เอแบคโพลล์: ปฏิรูปคลังข้อมูลดัชนีผู้บริโภค

ข่าวผลสำรวจ Thursday July 22, 2010 07:29 —เอแบคโพลล์

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล นายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในฐานะผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC—SIMBA) เปิดตัวโครงการวิจัย “ปฏิรูปคลังข้อมูลดัชนีผู้บริโภค” (Consumer Index Reform) ในภูมิภาคอาเซียน วันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

ดร.อุดม กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือ ABAC ได้ก่อตั้งมาครบ 40 ปีในปี2552 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มหาวิทยาลัยฯ ได้ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพออกมามากมาย หลายท่านเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจและสังคม เป็นทั้งนักบริหารและนักธุรกิจชั้นนำของประเทศ ทำงานอยู่ในทุกภาคส่วน และในโอกาสครบรอบ 40 ปีแห่งการก่อตั้ง ทางมหาวิทยาลัยฯ จึงได้จัดทำโครงการ ABAC Consumer Index ขึ้น เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการทำสิ่งดีๆ เพื่อตอบแทนสังคม ในรูปแบบของการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เป็นประโยชน์

ABAC Consumer Index ที่จัดทำขึ้นนี้ เป็นการเก็บข้อมูลในประเทศ และจะเป็นการก้าวสู่ความร่วมมือระดับภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ประเทศฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับการร่างนโยบายสาธารณะของภาครัฐ ตลอดจนช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจของภาคเอกชน โดยข้อมูลที่ทำการสำรวจจะเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำและเชื่อถือได้ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและความคาดหวังของผู้บริโภค เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการบริโภคสินค้าและบริการอย่างเหมาะสมอีกด้วย

ขณะที่ ดร.นพดล กล่าวว่า โครงการวิจัยเพื่อปฏิรูปคลังข้อมูลดัชนีผู้บริโภคเป็นโครงการที่จะจัดเก็บข้อมูลวิจัยเกี่ยวกับดัชนีผู้บริโภคหรือ Consumer Index ที่จะได้รับการปฏิรูปทั้งระบบโดยจะทำการวิจัยเกี่ยวกับ Consumer Planning Index ที่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการวางแผนใช้ชีวิตของผู้บริโภค Consumer Spending Index เป็นข้อมูลเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอย Consumer Sentiment Index ที่เป็นข้อมูลความรู้สึกนึกคิดของผู้บริโภคต่อสภาวะเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมของประเทศ Consumer Confidence Index เป็นข้อมูลความเชื่อมั่นต่อแหล่งที่มาของรายได้ของตนเองและสภาวะเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และข้อมูลที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ของการปฏิรูปคลังข้อมูลของผู้บริโภคคือ Consumer Happiness Index ที่จะทำให้ได้ข้อมูลดัชนีความสุขของกลุ่มผู้บริโภค

ดร.นพดล กล่าวต่อว่า โครงการนี้จะเป็นครั้งแรกที่เรามีการวัดความสุขมวลรวม (Gross Domestic Happiness, GDH) ในกลุ่มผู้บริโภค ที่เพิ่มเติมไปจากการให้ความสำคัญกับ Gross Domestic Product หรือ GDP ในการมองระบบเศรษฐกิจมหภาค และจะมุ่งสู่การสร้างคลังข้อมูลดัชนีผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนผ่าน ASEAN Consumer Index ที่น่าจะเป็นครั้งแรกเช่นกันในความร่วมมือของสถาบันวิจัยในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคนี้ โดยขณะนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์และมาเลเซีย ขณะนี้เราได้รับการตอบรับที่ดีและน่าจะเริ่มต้นได้ใน 5 ประเทศนี้ก่อน และคณะผู้วิจัยกำลังเปิดรับเครือข่ายสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาเพิ่มเติมจากทุกประเทศในอาเซียนและกลุ่มประเทศแถบเอเซียทั้งหมด ที่จะมาร่วมกันสร้างคลังข้อมูลดัชนีผู้บริโภคเพื่อเป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจของกลุ่มคนสี่ฝ่ายคือ กลุ่มนักลงทุนผู้ผลิต กลุ่มผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่น และบริษัทหรือองค์กรระหว่างประเทศ โดยคาดว่าผลวิจัยดัชนีผู้บริโภคภายในประเทศจะทำเป็นรายไตรมาส ในขณะที่คลังข้อมูลดัชนีผู้บริโภคของอาเซียนน่าจะเริ่มนำเสนอได้ในไตรมาสแรกของปี 2011 เป็นต้นไป

“ผลวิจัยจะเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจเพื่อให้เกิดตลาดเสรีและการแข่งขันสมบูรณ์ที่เอื้อประโยชน์สุขแก่ทุกๆ ฝ่ายอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมให้มากที่สุด โดยโครงการนี้เป็นความร่วมมือกับสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) และเปิดโอกาสให้กับทุกองค์กรภาคีที่สนใจสนับสนุนโครงการปฏิรูปคลังข้อมูลดัชนีผู้บริโภคนี้” ผอ.ศูนย์วิจัยเอแบคฯ กล่าว

ดร.อุดม ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index เปิดเผยผลสำรวจที่ค้นพบครั้งนี้ว่า การวิจัยครั้งนี้ได้ร่วมกับศูนย์วิจัย ABAC — SIMBA หรือเอแบคโพลล์ เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนในระดับครัวเรือนอายุ 15 — 60 ปี จำนวน 2,250 ตัวอย่าง จาก 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา ระหว่างวันที่ 16 — 20 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 80 ติดตามข่าวสารด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างน้อย 1ครั้งต่อสัปดาห์

          ดร อุดม กล่าวต่อว่า เมื่อสอบถามถึง ประเภทสินค้าหรือบริการที่ประชาชนจับจ่ายใช้สอยช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา  3 อันดับแรก ได้แก่ ของกิน อาหาร (รวมถึงร้านอาหาร) ร้อยละ 44.4 หรือคิดประมาณ  132 บาทต่อวัน รองลงมาคือ          ของใช้อุปโภค เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน ร้อยละ 10.4  และ แฟชั่น เครื่องแต่งกาย ร้อยละ 10.6 เมื่อคิดเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อเดือน ประมาณ 8,885 บาทต่อเดือน

นอกจากนี้เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันเมื่อเทียบกับ ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ตัวอย่างเกินครึ่ง หรือร้อยละ 54.9 คิดว่าแย่ลง ร้อยละ 33.9 คิดว่าทรงตัว ในขณะที่ร้อยละ 11.2 คิดว่าดีขึ้นสำหรับการคาดการต่อราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า พบว่าตัวอย่าง เกือบ 4 ใน 5 หรือร้อยละ 78.8 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.9. คาดว่าเท่าเดิม แต่มีเพียงร้อยลละ 6.3 คาดว่าแย่ลง เมื่อสอบถามถึงความคิดเห็นต่อสภาวะการจ้างงานในปัจจุบันพบว่า ต้วอย่างเกือบครึ่ง หรือร้อยละ 48.7 ระบุลดลง ร้อยละ 43.8 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 7.5 ระบุเพิ่มขึ้น ส่วนสภาวะรายได้ของครัวเรือน พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.1 ระบุลดลง ร้อยละ 41.6 ระบุเท่าเดิม และร้อยละ 10.3 ระบุเพิ่มขึ้น

          ที่น่าพิจารณาคือ ตัวอย่างเกินครึ่ง หรือร้อยละ 57.8 ไม่มีเงินเก็บออม และ ร้อยละ 42.2 มีเงินเก็บออม โดยมีรูปแบบการเก็บออม ใน 3 อันดับแรกคือ  การออมเงินฝากกับธนาคาร รองลงมาคือ การทำประกัน  และ ซื้อสลากออมสินตามลำดับ สำหรับประเภทกองทุนตัวอย่างสนใจจะลงทุนใน 3 อันดับแรก การลงทุนเพื่อประหยัดภาษีและเพื่อการเกษียณ  LTF/RMF รองลงมาคือ การลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร และการลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าตลาดทองคำ (Gold Future)           ตามลำดับ

ผลสำรวจยังพบว่า เมื่อถามถึงการวางแผนท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในอีก 3 เดือนข้างหน้านั้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 84.7 ไม่ได้วางแผนไปเที่ยวต่างจังหวัด และร้อยละ 97.2 ไม่ได้วางแผนไปเที่ยวต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ความสุขมวลรวมของกลุ่มผู้บริโภคในที่ทำงานและการประกอบอาชีพปัจจุบัน พบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 6.82 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน หรือ ค่อนข้างมีความสุขในการทำงานและ การประกอบอาชีพในปัจจุบัน

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 59.6 เป็นเพศหญิง

ร้อยละ 40.4 เป็นเพศชาย

          ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุพบว่า          ร้อยละ 15.6 ระบุอายุ 15-24 ปี

ร้อยละ 29.1 อายุ 25-35 ปี

ร้อยละ 24.4 อายุ 36-45 ปี

ร้อยละ 30.9 ระบุอายุ 46-60 ปี

ตัวอย่าง ร้อยละ 36.6 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า

ร้อยละ 22.9 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/เทียบเท่า

ร้อยละ 18.8 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช.

ร้อยละ 7.6 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับป.ว.ส./อนุปริญญา หรือเทียบเท่า

และร้อยละ 14.1 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอาชีพประจำที่ทำอยู่ในปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 4.6 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ

ร้อยละ 10.5 ระบุอาชีพพนักงาน/ลูกจ้างเอกชน

ร้อยละ 38.5 ระบุอาชีพธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย

ร้อยละ 6.8 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา

ร้อยละ 29.3 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป

ร้อยละ 7.5 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ

ในขณะที่ ร้อยละ 2.8 ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

          ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ส่วนตัวต่อเดือนพบว่า        ร้อยละ 82.3 ระบุรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน

ในขณะที่ร้อยละ 17.7 ระบุรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ

โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้ ตารางที่ 1 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการติดตามข่าวเศรษฐกิจของประเทศไทยในรอบ 30 วันที่ผ่านมา

ลำดับที่          การติดตามข่าวเศรษฐกิจของประเทศไทยในรอบ 30 วันที่ผ่านมา          ค่าร้อยละ
1          ทุกวัน/เกือบทุกวัน                                                  36.6
2          3-4 วันต่อสัปดาห์                                                  18.9
3          1-2 วันต่อสัปดาห์                                                  25.1
4          น้อยกว่า 1 วันต่อสัปดาห์                                             10.8
5          ไม่ติดตาม                                                         8.6
          รวมทั้งสิ้น                                                        100.0

ตารางที่ 2 แสดงค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าและบริการต่างๆ ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา
ลำดับที่          สินค้าและบริการต่างๆที่ซื้อในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา          รายจ่ายต่อเดือน          ร้อยละ
1          ของกิน อาหาร (รวมถึงร้านอาหาร)                        3,948.94 บาท          44.4
2          แฟชั่น เครื่องแต่งกาย                                     944.92 บาท          10.6
3          ของใช้อุปโภค เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน                      919.67 บาท          10.4
4          สุขภาพ/เกี่ยวกับความงาม เช่น สปา นวด คลินิกรักษาผิวหนัง           540 บาท           6.1
5          การออกกำลังกาย กีฬา เช่น ฟิตเนส โยคะ โบว์ลิ่ง               523.08 บาท           5.9
6          บันเทิง เช่น ดูคอนเสริต ดูภาพยนตร์                          503.80 บาท           5.7
7          อื่นๆ ค่าศึกษาของบุตร ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน เป็นต้น                1,505 บาท           16.9
          รวม                                                 8,885.41 บาท          100.0

ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ ความคิดเห็นต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันเมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้
ลำดับที่          สภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน           ค่าร้อยละ
1          ดีขึ้น                                          11.2
2          ทรงตัว                                        33.9
3          แย่ลง                                         54.9
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุ การคาดการณ์ต่อราคาสินค้าใน 3 เดือนข้างหน้า
ลำดับที่          ราคาสินค้าในอีก 3 เดือนข้างหน้า              ค่าร้อยละ
1          เพิ่มขึ้น                                        78.8
2          เท่าเดิม                                       14.9
3          ลดลง                                          6.3
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อสภาวะการจ้างงานในปัจจุบัน
ลำดับที่          สภาวะการจ้างงานในปัจจุบัน                  ค่าร้อยละ
1          เพิ่มขึ้น                                         7.5
2          เท่าเดิม                                       43.8
3          ลดลง                                         48.7
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุสภาวะรายได้ของครัวเรือน
ลำดับที่          สภาวะรายได้ของครัวเรือน                   ค่าร้อยละ
1          เพิ่มขึ้น                                        10.3
2          เท่าเดิม                                       41.6
3          ลดลง                                         48.1
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 7  แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการออมในแต่ละเดือน
ลำดับที่          การออมเงินในแต่ละเดือน                    ค่าร้อยละ
1          เก็บออม                                       42.2
2          ไม่มีเงินเก็บออม                                 57.8
          รวมทั้งสิ้น                                      100.0

ตารางที่ 8 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการออมเงิน หรือลงทุนในรูปแบบต่างๆ   (เฉพาะตัวอย่างที่ได้มีการแบ่งออมเงิน และ ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          รูปแบบการออมเงินหรือลงทุน          ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาค่าร้อยละ          ในอีก 3 เดือนข้างหน้าค่าร้อยละ
1          ออมเงินฝากกับธนาคาร                              85.2                             84.5
2          แผนการเงินในรูปแบบการทำประกัน                     22.2                             19.9
3          ซื้อสลากออมสิน                                    14.0                             13.0
4          ลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ                                7.7                              7.6
5          ซื้อ สังหาริมทรัพย์ เช่น เพชร ทองคำ                    6.8                              3.1
6          ซื้อพันธบัตรรัฐบาล                                   4.7                              4.3
7          ออมเงินไว้ที่บ้าน                                    3.5                              6.0
8          ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม        1.8                              2.1
9          ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ซื้อหุ้น)                        1.4                              2.4

ตารางที่ 9 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุประเภทกองทุนต่างๆ ที่ตัวอย่างสนใจที่จะลงทุน
(เฉพาะตัวอย่างที่ระบุลงทุนผ่านกองทุนต่างๆ  และ ตอบได้มากกว่า 1 ข้อ)
ลำดับที่          ประเภทกองทุนต่างๆ ที่ตัวอย่างสนใจที่จะลงทุน                    ค่าร้อยละ
1          การลงทุนเพื่อประหยัดภาษีและเพื่อการเกษียณ  LTF/RMF                 29.7
2          การลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตร                          28.9
3          การลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้าตลาดทองคำ (Gold Future)            25.8
4          การลงทุนตราสารหนี้/หุ้นกู้                                        18.8
5          การลงทุนผ่านกองทุนรวมภายในประเทศ                              15.6
6          การลงทุนในตลาดซื้อขายดัชนีล่วงหน้า (SET Future)                    6.3
7          การลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF)                       3.9
8          อื่นๆ อาทิ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเพื่อการเกษตร เป็นต้น                   6.3

ตารางที่ 10 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการวางแผนที่จะไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ
ลำดับที่          การวางแผนที่จะไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ    สถานที่ท่องเที่ยวต่างจังหวัดค่าร้อยละ   สถานที่ท่องเที่ยวต่างประเทศค่าร้อยละ
1          วางแผนจะไป                                        15.3                           2.8
2          ไม่ได้วางแผนไว้                                      84.7                          97.2
          รวมทั้งสิ้น                                           100.0                         100.0

ตารางที่ 11 แสดงค่าเฉลี่ยความสุขในการทำงาน/ การประกอบอาชีพในปัจจุบันของกลุ่มตัวอย่าง (คะแนนเต็ม 10)
          ค่ามัธยฐาน                       6.97
          คะแนนค่าเฉลี่ย                    6.82
          คะแนนค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน          2.23

สนใจติดต่อร่วมสนับสนุนเครือข่ายทางสังคมปฏิรูปดัชนีผู้บริโภคได้ที่ 02-719-1550 หรือ อีเมล abacpoll@au.edu

--เอแบคโพลล์--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ