เอแบคโพลล์: ประเมินความรู้สึกและฐานสนับสนุนทางการเมืองของสาธารณชนต่อการทำงานของรัฐบาล

ข่าวผลสำรวจ Monday June 7, 2010 07:27 —เอแบคโพลล์

สำนักวิจัยวิจัยเอแบคโพลล์ (ABAC POLL) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” ที่เป็นการสำรวจจากครัว เรือนที่สุ่มตัวอย่างได้ทั่วประเทศตามหลักสถิติแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น และได้ติดตั้งโทรศัพท์ให้กับครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างเพื่อทำการสัมภาษณ์ได้ อย่างรวดเร็วฉับไว จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง ประเมินความรู้สึกและฐานสนับ สนุนทางการเมืองของสาธารณชนต่อการทำงานของรัฐบาล กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ที่พักอาศัยอยู่ใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหา นคร ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ ขอนแก่น ศรีสะเกษ สกลนคร หนองบัวลำภู ระนอง พัทลุง และสุราษฎร์ธานี จำนวนทั้งสิ้น 1,237 ครัวเรือน ดำเนินโครงการในวันที่ 4 — 5 มิถุนายน 2553 ผลการศึกษาพบว่า

นโยบายหลักของรัฐบาลที่สาธารณชนให้คะแนนประเมินโดยภาพรวมในการศึกษาครั้งนี้ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า การสร้างความ ปรองดองของคนในชาติได้ 5.87 คะแนน รองลงมาคือ การแก้ไขปัญหาความยากจนได้ 5.69 คะแนน การแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ 5.64 คะแนน อย่างไรก็ตามที่ได้คะแนนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งในสองเรื่อง ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ได้ 4.77 คะแนน และ การแก้ไข ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้ 4.12 คะแนน ตามลำดับ

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าพิจารณาคือ ประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 53.8 คิดว่าจะไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งล่า สุดนี้ ในขณะที่ ร้อยละ 32.8 คิดว่าได้รับประโยชน์ และร้อยละ 13.4 ไม่มีความเห็น

ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งทำงานให้หนักขึ้นหลังจากผ่านจุดสูงสุดของวิกฤตทางการเมืองที่ผ่านมา และรัฐมนตรีใหม่ต้องไม่มีเวลาฮันนีมูนตำแหน่ง ใหม่ของตนเอง แต่ต้องเร่งทำงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเร่งด่วน

ผลการศึกษายังพบด้วยว่า ฐานสนับสนุนทางการเมืองของสาธารณชนต่อรัฐบาลในปัจจุบันไม่ได้แตกต่างไปจากอดีตที่ผ่านมามากนักคือ กลุ่มผู้ สนับสนุนรัฐบาลมีร้อยละ 24.2 กลุ่มผู้ไม่สนับสนุนรัฐบาลมีร้อยละ 15.2 โดยประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 60.6 ยังยืนยันที่จะขออยู่ตรงกลาง เป็นกลุ่ม พลังเงียบ ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ผลการสำรวจครั้งนี้และงานวิจัยในอดีตสะท้อนให้เห็นว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่นำไปสู่ความรุนแรงบานปลายที่มักจะจบลงด้วยการ สูญเสียชีวิตของประชาชนและการเผาทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ต่อฝ่ายการเมืองใดเลย คือไม่ได้ทำให้รัฐบาลได้รับคะแนนนิยมเพิ่ม ขึ้นอย่างมากมาย และไม่ได้ทำให้ฝ่ายที่ไม่สนับสนุนรัฐบาลได้รับฐานเสียงเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และกลุ่มคนส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มที่ไม่สนับสนุนฝ่ายหนึ่งฝ่าย ใด รวมถึงความรู้สึกเบื่อหน่ายต่อฝ่ายการเมืองทุกกลุ่ม

สำหรับแนวทางออกเพื่อเพิ่มความนิยมทั้งสองฝ่าย คือ การทำงานการเมืองเชิงสร้างสรรค์ และการใช้เหตุผลร่วมกันแก้ปัญหาของประเทศ และความเดือดร้อนของประชาชน

ผลวิจัยยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ทางออกระยะสั้นสำหรับปัญหาที่ค้นพบครั้งนี้คือ รัฐบาลต้องไม่ทำให้สาธารณชนรู้สึกว่า ทุกรัฐบาลก็ทุจริตคอรัปชั่น ด้วยกันทั้งนั้น เพราะจะทำให้เกิดปัญหาเป็นลูกโซ่ไปยังพฤติกรรมการซื้อสิทธิขายเสียงและความไม่เป็นธรรมในสังคมที่เป็นปัญหาใหญ่ของประชาชนจำนวน มากในขณะนี้ สำหรับความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องออกมาสร้างความเชื่อมั่นและลด ความหวาดกลัวต่ออาชญากรรม เช่น การให้ป้อมตำรวจมีตำรวจประจำอยู่ตลอดเวลา มีการตั้งด่านประจำจุดเสี่ยงส่งประชาชนกลับบ้านอย่างปลอดภัย การเข้าถึงที่เกิดเหตุและสามารถระงับเหตุได้อย่างรวดเร็วฉับไวมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 47.0 เป็นชาย

ร้อยละ 53.0 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 10.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี

ร้อยละ 22.3 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 18.3 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 27.6 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 63.2 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 32.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 4.5 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 30.2 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 27.1 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 16.1 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 11.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 6.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 5.9 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ในขณะที่ร้อยละ 3.1 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ คะแนนประเมินการทำงานตามนโยบายของรัฐบาล
ลำดับที่          การทำงานตามนโยบายของรัฐบาล            คะแนนเต็ม 10 คะแนน
1          การสร้างความปรองดองของคนในชาติ                    5.87
2          การแก้ไขปัญหาความยากจน                            5.69
3          การแก้ไขปัญหายาเสพติด                              5.64
4          การแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน           4.77
5          การแก้ไขปัญหาทุจริตคอรัปชั่น                           4.12

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปรับคณะรัฐมนตรี
ลำดับที่          ความคิดเห็นของประชาชน                       ค่าร้อยละ
1          คิดว่าได้รับประโยชน์                                32.8
2          คิดว่าไม่ได้รับประโยชน์                              53.8
3          ไม่มีความเห็น                                     13.4
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ฐานสนับสนุนทางการเมืองของสาธารณชนต่อรัฐบาล
ลำดับที่          ฐานสนับสนุนทางการเมือง                       ค่าร้อยละ
1          สนับสนุนรัฐบาล                                    24.2
2          ไม่สนับสนุนรัฐบาล                                  15.2
3          ขออยู่ตรงกลาง (พลังเงียบ)                          60.6
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ