจัยยังคงพบทัศนคติอันตรายที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 65.1 ระบุเป็นเรื่องที่พอยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตคอรัปชั่น แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ร่วมด้วย มีร้อยละ 14.2 ยังไม่แน่ใจ และร้อยละ 20.7 ระบุเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุการณ์วิกฤตทางการเมือง ประชาชนที่ถูกศึกษาส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.4 สนใจมากถึงมากที่สุดที่จะซื้อสินค้ามีข้อความรณรงค์สร้างบรรยากาศให้คนไทยรักกัน และเกื้อกูลกัน ในขณะที่ร้อยละ 19.3 สนใจระดับปานกลาง และร้อยละ 9.3 สนใจน้อยถึงไม่สนใจเลย

ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.8 เห็นว่ามีความจำเป็นมากถึงมากที่สุด ที่กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุนรายใหญ่ควรเสียสละระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม ในขณะที่ร้อยละ 11.4 ระบุระดับปานกลาง และร้อยละ 10.8 ระบุจำเป็นน้อยถึงน้อยที่สุด

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุนรายใหญ่ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือพอจะมีกำลังทรัพย์ควรเสียสละระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม เพราะผลวิจัยชี้ให้เห็นว่ายังมีความเป็นไปได้สูงว่า สังคมไทยจะกลับมาเป็นสังคมแห่งความมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ยังคงมีจิตใจที่พร้อมจะช่วยสร้างบรรยากาศที่ดีงามของสังคมไทย อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ การเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ในอดีตและการพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทยที่มีวิกฤตต่างๆ เกิดขึ้น ยังไม่ทำให้คนไทยเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมอันตรายในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญเพราะ ถ้าหากมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้น การซื้อสิทธิขายเสียงและวิกฤตปัญหาต่างๆ ก็อาจจะยังคงวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำอีกเหมือนเดิม

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 47.4 เป็นชาย

ร้อยละ 52.6 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 9.2 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 19.6 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 28.7 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 64.9 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 27.8 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 7.3 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 27.4 ค้าขายอิสระ/ ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 21.2 รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป เกษตรกร

ร้อยละ 20.7 พนักงานเอกชน

ร้อยละ 12.6 ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 8.2 นักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 9.9 แม่บ้าน เกษียณอายุ และว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงการชุมนุม(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันในช่วงการชุมนุม               ค่าร้อยละ
1          ใช้ชีวิตพอเพียงอย่างเคร่งครัด                              83.4
2          ใช้จ่ายประหยัดมากขึ้น วางแผนรัดกุม ไม่ฟุ่มเฟือย                80.1
3          ลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน (ทำอาหารทานเองที่บ้าน)        66.9
4          เก็บออม มีจำนวนเงินเก็บออมมากกว่ารายได้ในหนึ่งเดือน          54.2
5          นิยมซื้อสินค้าอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม                              52.8
6          ท่องเที่ยวต่างจังหวัด                                     43.7
7          นำสินค้า ของใช้แล้วมาใช้ซ้ำ                               43.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ทัศนคติต่อการยอมรับรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตคอรัปชั่น
แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ร่วมด้วย
ลำดับที่          ทัศนคติ                                          ค่าร้อยละ
1          เป็นเรื่องที่พอยอมรับได้                                   65.1
2          ไม่แน่ใจ                                              14.2
3          เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้                                   20.7
          รวมทั้งสิ้น                                             100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความสนใจซื้อสินค้ามีข้อความรณรงค์สร้างบรรยากาศให้คนไทยรัก และเกื้อกูลกัน
ลำดับที่          ความสนใจซื้อสินค้า ข้อความรณรงค์สร้างบรรยากาศคนไทยรักกัน       ค่าร้อยละ
1          สนใจมาก ถึงมากที่สุด                                           71.4
2          ปานกลาง                                                    19.3
3          สนใจน้อย ถึงไม่สนใจเลย                                         9.3
          รวมทั้งสิ้น                                                    100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความจำเป็นที่อยากให้กลุ่มนักธุรกิจ นักลงทุนรายใหญ่ควรเสียสละระดมทุนช่วยเหลือ
กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม
ลำดับที่          ความคิดเห็น                       ค่าร้อยละ
1          จำเป็นมาก ถึงมากที่สุด                    77.8
2          ปานกลาง                              11.4
3          จำเป็นน้อย ถึงไม่สนใจเลย                 10.8
          รวมทั้งสิ้น                              100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ