ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ( Cornell University) เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ความเห็นของประชาชนต่อคดี วิคเตอร์ บูท และจุดยืนทางการเมืองล่าสุดของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลจำนวนทั้งสิ้น 1,513 ครัวเรือน โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 6 - 10 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบว่าในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ตัวอย่างกว่าร้อยละ 80 มีการติดตามข่าวสารอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ประเด็นสำคัญที่พบมีดังนี้
เมื่อถามประชาชนที่ถูกศึกษาว่าคิดอย่างไรต่อ วิคเตอร์ บูท พบว่า ร้อยละ 32.7 มองว่าเป็นผู้ต้องหาคดีค้าอาวุธ รองลงมาร้อยละ 13.4 ระบุเป็นผู้ต้องหาที่กลุ่มการเมืองต่างๆ พยายามจะใช้ประโยชน์ และร้อยละ 10.4 ระบุเป็นพ่อค้าอาวุธระดับโลกที่อาจจะติดต่อกับกลุ่มการเมืองในประเทศ ในขณะที่ร้อยละ 34.2 ไม่มีความเห็น
จากการสอบถามตัวอย่างทั้งหมด พบว่าร้อยละ 46.2 เห็นว่าคดีวิคเตอร์ บูท ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ขณะที่ร้อยละ 13.8 เห็นว่าไม่ส่งผล โดยมีตัวอย่างอีกร้อยละ 40.0 ไม่มีความเห็น อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเฉพาะผู้ที่ติดตามข่าวและมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 77.0 เห็นว่าส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศไทย โดยมีเพียงร้อยละ 23.0 ที่คิดว่าไม่ส่งผล
ที่น่าเป็นห่วงคือ ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมภายหลังฝ่ายการเมือง ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของ วิคเตอร์ บูท ซึ่งพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.9 ที่เห็นว่าจะส่งผลทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยเสื่อมเสีย ส่วนที่เหลือร้อยละ 21.1 ไม่คิดว่าจะทำให้เสื่อมเสีย และเมื่อถามถึงความเห็นต่อท่าทีรัฐบาลไทยที่ยังไม่ส่งตัววิคเตอร์ บูท ให้กับประเทศมหาอำนาจใดๆ พบว่า ร้อยละ 34.4 เห็นด้วย ร้อยละ 21.2 ไม่เห็นด้วย และที่เหลือไม่มีความเห็น
แต่ที่น่าพิจารณาคือ ผลสำรวจยังพบว่า ในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน จุดยืนทางการเมืองของสาธารณชนต่อรัฐบาลลดลงจากร้อยละ 21.9 ในเดือนมกราคม ปีนี้ เหลือ ร้อยละ 14.2 ในกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลในขณะที่กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลมีน้อยเหมือนเดิม คือร้อยละ 18.2 เดือนมกราคม อยู่ที่ร้อยละ 18.1 ในการสำรวจครั้งล่าสุด แต่ไปเพิ่มในกลุ่มพลังเงียบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ จากร้อยละ 59.9 มาอยู่ที่ร้อยละ 67.7
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองขณะนี้ทำให้ฝ่ายการเมืองได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนในสภาวะที่ย่ำแย่ด้วยกันทุกฝ่าย อาจส่งผลทำให้ปัญหาใหญ่ของประเทศจะแก้ไขด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ส่วนปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องที่แก้ยาก การเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองกำลังกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยหาทางออกได้ยากขึ้นไปอีก เพราะตัวเลขที่ค้นพบในครั้งนี้ ประชาชนเห็นว่าปัญหาสำคัญของประเทศในคดีวิคเตอร์ บูท กำลังจะทำให้ภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมของประเทศเสียหายทั้งในสายตาของคนไทยและต่างชาติ โดยมีการแทรกแซงของฝ่ายการเมืองเข้าไปซ้ำเติม ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ของประเทศเลวร้ายลงไปอีก
ทางออกคือ การเพิ่มความเชื่อมั่นของทั้งสาธารณชนคนไทยและคนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย การลดภาพความขัดแย้งของฝ่ายการเมือง เพิ่มความร่วมมือแก้ปัญหาระหว่างประเทศ และปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ ก็น่าจะนำไปสู่การเพิ่มความสงบสุข และสามารถดึงความเชื่อมั่นของประชาชนคนไทยและต่างชาติที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมของไทยกลับคืนมาได้ เพราะกระบวนการยุติธรรมนั้นถือว่าเป็นเสาหลักสำคัญประการหนึ่งของประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าว ฝ่ายการเมืองมักจะไม่สนใจ ดังนั้นจึงต้องหวังพึ่งกระแสหลักจากสาธารณชนช่วยกันทำให้ฝ่ายการเมืองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่สร้างสรรค์ และเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อไป และต้องออกมาแสดงพลังต่อต้านพฤติกรรมไม่ดีของนักการเมือง พฤติกรรมที่สามัญชนทั่วไปรู้ว่าไม่เหมาะสม ที่ต่างชาติมองว่าเป็นพฤติกรรมของคนล้าหลังที่มักจะแสดงออกในสังคมที่ยังไม่ได้รับการปลูกฝังปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ จึงขอให้สาธารณชนและสื่อมวลชนช่วยกันทำให้ฝ่ายการเมืองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเร่งด่วน ก่อนที่ผลประโยชน์และทรัพยากรของประเทศชาติจะกลับไปตกอยู่ในมือของกลุ่มคนเพียงส่วนน้อยไม่กี่คน ที่เป็นเส้นทาง “วกวน” กลับไปยังสิ่งเลวร้ายและความเดือดร้อนเดิมๆ ของคนไทยอีกครั้ง
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่าร้อยละ 53.5 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 46.5 เป็นเพศชาย ตัวอย่างร้อยละ 6.4 อายุไม่เกิน 20 ปี ร้อยละ 16.5 อายุระหว่าง 20-29 ปี ร้อยละ 22.9 อายุระหว่าง 30-39 ปีและร้อยละ 23.3 อายุระหว่าง 40-49 ปี ตัวอย่างร้อยละ 30.9 อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 83.8 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ในขณะที่ร้อยละ 16.2 สำร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอาชีพประจำที่ทำอยู่ในปัจจุบัน พบว่าร้อยละ 44.0 มีอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ รองลงมาร้อยละ 17.3 เป็นผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป/เกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.8 เป็นลูกจ้าง/พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 11.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 4.5 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 4.3 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 4.3 เช่นเดียวกันที่ระบุว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ ทั้งนี้ตัวอย่างร้อยละ 24.9 มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 44.0 มีรายได้ 5,001-10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 12.9 มีรายได้ 10,001-15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 8.9 มีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน และร้อยละ 9.3 มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท ต่อเดือน
โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้
ลำดับที่ การติดตามข่าวสารผ่านสื่อมวลชน ในช่วง 30 วันที่ผ่านมา ค่าร้อยละ 1 ทุกวัน/เกือบทุกวัน 51.5 2 3-4 วันต่อสัปดาห์ 18.3 3 1-2 วันต่อสัปดาห์ 11.8 4 ติดตามเป็นบางสัปดาห์ 13.3 5 ไม่ได้ติดตามเลย 5.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อนายวิคเตอร์ บูท ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 เป็นผู้ต้องหาคดีค้าอาวุธ 32.7 2 เป็นผู้ต้องหาที่กลุ่มการเมืองต่างๆ พยายามจะใช้ประโยชน์ 13.4 3 เป็นพ่อค้าอาวุธระดับโลกที่อาจจะติดต่อกับกลุ่มการเมืองในประเทศ 10.4 4 เป็นผู้ต้องหาที่ประเทศมหาอำนาจต้องการตัว ซึ่งทำให้ไทยสามารถต่อรองกับประเทศมหาอำนาจได้ 8.6 5 เป็นผู้ต้องหาคดีฟอกเงิน 0.7 6 ไม่มีความเห็น 34.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณีคดีนายวิคเตอร์ บูท กับความมั่นคงของประเทศ ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 คดีนายวิคเตอร์ บูท ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ 46.2 2 ไม่ส่งผล 13.8 3 ไม่มีความเห็น 40.0 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นกรณีคดีนายวิคเตอร์ บูทกับความมั่นคงของประเทศ (ค่าร้อยละเฉพาะคนที่ติดตามข่าวและมีความเห็น) ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 คดีนายวิคเตอร์ บูท ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ 77.0 2 ไม่ส่งผล 23.0 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทย เมื่อบุคคลในรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือกลุ่มการเมืองต่างๆ เข้าพบ นายวิคเตอร์ บูท (ร้อยละเฉพาะคนที่ติดตามข่าวและมีความเห็น) ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 ทำให้ภาพลักษณ์ของกระบวนการยุติธรรมไทยเสื่อมเสีย 78.9 2 ไม่เสื่อมเสีย 21.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 6 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความคิดเห็นต่อท่าทีของรัฐบาลไทยที่ยังไม่ส่งตัวนายวิคเตอร์ บูท ให้กับประเทศมหาอำนาจใดๆ ลำดับที่ ความคิดเห็น ค่าร้อยละ 1 เห็นด้วย 34.4 2 ไม่เห็นด้วย 21.2 3 ไม่มีความเห็น 44.4 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 7 แสดงการเปรียบเทียบค่าร้อยละของตัวอย่างที่สนับสนุนรัฐบาล ไม่สนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มพลังเงียบ ระหว่างเดือนมกราคม กับเดือนกันยายน ปีนี้ ลำดับที่ จุดยืนทางการเมือง มกราคม 53 ร้อยละ 11 กันยายน 53 ร้อยละ 1 สนับสนุนรัฐบาล 21.9 14.2 2 ไม่สนับสนุนรัฐบาล 18.2 18.1 3 ขออยู่ตรงกลาง (พลังเงียบ) 59.9 67.7 รวมทั้งสิ้น 100.0 100.0
--เอแบคโพลล์--