ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และนักศึกษาด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ ( Cornell University) ได้นำเสนอผลวิจัยเชิงสำรวจและบทวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติต่อประเด็นสำคัญทางการเมืองปัจจุบัน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,513 ครัวเรือน โดยดำเนินการสำรวจในระหว่างวันที่ 6 - 14 กันยายน 2553 ที่ผ่านมา
จากการพิจารณาข้อมูลที่ค้นพบครั้งนี้ หลังจากสอบถามความคิดเห็นถึงการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.3 ระบุว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ในขณะที่ร้อยละ 15.6 ระบุไม่เป็นและที่เหลือไม่แน่ใจ
ดร.นพดล มองว่า หากกลุ่มประชาชนที่ต้องการชุมนุมในวันที่ 18 หรือ 19 กันยายนที่จะถึงนี้และเป็นการชุมนุมที่สงบมีการนำเสนอแนวทางที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนทั่วไปและต่อประเทศชาติโดยส่วนรวมก็น่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความเห็นต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มประชาชนคนเสื้อแดงในประเด็นต่างๆ พบสิ่งที่น่าพิจารณาคือ
ประการแรก ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.9 เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องเรื่องการประกันรายได้ให้เกษตรกรและกรรมกรให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.3 เห็นด้วยที่จะมีการลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 5% และครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50.8 เห็นด้วยกับการยกเว้นภาษีน้ำมัน
ดร.นพดล วิเคราะห์ต่อว่า ข้อเรียกร้องที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยในการสำรวจครั้งนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ค้นพบเพราะหากรัฐบาลใดหรือกลุ่มคนกลุ่มใดทำให้ประชาชนมีหลักประกันในการดำรงชีวิต มีรายจ่ายน้อยลง ถ้าหากทำได้ก็ย่อมจะทำให้ประชาชนมีสิ่งที่ดีจับต้องได้เกิดขึ้นกับตนเองและคนรอบข้างเพราะมีรายจ่ายน้อยลง ก็น่าจะมีเงินในการ “จับจ่ายใช้สอย” หรือ “เก็บออม” ได้มากขึ้น ผลที่ตามมาคือ ความเดือดร้อนจะลดลงและชีวิตความเป็นอยู่ที่ยึดผูกกับรายได้ก็จะดีขึ้น
ผลสำรวจยังค้นพบต่อไปด้วยว่า คนจำนวนมากหรือร้อยละ 46.8 เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า ในขณะที่ร้อยละ 22.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 30.4 ไม่มีความเห็น สิ่งที่ค้นพบในเรื่องนี้น่าถูกนำไปศึกษาเพิ่มเติมว่า จะสามารถช่วยลดช่องว่างทางสังคมและเศรษฐกิจในหมู่ประชาชนได้มากน้อยเพียงไร จะมีการนำรายได้ไปช่วยพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนได้อย่างไร และที่สำคัญเงินที่จะสามารถจัดเก็บได้จะเป็นไปอย่างโปร่งใส ปราศจากปัญหาทุจริตคอรัปชั่นได้อย่างไร
ที่น่าสนใจคือ ประชาชนร้อยละ 37.4 เห็นด้วยกับการนำรูปแบบ “คณะลูกขุน” มาใช้ในการพิจารณาคดี แต่ร้อยละ 25.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 36.8 ไม่มีความเห็น
แต่ที่น่าห่วง คือ กลุ่มประชาชนถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มสามกลุ่มในสัดส่วนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก คือ ประเด็นขอให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงทุกคน ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา โดยพบว่า ร้อยละ 33.2 เห็นด้วย แต่ร้อยละ 37.5 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 29.3 ไม่มีความเห็น โดยผลสำรวจที่ออกมาเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงประเด็นที่อ่อนไหวทางการเมืองก็จะทำให้ประชาชนถูกแบ่งออกตามแนวคิดที่แตกต่างกันทางการเมืองในสัดส่วนมากพอๆ กัน และอาจส่งผลทำให้แนวคิดแนวทางในการปรองดองประชาชนกลุ่มต่างๆ ของประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบาก
อย่างไรก็ตาม ประชาชนเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 54.1 เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องข้างต้นของกลุ่มคนเสื้อแดงเป็นการปฏิรูปประเทศไทยสู่ความก้าวหน้า ในขณะที่ร้อยละ 13.8 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 32.1 ไม่มีความเห็น
ดร.นพดล กรรณิกา ชี้ให้เห็นข้อมูลที่น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีคือ จำนวนมากหรือร้อยละ 47.8 มีความกังวลค่อนข้างน้อย ถึงไม่กังวลเลยว่าจะเกิดความรุนแรงบานปลายในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายนนี้ ในขณะที่ร้อยละ 17.4 กังวลระดับปานกลาง แต่ร้อยละ 34.8 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามถึงทางออกที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 32.7 เห็นว่ารัฐบาลกับฝ่ายค้านควรร่วมกันสร้างความปรองดอง ในขณะที่ร้อยละ 27.5 เห็นควรยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 24.8 ให้นำทุกคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเที่ยงธรรม และรองๆ ลงไปคือ นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ และอยู่ให้ครบวาระแล้วเลือกตั้งใหม่
ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาจพิจารณาคือ ร้อยละ 43.8 เห็นควรจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 3 เดือน ร้อยละ 37.8 ระบุภายใน 6 เดือน ร้อยละ 16.2 ระบุภายใน 1 ปีและร้อยละ 2.2 มากกว่า 1 ปีขึ้นไป ตามลำดับ
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 53.5 เป็นเพศหญิง
ร้อยละ 46.5 เป็นเพศชาย
ตัวอย่าง ร้อยละ 6.4 อายุต่ำกว่า 20 ปี
ร้อยละ 16.5 อายุระหว่าง 20-29 ปี
ร้อยละ 22.9 อายุระหว่าง 30-39 ปี
ร้อยละ 23.3 อายุระหว่าง 40-49 ปี
และตัวอย่าง ร้อยละ 30.9 อายุระหว่าง 50 ปีขึ้นไป
ตัวอย่าง ร้อยละ 45.7 จบมัธยมศึกษาตอนต้นหรือต่ำกว่า
รองลงมาร้อยละ 28.8 จบมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าหรือ ปวช.
และร้อยละ 14.6 จบปริญญาตรี
ส่วนผู้ที่จบอนุปริญญาหรือเทียบเท่าหรือ ปวส. และจบสูงกว่าปริญญาตรี มีร้อยละ 9.3 และ 1.6 ตามลำดับ
เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่าร้อยละ 44.1 มีอาชีพค้าขายรายย่อย/อิสระ
รองลงมา ร้อยละ 17.2 เป็นผู้รับจ้างใช้แรงงานทั่วไป
ร้อยละ 13.8 เป็นลูกจ้าง/พนักงานบริษัท
ร้อยละ 11.8 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ
ร้อยละ 4.5 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ
ร้อยละ 4.3 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
และร้อยละ 4.3 อื่นๆ อาทิ อาชีพเกษตรกร/ประมง รวมถึงว่างงาน/ไม่ประกอบอาชีพ
โปรดพิจารณารายละเอียดดังตารางต่อไปนี้
ลำดับดับ การชุมนุมทางการเมืองเป็นเรื่องปกติธรรมดาของประเทศที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ค่าร้อยละ 1 เป็นเรื่องปกติธรรมดา 59.3 2 ไม่เป็น 15.6 3 ไม่แน่ใจ 25.1 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 2 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุการเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง ข้อเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไม่มีความเห็น รวมทั้งสิ้น 1) ประกันรายได้ให้เกษตรกรและกรรมกรให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ 76.9 6.2 16.9 100.0 2) ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 5% 67.3 13.7 19.0 100.0 3) ยกเว้นภาษีน้ำมัน 50.8 24.4 24.8 100.0 4) จัดเก็บภาษีมรดกในอัตราก้าวหน้า 46.8 22.8 30.4 100.0 5) นำรูปแบบ “คณะลูกขุน” มาใช้ในการพิจารณาคดี 37.4 25.8 36.8 100.0 6) ให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงทุกคน- นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา 33.2 37.5 29.3 100.0 7) ข้อเรียกร้องข้างต้น เป็นการปฏิรูปประเทศไทยสู่ความก้าวหน้า 54.1 13.8 32.1 100.0 ตารางที่ 3 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุความกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงบานปลายจากการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ลำดับดับ ความกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงบานปลายจากการชุมนุมในวันที่ 19 กันยายน ค่าร้อยละ 1 ค่อนข้างน้อย-ไม่กังวลเลย 47.8 2 ปานกลาง 17.4 3 ค่อนข้างมาก-กังวลมากที่สุด 34.8 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 4 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุทางออกที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ลำดับดับ ทางออกที่ดีที่สุดเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ค่าร้อยละ 1 รัฐบาลกับฝ่ายค้านร่วมกันสร้างความปรองดอง 32.7 2 ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ 27.5 3 นำทุกคดีเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเที่ยงธรรม 24.8 4 นายกรัฐมนตรีลาออก 7.5 5 แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.3 6 ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ 2.0 7 อื่นๆ ระบุ อยู่ให้ครบวาระ 4 ปี แล้วเลือกตั้งใหม่ เป็นต้น 2.2 รวมทั้งสิ้น 100.0 ตารางที่ 5 แสดงค่าร้อยละของตัวอย่างที่ระบุระยะเวลาที่ควรจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ลำดับดับ ระยะเวลาที่ควรจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ ค่าร้อยละ 1 ภายใน 3 เดือน 43.8 2 ภายใน 6 เดือน 37.8 3 ภายใน 1 ปี 16.2 4 มากกว่า 1 ปี 2.2 รวมทั้งสิ้น 100 --เอแบคโพลล์-- -พห-