เอแบคโพลล์: แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อแผนปรองดองแห่งชาติและแนวทางสู่ความสำเร็จ

ข่าวผลสำรวจ Monday June 21, 2010 07:32 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัย “เอแบคเรียลไทม์โพลล์” ที่เป็นการสำรวจจากระบบฐานข้อมูลแกนนำชุมชนใน 76 จังหวัดทั่วประเทศได้แก่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกอบต. คณะกรรมการหมู่บ้าน/ชุมชน และแกนนำหมู่บ้าน/ชุมชนตามธรรมชาติ จากนั้นประมวลผลด้วยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบเรียลไทม์ โดยครั้งนี้ได้ทำการสำรวจเรื่อง แกนนำชุมชนคิดอย่างไรต่อแผนปรองดองแห่งชาติและแนวทางสู่ความสำเร็จ กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,065 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการในวันที่ 18 - 19 มิถุนายน 2553 ผลการสำรวจพบว่า แกนนำส่วนใหญ่หรือประมาณร้อยละ 90 ยังคงติดตามข่าวสารเป็นประจำทุกสัปดาห์ ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา

ผลการศึกษาพบว่า แกนนำชุมชนส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 90 คือ ร้อยละ 88.8 ยอมรับระดับค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุดต่อประเด็นแผนปรองดองในการปกป้องสถาบันฯ และเชิดชูหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในขณะที่พวกเขาหรือแกนนำชุมชน ร้อยละ 83.0 มองว่าคนอื่นๆ ในชุมชนให้การยอมรับในประเด็นดังกล่าวระดับค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุดเช่นกัน

นอกจากนี้ แกนนำชุมชนส่วนใหญ่เช่นกันหรือร้อยละ 74.6 ยอมรับค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุดในประเด็นแผนปรองดองเรื่องการทำให้เกิดสวัสดิการที่ดี มีความเท่าเทียมกันและมั่นคงในชีวิต ในขณะที่ร้อยละ 71.0 มองว่าคนอื่นๆ ในชุมชนให้การยอมรับต่อประเด็นดังกล่าวในระดับเดียวกับพวกเขา

ที่น่าพิจารณาคือ สัดส่วนในสามประเด็นต่อไปนี้คือ การปฏิรูปสื่อมวลชนให้มีอิสระ ไม่มุ่งสร้างความขัดแย้งเกลียดชัง การตั้งกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุความรุนแรงต่างๆ และการแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมืองมีสัดส่วนของคนที่ให้การยอมรับลดลงไปจากประเด็นอื่นๆ ในแผนปรองดอง 5 ข้อ โดยพบว่า ร้อยละ 69.4 ให้การยอมรับระดับค่อนข้างมากถึงมากที่สุดต่อเรื่องการปฏิรูปสื่อมวลชน แต่ร้อยละ 63.0 ของแกนนำชุมชนมองว่าคนอื่นๆ ในชุมชนให้การยอมรับเช่นเดียวกับพวกเขา ซึ่งจะเห็นได้ว่าสัดส่วนลดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

เช่นเดียวกับประเด็นการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุความรุนแรงต่างๆ พบว่า ร้อยละ 65.7 ยอมรับระดับค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุด แต่ร้อยละ 59.0 มองว่าคนอื่นในชุมชนจะให้การยอมรับเช่นเดียวกับแกนนำชุมชน ในขณะที่ ร้อยละ 61.8 ของแกนนำชุมชนที่ถูกศึกษายอมรับระดับค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุดต่อการแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง และ ร้อยละ 57.0 มองว่าคนอื่นในชุมชนจะให้การยอมรับแผนปรองดองประเด็นนี้ในระดับเดียวกันกับพวกเขา

ที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 ของแกนนำชุมชนยอมรับต่อรายชื่อคณะกรรมการแผนปรองดองโดยภาพรวมที่ปรากฏเป็นข่าวระดับค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 60.4 มองว่าคนอื่นๆ ในชุมชนก็ยอมรับเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งเล็กน้อยเท่านั้นหรือร้อยละ 52.0 ที่เชื่อมั่นระดับค่อนข้างมากจนถึงมากที่สุดต่อความพยายามของนายกรัฐมนตรีในการสร้างความปรองดองให้คนในชาติ โดยร้อยละ 24.0 เชื่อมั่นระดับปานกลาง และร้อยละ 24.0 เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยจนถึงไม่เชื่อมั่นเลย

อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนยังได้เสนอแนวทางที่จะทำให้แผนปรองดองประสบความสำเร็จ โดยส่วนใหญ่หรือร้อยละ 71.7 ระบุรัฐบาลต้องเน้น “ทำให้ได้ตามที่พูด” โดยเร็ว จริงใจจริงจัง ร้อยละ 68.2 ระบุคณะกรรมการแต่ละชุดต้องมีความหลากหลายจากทุกฝ่าย และต้องปรองดองกันก่อนให้ประชาชนปรองดองกัน ร้อยละ 65.0 ระบุต้องมีแนวทางปฏิบัติที่โปร่งใส พร้อมรับการตรวจสอบในทุกขั้นตอน ร้อยละ 62.9 ให้อิสระคณะกรรมการทำงานเต็มที่ ร้อยละ 61.8 เน้นความปรองดองในระดับท้องถิ่น หมู่บ้านและชุมชน ร้อยละ 61.1 ไม่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสารฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล ร้อยละ 60.0 เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนควบคู่ไปด้วย เช่น ปากท้อง ภัยแล้ง อาชญากรรม ร้อยละ 58.8 เน้นปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานของรัฐ ลดความไม่เป็นธรรม ลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ร้อยละ 53.6 เน้นบังคับใช้กฎหมาย และร้อยละ 52.7 เน้นให้ปรองดองอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ ตามลำดับ

นอกจากนี้ คณะผู้วิจัย ยังได้ศึกษาจุดยืนทางการเมืองของแกนนำชุมชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 53.8 ไม่ขออยู่ฝ่ายใด โดยร้อยละ 31.8 สนับสนุนรัฐบาล แต่ร้อยละ 14.4 ไม่สนับสนุนรัฐบาล

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 85.3 เป็นชาย

ร้อยละ 14.7 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 0.6 อายุระหว่าง 20 — 29 ปี

ร้อยละ 11.6 อายุระหว่าง 30 — 39 ปี

ร้อยละ 47.4 อายุระหว่าง 40 — 49 ปี

และร้อยละ 40.4 อายุ 50 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 26.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี

ร้อยละ 38.7 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 34.8 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี

ตัวอย่าง ร้อยละ 15.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 14.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว

ร้อยละ 1.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน

ร้อยละ 66.0 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 2.0 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ร้อยละ 0.1 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ในขณะที่ร้อยละ 0.3 ระบุว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ

สำหรับการวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลครั้งนี้เป็นข้อมูลของแกนนำชุมชนเองกับมุมมองของแกนนำชุมชนที่มองไปยังคนอื่นๆ ในชุมชน

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวสารในช่วง 30 วันที่ผ่านมา
ลำดับที่          การติดตามข่าวสารในช่วง 30 วันที่ผ่านมา          ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                 77.2
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                 11.5
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                  5.2
4          ติดตามเป็นบางสัปดาห์                               4.4
5          ไม่ได้ติดตามเลย                                   1.7
          รวมทั้งสิ้น                                       100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุการยอมรับของตนเองและผู้อื่นในชุมชนต่อประเด็นต่างๆ ในแผนปรองดองแห่งชาติ
(ยอมรับระดับค่อนข้างมาก ถึงมากที่สุด)
ลำดับที่          การยอมรับ                                        แกนนำชุมชน(ค่าร้อยละ)    คนอื่นๆ ในชุมชน(ค่าร้อยละ)
1          การปกป้องสถาบันฯ และเชิดชูหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง               88.8                    83.0
2          การทำให้เกิดสวัสดิการที่ดี มีความเท่าเทียมกันและมั่นคงในชีวิต            74.6                    71.0
3          การปฏิรูปสื่อมวลชนให้มีอิสระ ไม่มุ่งสร้างความขัดแย้งเกลียดชัง            69.4                    63.0
4          การตั้งกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุความรุนแรงต่างๆ         65.7                    59.0
5          การแก้ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง                                  61.8                    57.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุการยอมรับต่อคณะกรรมการแผนปรองดองโดยภาพรวมตามรายชื่อ  ที่ปรากฏเป็นข่าว
ลำดับที่          การยอมรับต่อคณะกรรมการแผนปรองดองโดยภาพรวม   แกนนำชุมชน(ค่าร้อยละ)     คนอื่นๆ ในชุมชน(ค่าร้อยละ)
1          ค่อนข้างน้อย-ไม่ยอมรับเลย                                 13.6                    16.5
2          ปานกลาง                                              18.2                    23.1
3          ค่อนข้างมาก-มากที่สุด                                     68.2                    60.4
          รวมทั้งสิ้น                                              100.0                   100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความเชื่อมั่นในการสร้างความปรองดองให้คนในชาติของแผนปรองดองที่เสนอโดยนายกรัฐมนตรี
ลำดับที่          ความเชื่อมั่น                                 ค่าร้อยละ
1          ค่อนข้างน้อย-ไม่เชื่อมั่นเลย                           24.0
2          ปานกลาง                                        24.0
3          ค่อนข้างมาก-เชื่อมั่นมากที่สุด                          52.0
          รวมทั้งสิ้น                                        100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุข้อเสนอแนะเพื่อให้การดำเนินงานตามแผนปรองดองประสบความสำเร็จ
(ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ข้อเสนอแนะ                                                                       ค่าร้อยละ
1          รัฐบาลต้องเน้น “ทำให้ได้ตามที่พูด” โดยเร็ว จริงใจจริงจัง                                         71.7
2          คณะกรรมการแต่ละชุดต้องมีความหลากหลายจากทุกฝ่าย และต้องปรองดองกันก่อนให้ประชาชนปรองดองกัน        68.2
3          มีแนวทางการปฏิบัติที่โปร่งใส พร้อมรับการตรวจสอบในทุกขั้นตอน                                      65.0
4          ให้อิสระคณะกรรมการในการทำงานอย่างเต็มที่                                                   62.9
5          เน้นความปรองดองในระดับท้องถิ่น หมู่บ้านและชุมชน                                               61.8
6          ไม่ปิดกั้นข้อมูลข่าวสารฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล                                                  61.1
7          เร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนควบคู่ไปด้วย เช่น ปากท้อง ภัยแล้ง อาชญากรรม                   60.0
8          ปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานของรัฐ ลดความไม่เป็นธรรม ลดความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน                58.8
9          เน้นบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด                                                           53.6
10          ปรองดองอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ                                                       52.7

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างแกนนำชุมชนที่ระบุจุดยืนทางการเมือง
ลำดับที่          จุดยืนทางการเมือง                       ค่าร้อยละ
1          สนับสนุนรัฐบาล                                31.8
2          ไม่สนับสนุนรัฐบาล                              14.4
3          ไม่ขออยู่ฝ่ายใด (พลังเงียบ)                      53.8
          รวมทั้งสิ้น                                    100.0

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ