ประกาศคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
ที่ กธ 2/2546
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาทของเลขาธิการ
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 (6) มาตรา 17 (5) และมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542 อันเป็นพระราชบัญญัติ ที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าจึงออกประกาศดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"ข้อพิพาท" หมายความว่า ข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างผู้ร้องกับผู้ถูกร้อง
"ผู้ร้อง" หมายความว่า สมาชิกหรือลูกค้าที่ยื่นคำร้อง เพื่อให้มีการระงับข้อพิพาทโดยเลขาธิการ
"ผู้ถูกร้อง" หมายความว่า สมาชิกหรือลูกค้าที่ถูกร้อง เพื่อให้มีการระงับข้อพิพาทโดยเลขาธิการ
"เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
ข้อ 2 การดำเนินกระบวนการพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาทของเลขาธิการให้เป็นไปตามประกาศนี้ การใดที่มิได้ระบุไว้ ให้ดำเนินการไปตามที่เลขาธิการเห็นสมควร
ข้อ 3 การยื่นคำร้องเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงาน ให้ยื่นตามแบบคำร้องที่เลขาธิการกำหนด
เมื่อผู้ถูกร้องได้รับสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาทแล้ว อาจยื่นคำคัดค้านการเสนอข้อพิพาทหรือคำคัดค้านข้อพิพาทต่อสำนักงานตามแบบที่สำนักงานกำหนด ภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ได้รับสำเนาคำร้องเสนอข้อพิพาท
ข้อ 4 เลขาธิการอาจรวมข้อพิพาทหลายข้อพิพาทเป็นข้อพิพาทเดียว ตามที่เลขาธิการเห็นสมควร เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาท ในการนี้ ให้ผู้ร้องทุกรายตกลงกันแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินกระบวนการพิจารณาเป็นหนังสือตามแบบที่สำนักงานกำหนด เพื่อดำเนินการใด ๆ ในกระบวนการพิจารณาแทนผู้ร้องทุกราย ทั้งนี้ หากเลขาธิการเห็นว่าการตกลงกันแต่งตั้งตัวแทนดังกล่าวจะเป็นการเสียเวลา เลขาธิการจะเลือกผู้ร้องคนหนึ่งคนใดให้เป็นตัวแทนก็ได้
ข้อ 5 ในกรณีที่คู่กรณีประสงค์จะแต่งตั้งบุคคลใดเป็นตัวแทนในการดำเนินการใดๆ ในกระบวนการพิจารณาหรือประสงค์จะแต่งตั้งบุคคลใดเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินกระบวนการพิจารณา ให้แจ้งชื่อและที่อยู่ของบุคคลดังกล่าวโดยทำเป็นหนังสือและยื่นต่อสำนักงาน
ข้อ 6 การพิจารณาข้อพิพาทของเลขาธิการ ให้คู่พิพาทมีโอกาสเสนอ พยาน เอกสารและหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างของตน โดยให้ดำเนินการอย่างเปิดเผย และโปร่งใส
ข้อ 7 หากเลขาธิการเห็นว่าจำเป็นและสมควร อาจขอความเห็นเกี่ยวกับข้อพิพาทจากผู้มีความรู้และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับข้อพิพาทดังกล่าว เพื่อให้ความเห็นที่เกี่ยวข้องในข้อพิพาทได้
ให้เลขาธิการกำหนดค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญตามที่เห็นสมควร โดยค่าตอบแทนดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนการพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาทตามข้อ 10
ข้อ 8 เมื่อเลขาธิการปิดการพิจารณาแล้ว ให้เลขาธิการทำคำชี้ขาดส่งไปยังคู่กรณีภายในเวลาอันสมควร
ข้อ 9 ค่าธรรมเนียมงานธุรการให้คิดในอัตราร้อยละสองของค่าเสียหายที่เรียกร้อง ทั้งนี้ ต้องไม่ต่ำกว่าห้าพันบาท โดยเลขาธิการจะกำหนดผู้มีหน้าที่ในการชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวและถือเป็นรายได้ของสำนักงาน
ในกรณีที่เลขาธิการรวมข้อพิพาทตามข้อ 4 ให้คิดค่าธรรมเนียมงานธุรการตามอัตราในวรรคหนึ่งจากค่าเสียหายที่เรียกร้องรวมกันทั้งหมด ข้อ 10 ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินกระบวนการพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาทโดยไม่รวมค่าธรรมเนียมงานธุรการ ให้คู่กรณีรับภาระฝ่ายละกึ่งหนึ่งของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่ากระบวนการพิจารณาและชี้ขาดข้อพิพาทเริ่มตั้งแต่วันนัดพิจารณานัดแรก
ข้อ 11 ให้คู่กรณีแต่ละฝ่ายวางเงินประกันค่าธรรมเนียมงานธุรการตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 9 ก่อนวันนัดพิจารณานัดแรก
ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดหรือทั้งสองฝ่ายไม่วางเงินประกันค่าธรรมเนียมงานธุรการตามวรรคแรก ให้เลขาธิการสั่งการตามที่เห็นสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ข้อ 12 ในการชี้ขาดของเลขาธิการ หากเลขาธิการมีคำสั่งให้คู่กรณีฝ่ายใดเป็นผู้มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียม สำนักงานจะคืนเงินประกันค่าธรรมเนียมโดยไม่มีดอกเบี้ยให้แก่คู่กรณีที่วางเงินประกันไว้เกินจากจำนวนที่เลขาธิการมีคำสั่งให้ชำระ ภายในเจ็ดวันนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่เลขาธิการมีคำสั่งเช่นว่านั้น
ประกาศ ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2546
(นายอดิศัย โพธารามิก)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ประธานกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า