เอแบคโพลล์: สุขภาวะของนักเรียนนักศึกษาและความภูมิใจต่อแผ่นดินไทย

ข่าวผลสำรวจ Monday July 19, 2010 07:20 —เอแบคโพลล์

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน หรือศูนย์วิจัยความสุขชุมชน (Academic Network for Community Happiness Observation and Research, ANCHOR) มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจต่อเนื่องภายใต้โครงการวิจัยเพื่อเฝ้าระวังรักษาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนไทย เรื่อง สุขภาวะของนักเรียนนักศึกษาและความภูมิใจต่อแผ่นดินไทย จากตัวอย่างนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงนักศึกษาปริญญาเอกทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ” จำนวนทั้งสิ้น 23,088 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2553

ในด้านสุขภาวะทางร่างกาย พบว่า นักเรียนนักศึกษาไทยเพียงร้อยละ 30.3 เท่านั้นที่ระบุนอนหลับได้สนิทมากที่สุด อย่างน้อย 6 ชั่วโมงทุกคืน และเพียงร้อยละ 16.9 เท่านั้นที่ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง นอกจากนี้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.8 ไม่ได้เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันหรือเกือบทุกวัน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.1 ไม่ได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่มากถึงมากที่สุด ที่น่าเป็นห่วงคือ เพียงร้อยละ 24.8 เท่านั้นที่รู้สึกว่าตนเองมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมากที่สุด อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.9 แปรงฟันทุกวันตอนเช้าและก่อนนอน แต่จำนวนมากหรือร้อยละ 40.1 ไม่ได้ทำเช่นนั้น

แต่เมื่อสอบถามถึงสุขภาวะทางจิตใจ พบประเด็นที่น่าพิจารณาคือ สุขภาวะทางจิตใจและอารมณ์ของนักเรียนนักศึกษาในโครงการนี้บางเรื่องเป็นสิ่งที่น่าพอใจ แต่บางเรื่องก็ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.9 ยังคงรู้สึกว่าตนเองเป็นคนอารมณ์ดีมากถึงมากที่สุด แต่จำนวนมากหรือร้อยละ 38.1 ไม่รู้สึกเช่นนั้น ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.2 รู้สึกกลัวผิดพลาด ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.8 มักจะตำหนิตนเองในเรื่องต่างๆ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.3 มักจะเปรียบเทียบสิ่งที่ตนเองมีกับผู้อื่น อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.8 ยังใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นระดับมาก ถึง มากที่สุด แต่ร้อยละ 41.2 ไม่เป็นเช่นนั้น ที่น่าพิจารณาคือ ครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.0 ยังรู้สึกว่าตนเองเป็นคนดีในสายตาผู้อื่นระดับมาก ถึงมากที่สุด แต่อีกครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 50.0 เช่นกัน ไม่คิดเช่นนั้น

ที่น่าสนใจคือ ผลสำรวจ “สองสิ่ง” เปรียบเทียบในความภูมิใจของนักเรียนนักศึกษาระหว่าง “แผ่นดินไทย” กับ “นักการเมืองไทย” พบว่า นักเรียนนักศึกษาในทุกระดับชั้นส่วนใหญ่เกินกว่าร้อยละ 80 เกือบร้อยละ 90 ที่ภูมิใจต่อแผ่นดินไทย แต่ “ไม่ถึงครึ่ง” หรือ ต่ำกว่าร้อยละ 50 ในทุกกลุ่มระดับการศึกษาของนักเรียนนักศึกษาที่รู้สึกภูมิใจต่อนักการเมืองไทย

นอกจากนี้ จากการสัมภาษณ์เจาะลึก “เด็กอนุบาล” ถึงความชอบ และสิ่งที่ไม่ชอบในสังคมไทย พบสิ่งที่น่าจะเป็นเครื่องเตือนสติเตือนใจผู้ใหญ่ในสังคมได้บ้าง คือ

“น้องมิว” วัย 5 ขวบ จบอนุบาล 2 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านพัฒนาการ และกำลังจะไปเรียนเกรด 1 ในต่างประเทศ บอกว่า “น้องมิวรักประเทศไทย ไม่อยากไปอยู่ประเทศอื่น เพราะคนไทยรู้จักพอเพียงกัน และก็เรื่องความภักดีไง” จากนั้นน้องมิวร้องเพลงบางท่อนบางตอนออกมาว่า “อยากให้คนไทยคืนความสงบดังเดิม อยากให้คนไทยคืนความสงบดังเดิม.......” ในขณะที่สิ่งที่น้องมิวไม่ชอบ น้องมิวบอกว่า “ไม่ชอบผู้ใหญ่ที่ทะเลาะกัน ชุมนุมกัน ฆ่ากัน เพราะทำให้น้องมิวไม่ได้ไปโรงเรียน ไม่ได้ไปพารากอน ไม่ได้ไป Central World”

ในขณะที่ “น้องบีมและน้องบิวตี้” วัย 6 ขวบ เรียนหนังสือในต่างจังหวัด บอกว่า “รักประเทศไทยเพราะมีแม่น้ำ มีต้นไม้ ไม่มีภูเขาไฟ คนไทยใจดี แต่ไม่ชอบผู้ใหญ่บางคนที่ใจร้าย ทะเลาะกัน อยากเห็นคนไทยใจดีทุกคน ไม่หงุดหงิดง่าย อยากให้ทุกคนรักในหลวง เพราะในหลวงเป็นพ่อของแผ่นดินไทย รู้สึกว่าในหลวงเป็นพ่อจริงๆ อยากให้ในหลวงแข็งแรง”

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 58.1 เป็นชาย

ร้อยละ 41.9 เป็นหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 38.1 อายุต่ำกว่า 15 ปี

ร้อยละ 42.7 อายุระหว่าง 15 - 20 ปี

ร้อยละ 10.2 อายุระหว่าง 21 - 25 ปี

และร้อยละ 9.0 อายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไป

ตัวอย่าง ร้อยละ 21.2 กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา

ร้อยละ 33.8 กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา

ร้อยละ 13.0 กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวช.

ร้อยละ 11.8 กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส.

ร้อยละ 9.8 กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี

และร้อยละ 10.4 กำลังศึกษาอยู่ในระดับสูงกว่าปริญญาตรี

ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของนักเรียนนักศึกษาระบุกิจกรรมต่างๆ ที่ “ทำ” และ“เป็นอยู่ขณะนี้”เกี่ยวกับสุขภาวะทางร่างกาย
ลำดับที่          เกี่ยวกับสุขภาวะทางร่างกาย                               ใช่           ไม่ใช่
1          นอนหลับสนิทมากที่สุด อย่างน้อย 6 ชั่วโมงทุกคืน                    30.3          69.7
2          แปรงฟันทุกวันตอนเช้าและก่อนเข้านอน                           59.9          40.1
3          ล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง                             16.9          83.1
4          เล่นกีฬา หรือออกกำลังกายทุกวันหรือเกือบทุกวัน                    41.2          58.8
5          รับประทานอาหารครบ 5 หมู่มาก ถึง มากที่สุด                     40.9          59.1
6          รู้สึกมีสุขภาพแข็งแรงมากที่สุด                                  24.8          75.2

ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของนักเรียนนักศึกษาระบุกิจกรรมต่างๆ ที่ “ทำ” และ“เป็นอยู่ขณะนี้”เกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตใจและอารมณ์
ลำดับที่          เกี่ยวกับสุขภาวะทางจิตใจและอารมณ์                         ใช่           ไม่ใช่
1          รู้สึกว่าตนเองเป็นคนอารมณ์ดีมากถึงมากที่สุด                       61.9          38.1
2          รู้สึกกลัวผิดพลาดมากถึงมากที่สุด                                22.8          77.2
3          มักจะเปรียบเทียบสิ่งที่ตนมีกับผู้อื่น                               76.3          23.7
4          มักจะตำหนิตนเองในเรื่องต่างๆ มาก ถึงมากที่สุด                   13.2          86.8
5          ใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นมาก ถึงมากที่สุด              58.8          41.2
6          รู้สึกเป็นคนดีในสายตาของผู้อื่นมาก ถึง มากที่สุด                    50.0          50.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความภูมิใจมากถึงมากที่สุดต่อ “สองสิ่ง” เปรียบเทียบระหว่าง แผ่นดินไทย กับ นักการเมืองไทย จำแนกตามระดับการศึกษา
ลำดับที่   เปรียบเทียบสองสิ่งที่รู้สึกภูมิใจระดับ มาก ถึง มากที่สุด      ประถมศึกษา   มัธยมศึกษา   ปวช./ปวส.  ปริญญาตรี   สูงกว่า ป.ตรี
1          แผ่นดินไทย                                      89.3        85.7      83.8       88.1       92.7
2          นักการเมืองไทย                                  41.5        25.7      20.9       15.7       11.3

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ