ประกาศคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
ที่ กน 1/2547
เรื่อง การดำรงฐานะทางการเงินสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ
การซื้อขายล่วงหน้า ประเภทนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า
*******************
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 36 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าจึงออกประกาศดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ในประกาศนี้
"หลักทรัพย์" หมายความว่า หลักทรัพย์ตามที่สำนักงานกำหนด
"ทุนจดทะเบียน" หมายความว่า ทุนจดทะเบียนของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดและให้หมายความรวมถึงทุนซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกันของนิติบุคคลอื่น
"ทุนที่ออกและชำระแล้ว" หมายความว่า ทุนที่ออกและชำระแล้วของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดและให้หมายความรวมถึงทุนที่ออกและชำระแล้วซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกันของนิติบุคคลอื่น
"ส่วนของผู้ถือหุ้น" หมายความว่า ส่วนของเจ้าของของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบด้วย
(1) หุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วและส่วนเกินหรือส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นสามัญ
(2) หุ้นบุริมสิทธิที่ออกและชำระแล้วและส่วนเกินหรือส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นบุริมสิทธิ
(3) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า
(4) ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ ส่วนเกินหรือส่วนต่ำกว่าทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขายและผลต่างจากการแปลงค่างบการเงิน และ
(5) กำไรสะสมจัดสรรเพื่อสำรองตามกฎหมาย กำไรสะสมจัดสรรเพื่อวัตถุประสงค์อื่นและกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรหรือขาดทุนสะสมส่วนของผู้ถือหุ้นยังให้หมายความรวมถึงส่วนของเจ้าของของนิติบุคคลอื่นซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกันด้วย
ทั้งนี้ ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระบุในข้อ (1) ถึง (5) ให้หักด้วยหุ้นทุนซื้อคืน
"สำนักหักบัญชี" หมายความว่า สำนักหักบัญชีที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ
"หน่วยงานกำกับดูแล" หมายความว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัย และหน่วยงานอื่นตามที่สำนักงานกำหนด
"พระราชบัญญัติ" หมายความว่า พระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542
ข้อ 2 ให้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้า
(1) มีทุนจดทะเบียนเฉพาะหุ้นสามัญไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท
(2) มีทุนที่ออกและชำระแล้วเฉพาะหุ้นสามัญและส่วนเกินหรือส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นสามัญไม่ต่ำกว่า 12.5 ล้านบาท และ
(3) มีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 12.5 ล้านบาท เมื่อหักด้วยค่าความนิยม ออกแล้ว
ทั้งนี้ ให้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าดำรงทุนจดทะเบียน ทุนที่ออกและชำระแล้วและส่วนของผู้ถือหุ้นตาม (1) (2) และ (3) ตลอดระยะเวลาของการเป็นนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า
ข้อ 3 ให้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้ารายงานฐานะทางการเงิน ณ วันทำการสุดท้ายของเดือนต่อสำนักงานตามแบบที่สำนักงานกำหนด ภายในวันที่ 10 ของเดือนถัดไป
ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น สำนักงานอาจให้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้ารายงานฐานะทางการเงิน ณ วันทำการวันใดวันหนึ่ง ภายในระยะเวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้
ข้อ 4 ในกรณีที่นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าดำรงฐานะทางการเงินต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต้น โดย
(1) มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิที่คำนวณตามข้อ 6 ต่ำกว่า 10.50 ล้านบาท หรือ
(2) มีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อยอดรวมของเงินสดและหลักทรัพย์ของลูกค้าซึ่งแยกบัญชีไว้ต่ำกว่าร้อยละ 10.00 หรือ
(3) เกณฑ์ขั้นต้นอื่นตามที่สำนักงานกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ส.ล. นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(ก) รายงานฐานะทางการเงิน ณ วันที่ฐานะทางการเงินต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต้นภายในวันทำการถัดไป
(ข) รายงานฐานะทางการเงินของแต่ละวันทำการต่อเนื่องไปจนกว่าจะสามารถดำรงฐานะทางการเงินตามเกณฑ์ขั้นต้นทุกเกณฑ์ติดต่อกันเป็นเวลา 20 วันทำการ ตามแบบที่สำนักงานกำหนด และ
(ค) ส่งแผนการดำรงฐานะทางการเงินภายใน 5 วันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ฐานะทางการเงินต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต้น
อนึ่ง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เลขาธิการมีอำนาจสั่งการเป็นอย่างอื่นได้
ข้อ 5 ในกรณีที่นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าดำรงฐานะทางการเงินต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ โดย
(1) มีเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิที่คำนวณตามข้อ 6 ต่ำกว่า 7.00 ล้านบาท หรือ
(2) มีอัตราส่วนเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิต่อยอดรวมของเงินสดและหลักทรัพย์ของลูกค้าซึ่งแยกบัญชีไว้ต่ำกว่าร้อยละ 5.00 หรือ
(3) เกณฑ์ขั้นต่ำอื่นตามที่สำนักงานกำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ส.ล. นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(ก) แจ้งให้สำนักงานทราบทันทีและยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันทำการถัดไป
(ข) รายงานฐานะทางการเงิน ณ วันที่ฐานะทางการเงินต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำภายในวันทำการถัดไป ตามแบบที่สำนักงานกำหนด
(ค) ทำธุรกรรมเป็นนายหน้าซื้อขายล่วงหน้าเฉพาะการหักกลบรายการของลูกค้าที่มีอยู่เดิมเท่านั้นและให้ดำเนินการเพื่อโอนบัญชีลูกค้าให้กับนายหน้าซื้อขายล่วงหน้ารายอื่นทันที และ
(ง) ปฏิบัติตามคำสั่งของเลขาธิการโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ
ข้อ 6 การคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ให้นำเงินกองทุนสภาพคล่อง ที่คำนวณตามข้อ 7 หักด้วยค่าความเสี่ยงตามที่สำนักงานกำหนด
ข้อ 7 การคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง ให้ดำเนินการตามลำดับดังนี้
(1) นำสินทรัพย์หมุนเวียนที่คำนวณได้ตามข้อ 8 หักด้วยหนี้สินที่คำนวณได้ตามข้อ 9
(2) นำผลที่ได้จาก (1) บวกด้วยกำไรและหักด้วยขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้วและจากสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ ขนาดของผลกำไรหรือขาดทุนให้คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าตลาดของข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้วและสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ในกรณีที่ไม่มีมูลค่าตลาด ให้ใช้มูลค่าตามทฤษฎี
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง สำนักงานอาจประกาศเปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณและสิ่งที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องก็ได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ก.ส.ล.
ข้อ 8 สินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องตามข้อ 7 ได้แก่ เงินสดและสินทรัพย์อื่นที่คาดว่าจะเปลี่ยนเป็นเงินสดหรือขายได้ภายในระยะเวลา 12 เดือนนับจากวันที่คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ
มูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง ให้คำนวณด้วยราคาตลาด ถ้าไม่มีราคาตลาดให้ใช้ราคาตามทฤษฎี แต่ในกรณีที่ไม่สามารถระบุราคาตลาดหรือราคาตามทฤษฎีได้ ให้คำนวณด้วยจำนวนเงินที่ไม่เกินมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์หมุนเวียน
สินทรัพย์ดังต่อไปนี้ มิให้ถือเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง
(1) บัญชีลูกค้าที่ไม่มีหลักประกันแต่ละรายการจากการซื้อขายล่วงหน้าที่มียอดคงเหลือด้านเดบิตซึ่งค้างชำระเกินกว่า 1 วันทำการ
(2) สินทรัพย์หมุนเวียนตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ในส่วนที่คาดว่าจะไม่ได้รับชำระหรือไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดหรือขายได้ภายในระยะเวลา 12 เดือนนับจากวันที่คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ
(3) เงินสดและหลักทรัพย์ของลูกค้าซึ่งแยกบัญชีไว้
(4) วัสดุสิ้นเปลือง ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าและค่าใช้จ่ายรอตัดบัญชี
(5) เงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งไม่มีหลักประกัน ยกเว้น
(ก) ลูกหนี้สำนักหักบัญชี
(ข) ลูกหนี้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเกิดจากข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้า
(ค) ลูกหนี้การค้าที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจปกตินอกเหนือจากธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้าที่ครบกำหนดชำระภายใน 60 วัน
(ง) ค่าตอบแทนในการเป็นนายหน้าซื้อขายล่วงหน้าและค่าธรรมเนียมการซื้อขายล่วงหน้าค้างรับที่ครบกำหนดชำระภายใน 7 วัน
(จ) ดอกเบี้ยค้างรับที่ครบกำหนดชำระภายใน 30 วัน
(ฉ) เงินปันผลค้างรับที่ครบกำหนดชำระภายใน 30 วัน
(ช) ลูกหนี้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันที่ครบกำหนดชำระภายใน 21 วัน
(ซ) ค่าสินค้าจ่ายล่วงหน้าตามข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้วและจากสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันซึ่งครบกำหนดส่งมอบภายใน 60 วัน
สินทรัพย์ดังต่อไปนี้ ได้แก่ บัญชีลูกค้าที่มีหลักประกันเพียงพอที่มียอดคงเหลือด้านเดบิตซึ่งค้างชำระเกินกว่า 1 วันทำการ เงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นที่มีหลักประกันและครบกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากวันที่คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ จะถือเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง เฉพาะเมื่อหลักประกันนั้น
(1) เป็นเงินสด หรือ
(2) เป็นหนังสือค้ำประกันซึ่งไม่สามารถบอกเลิกได้ก่อนครบกำหนดจากสถาบันการเงิน หรือ
(3) เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้
(ก) หลักประกันต้องไม่มีภาระผูกพันต่อบุคคลอื่น และ
(ข) หลักประกันสามารถขายหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที และ
(ค) หลักประกันต้องอยู่ในความครอบครองของนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งนายหน้าซื้อขายล่วงหน้ามีอำนาจที่จะขายหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที
ทั้งนี้ จำนวนที่จะถือเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องให้ถือตามจำนวนที่เป็นจริงแต่ต้องไม่เกินมูลค่าของหลักประกันสุทธิจากค่าความเสี่ยงตามที่สำนักงานกำหนด
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง สำนักงานอาจแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการคำนวณและเงื่อนไขเกี่ยวกับสินทรัพย์หมุนเวียนตามที่กำหนดในข้อนี้ก็ได้
ข้อ 9 หนี้สินที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องตามข้อ 7 ได้แก่ หนี้สินและภาระผูกพันทุกรายการ ยกเว้นรายการดังต่อไปนี้
(1) เงินสดและหลักทรัพย์ของลูกค้าซึ่งแยกบัญชีไว้
(2) หนี้สินไม่หมุนเวียนตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปซึ่งมีลักษณะคล้ายทุน ได้แก่ หุ้นกู้และตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่ไม่มีเงื่อนไขให้ชำระคืนได้ก่อนกำหนด 1 ปี หุ้นกู้ที่บังคับต้องแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิและหนี้สินไม่หมุนเวียนอื่นตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปซึ่งมีลักษณะคล้ายทุนตามที่สำนักงานกำหนด ทั้งนี้ มูลค่ารวมของหนี้สินไม่หมุนเวียนข้างต้นให้ถือตามจำนวนที่เป็นจริงแต่ต้องไม่เกินส่วนของผู้ถือหุ้นหักด้วยค่าความนิยม
(3) หนี้สินไม่หมุนเวียนตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปที่หักรายการตาม (2) ออกแล้ว โดยให้คิดเฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าราคาตามบัญชีของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนซึ่งสามารถโอนสิทธิได้ที่ใช้ในธุรกิจปกติและในธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้า
เพื่อประโยชน์ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง สำนักงานอาจแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ วิธีการคำนวณและเงื่อนไขเกี่ยวกับหนี้สินตามที่กำหนดในข้อนี้ก็ได้
ข้อ 10 นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานกำหนดในการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ
ข้อ 11 นายหน้าซื้อขายล่วงหน้ารายใดที่ประกอบกิจการอื่นด้วย โดยกิจการดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลอื่น หากนายหน้าซื้อขายล่วงหน้ารายนั้นไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับการดำรงฐานะทางการเงินขั้นต่ำของหน่วยงานกำกับดูแลนั้น ให้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) แจ้งให้สำนักงานทราบทันทีและยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรภายในวันทำการถัดไป
(2) ปฏิบัติตามที่เลขาธิการสั่ง
ข้อ 12 ความในประกาศนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปและมาตรฐานการบัญชี หากมิได้กำหนดไว้ในคำจำกัดความว่าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใดหรือมาตรฐานใดเป็นการเฉพาะ ให้ถือปฏิบัติตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปและมาตรฐานการบัญชี
ข้อ 13 ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยเปิดการซื้อขายล่วงหน้าเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2547
(นายวัฒนา เมืองสุข)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า
-พห-