ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่ สน 9/2551

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday November 19, 2008 14:58 —ประกาศตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าฯ

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า

ที่ สน 9/2551

เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ

*******************

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 7 แห่งประกาศคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่ กน 2/2550 เรื่อง การดำรงฐานะทางการเงินสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้า ประเภทนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า ลงวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่ กน 5/2551 เรื่อง การดำรงฐานะทางการเงินสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้า ประเภทนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า(ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2551 และประกาศคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่ กน 8/2551 เรื่อง การดำรงฐานะทางการเงินสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้า ประเภทนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ประกอบกับมติคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ในการประชุมครั้งที่ 3/2550 (ครั้งที่ 42) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าจึงออกประกาศดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่ สน 6/2547 เรื่อง ค่าความเสี่ยงที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่ สน 8/2547 เรื่อง มูลค่าสินทรัพย์บางประเภทที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ลงวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 และประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ที่ สน 9/2547 เรื่อง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สำนักงานยอมรับ ลงวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 การยกเลิกประกาศตามวรรคหนึ่งไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์ของการใดๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้วตามประกาศที่ถูกยกเลิกดังกล่าว

ข้อ 3 ในประกาศนี้

“หลักทรัพย์” หมายความว่า หลักทรัพย์ตามที่สำนักงานกำหนด

“ส่วนของผู้ถือหุ้น” หมายความว่า ส่วนของเจ้าของของบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบด้วย

(1) หุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วและส่วนเกินหรือส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นสามัญ

(2) หุ้นบุริมสิทธิที่ออกและชำระแล้วและส่วนเกินหรือส่วนต่ำกว่ามูลค่าหุ้นบุริมสิทธิ

(3) ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิของนายหน้าซื้อขายล่วงหน้า (4) ส่วนเกินทุนจากการตีราคาสินทรัพย์ ส่วนเกินหรือส่วนต่ำกว่าทุนจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขายและผลต่างจากการแปลงค่างบการเงิน และ

(5) กำไรสะสมจัดสรรเพื่อสำรองตามกฎหมาย กำไรสะสมจัดสรรเพื่อวัตถุประสงค์อื่นและกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรหรือขาดทุนสะสม ส่วนของผู้ถือหุ้นยังให้หมายความรวมถึงส่วนของเจ้าของของนิติบุคคลอื่นซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกันด้วย

ทั้งนี้ ส่วนของผู้ถือหุ้นที่ระบุในข้อ (1) ถึง (5) ให้หักด้วยหุ้นทุนซื้อคืน

“เงินกองทุนสภาพคล่อง” หมายความว่า จำนวนของสินทรัพย์หมุนเวียนที่สูงกว่าหนี้สินที่ได้ดำเนินการคำนวณตามประกาศนี้

“เงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ” หมายความว่า เงินกองทุนสภาพคล่องหักด้วยค่าความเสี่ยงตามประกาศนี้

“ตลาด” (Exchange) หมายความว่า ตลาดที่มีการซื้อขายอนุพันธ์ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการไม่ว่าในหรือต่างประเทศและให้หมายความรวมถึงตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยด้วย

“ศูนย์ซื้อขาย” (Over-the-Counter Center) หมายความว่า ศูนย์ซื้อขายที่มีการซื้อขายอนุพันธ์ที่ได้รับการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการไม่ว่าในหรือต่างประเทศ

“สินค้าเกษตร” หมายความว่า สินค้าเกษตรที่ซื้อขายในตลาดทั่วไปและให้หมายความรวมถึงสินค้าเกษตรตามพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ด้วย

“สำนักหักบัญชี” หมายความว่า สำนักหักบัญชีที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า

ข้อ 4 ความในประกาศนี้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปและมาตรฐานการบัญชี หากมิได้กำหนดไว้ในคำจำกัดความว่าให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ใดหรือมาตรฐานใดเป็นการเฉพาะ ให้ถือปฏิบัติตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไปและมาตรฐานการบัญชี

หมวด 1

การคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ

ข้อ 5 ให้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ โดยนำเงินกองทุนสภาพคล่องที่คานวณได้ตามข้อ 6 หักด้วยค่าความเสี่ยงตามข้อ 11

ข้อ 6 ให้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง โดยดำเนินการตามลำดับดังนี้

(1) นำสินทรัพย์หมุนเวียนที่คำนวณได้ตามข้อ 7 หักด้วยหนี้สินที่คำนวณได้ตามข้อ 8

(2) นำผลที่ได้จาก (1) บวกด้วยกำไรและหักด้วยขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจากข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้วและจากสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ ขนาดของผลกำไรหรือขาดทุนให้คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่าตลาดของข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้วและสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ในกรณีที่ไม่มีมูลค่าตลาด ให้ใช้มูลค่าตามทฤษฎี

ข้อ 7 สินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องตามข้อ 6 ได้แก่ เงินสดและสินทรัพย์อื่นที่คาดว่าจะเปลี่ยนเป็นเงินสดหรอขายได้ภายในระยะเวลาสิบสองเดือนนับจากวันที่คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ

มูลค่าสินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง ให้คำนวณด้วยราคาตลาด ถ้าไม่มีราคาตลาดให้ใช้ราคาตามทฤษฎี แต่ในกรณีที่ไม่สามารถระบุราคาตลาดหรือราคาตามทฤษฎีได้ ให้คำนวณด้วยจำนวนเงินที่ไม่เกินมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์หมุนเวียน

(1) สินทรัพย์ดังต่อไปนี้ มิให้ถือเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

(ก) บัญชีลูกค้าที่ไม่มีหลักประกันแต่ละรายการจากการซื้อขายล่วงหน้าที่มียอดคงเหลือด้านเดบิตซึ่งค้างชำระเกินกว่าหนึ่งวันทำการ

(ข) สินทรัพย์หมุนเวียนตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป ในส่วนที่คาดว่าจะไม่ได้รับชำระหรือไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดหรือขายได้ภายในระยะเวลาสิบสองเดือนนับจากวันที่คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ

(ค) เงินสดและหลักทรัพย์ของลูกค้าซึ่งแยกบัญชีไว้

(ง) วัสดุสิ้นเปลือง ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าและค่าใช้จ่ายรอตัดบัญชี

(จ) เงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งไม่มีหลักประกัน ยกเว้น

1) ลูกหนี้สำนักหักบัญชี

2) ลูกหนี้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าซึ่งเกิดจากข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้า

3) ลูกหนี้การค้าที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจปกตินอกเหนือจากธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้าที่ครบกำหนดชำระภายในหกสิบวัน

4) ค่าตอบแทนในการเป็นนายหน้าซื้อขายล่วงหน้าและค่าธรรมเนียมการซื้อขายล่วงหน้าค้างรับที่ครบกำหนดชำระภายในเจ็ดวัน

5) ดอกเบี้ยค้างรับที่ครบกำหนดชำระภายในสามสิบวัน

6) เงินปันผลค้างรับที่ครบกำหนดชำระภายในสามสิบวัน

7) ลูกหนี้ค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันที่ครบกำหนดชำระภายในยี่สิบเอ็ดวัน

8) ค่าสินค้าจ่ายล่วงหน้าตามข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้วและจากสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันซึ่งครบกำหนดส่งมอบภายในหกสิบวัน

(2) สินทรัพย์ดังต่อไปนี้ ได้แก่ บัญชีลูกค้าที่มีหลักประกันเพียงพอที่มียอดคงเหลือด้าน เดบิตซึ่งค้างชำระเกินกว่าหนึ่งวันทำการ เงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นที่มีหลักประกันและครบกำหนดชำระภายในสิบสองเดือนนับจากวันที่คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ จะถือเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง เฉพาะเมื่อหลักประกันนั้น

(ก) เป็นเงินสด หรือ

(ข) เป็นหนังสือค้ำประกันซึ่งไม่สามารถบอกเลิกได้ก่อนครบกำหนดจากสถาบันการเงิน หรือ

(ค) เป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ในความต้องการของตลาดซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้

1) หลักประกันต้องไม่มีภาระผูกพันต่อบุคคลอื่น และ

2) หลักประกันสามารถขายหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที และ

3) หลักประกันต้องอยู่ในความครอบครองของนายหน้าซื้อขายล่วงหน้าซึ่งนายหน้าซื้อขายล่วงหน้ามีอำนาจที่จะขายหรือเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที

ทั้งนี้ จำนวนที่จะถือเป็นสินทรัพย์หมุนเวียนที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องให้ถือตามจำนวนที่เป็นจริงแต่ต้องไม่เกินมูลค่าของหลักประกันสุทธิจากค่าความเสี่ยงตามข้อ 11

ข้อ 8 หนี้สินที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องตามข้อ 6 ได้แก่ หนี้สินและภาระผูกพันทุกรายการ ยกเว้นรายการดังต่อไปนี้

(1) เงินสดและหลักทรัพย์ของลูกค้าซึ่งแยกบัญชีไว้

(2) หนี้สินไม่หมุนเวียนตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปซึ่งมีลักษณะคล้ายทุน ได้แก่ หุ้นกู้และตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่ไม่มีเงื่อนไขให้ชำระคืนได้ก่อนกำหนดหนึ่งปี หุ้นกู้ที่บังคับต้องแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิและหนี้สินไม่หมุนเวียนอื่นตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปซึ่งมีลักษณะคล้ายทุนตามที่สำนักงานกำหนดทั้งนี้ มูลค่ารวมของหนี้สินไม่หมุนเวียนข้างต้นให้ถือตามจำนวนที่เป็นจริงแต่ต้องไม่เกินส่วนของผู้ถือหุ้นหักด้วยค่าความนิยม

(3) หนี้สินไม่หมุนเวียนตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปที่หักรายการตาม (2) ออกแล้ว โดยให้คิดเฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าราคาตามบัญชีของที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และสินทรัพย์ไม่มีตัวตนซึ่งสามารถโอนสิทธิได้ที่ใช้ในธุรกิจปกติและในธุรกิจการซื้อขายล่วงหน้า

ข้อ 9 ในกรณีที่นายหน้าซื้อขายล่วงหน้ามีรายการหรือเปลี่ยนแปลงรายการเกี่ยวกับหนี้สินไม่หมุนเวียนตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปซึ่งมีลักษณะคล้ายทุน หรือเกี่ยวกับภาระผูกพันทุกรายการตามข้อ 8 ให้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้านำส่งสำเนาสัญญาและ/หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหนี้สินหรือภาระผูกพันดังกล่าวในเดือนนั้นต่อสำนักงาน ภายในวันที่สิบของเดือนถัดไป

ข้อ 10 ให้นายหน้าซื้อขายล่วงหน้าคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ ประเภทหลักทรัพย์ ตราสารทางการเงิน และอนุพันธ์อื่นที่มิใช่อนุพันธ์ของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตรตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่าด้วย การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ และหนังสือเวียน ที่ ธ.(ว) 3/2549 เรื่อง การนำส่งประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 และประกาศอื่นและหนังสือเวียนอื่นที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่สำนักงานจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

หมวด 2

ค่าความเสี่ยง

ข้อ 11 ค่าความเสี่ยงที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิมีดังต่อไปนี้

(1) ค่าความเสี่ยงของค่าสินค้าจ่ายล่วงหน้าตามข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้ว (Fixed Price Commitment) (“ข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้ว”) และตามสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกันคิดในอัตราร้อยละห้าของมูลค่าตลาดของสินค้าตามข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้วและสัญญาอื่นๆ นั้น ในกรณีไม่มีมูลค่าตลาด ให้ใช้มูลค่ายุติธรรม

(2) ค่าความเสี่ยงของสินค้าที่ได้รับการป้องกันความเสี่ยงด้านราคาแล้ว คิดในอัตราร้อยละห้าของมูลค่าของสินค้าที่ใช้คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

(3) ค่าความเสี่ยงของสินค้าที่ไม่ได้รับการป้องกันความเสี่ยงด้านราคา คิดในอัตราร้อยละ ยี่สิบของมูลค่าของสินค้าที่ใช้คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

(4) ค่าความเสี่ยงของสินค้าที่เตรียมพร้อมส่งมอบตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) (“สัญญาซื้อขายล่วงหน้า”) ออปชัน (Options) (“ออปชัน”) ข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้วและตามสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ให้คำนวณโดยนำค่าความเสี่ยงของคู่สัญญาในอัตราตามประเภทของคู่สัญญาตามข้อ 11 (12) คูณด้วยมูลค่าที่เป็นบวกของผลต่างของเงินที่จะได้รับกับมูลค่าของสินค้านั้นตามที่ใช้คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

(5) ค่าความเสี่ยงจากการมีฐานะในอนุพันธ์ของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตร ซึ่งได้แก่ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ออปชัน หรือจากข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้วและสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ให้คำนวณดังนี้

(ก) หามูลค่าของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตรโดยใช้ปริมาณของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตรที่อนุพันธ์อ้างอิงถึง คูณด้วยราคาตลาดของสินค้าเกษตรหรือสัมประสิทธิ์เพื่อการแปลงมูลค่า ทั้งนี้ หากสินค้าเกษตรไม่มีมูลค่าตลาด ให้ใช้มูลค่ายุติธรรม

(ข) นำมูลค่าของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตรที่คำนวณได้ตาม (ก)คูณด้วยค่าความเสี่ยงในอัตราดังนี้

1) ในกรณีอนุพันธ์ของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตรที่มีฐานะเพื่อการป้องกันความเสี่ยงหรืออนุพันธ์ของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตรที่มีฐานะมิใช่เพื่อการป้องกันความเสี่ยงแต่ได้รับการป้องกันความเสี่ยงโดยอนุพันธ์อื่น คิดค่าความเสี่ยงในอัตราร้อยละห้าของมูลค่าของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตรข้างต้น

ในกรณีที่อนุพันธ์เป็นอนุพันธ์จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนในตลาดหรือศูนย์ซื้อขาย และตลาดหรือศูนย์ซื้อขายได้กำหนดเงินประกันความเสี่ยงหรือเงินประกันขั้นต่ำเอาไว้ คิดค่าความเสี่ยงในอัตราร้อยละยี่สิบของอัตราเงินประกันความเสี่ยงหรือเงินประกันขั้นต่ำที่มีการเรียกเก็บ

2) ในกรณีอนุพันธ์ของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตรที่มีฐานะมิใช่เพื่อการป้องกันความเสี่ยงและไม่ได้รับการป้องกันความเสี่ยงโดยอนุพันธ์อื่น คิดค่าความเสี่ยงในอัตราร้อยละยี่สิบของมูลค่าของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตรข้างต้น

ในกรณีที่อนุพันธ์เป็นอนุพันธ์จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนในตลาดหรือศูนย์ซื้อขาย และตลาดหรือศูนย์ซื้อขายได้เรียกเก็บเงินประกันความเสี่ยงหรือเงินประกันขั้นต่ำเอาไว้ คิดค่าความเสี่ยงในอัตราเงินประกันความเสี่ยงหรือเงินประกันขั้นต่ำที่มีการเรียกเก็บ

(ค) นำผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณตาม (ข) บวกด้วยผลลัพธ์ของค่าความเสี่ยงของคู่สัญญาในอัตราตามประเภทของคู่สัญญาตามข้อ 11 (12) คูณด้วยมูลค่าของอนุพันธ์ที่เป็นบวกและใช้คำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

ทั้งนี้ ค่าความเสี่ยงที่เป็นผลลัพธ์สุดท้ายจากการคำนวณตาม (ก) (ข) และ (ค) ต้องไม่เกินร้อยละหนึ่งร้อยของมูลค่าอนุพันธ์ที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องของอนุพันธ์นั้น

(6) ค่าความเสี่ยงจากการมีฐานะในอนุพันธ์ของสินค้าหรือตัวแปรราคาสินค้าประเภทอื่นนอกจากข้อ 11 (5) ให้คำนวณตามวิธีการและเงื่อนไขที่สำนักงานประกาศกำหนด

(7) ค่าความเสี่ยงของกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้น (Unrealized Gain) จากข้อผูกมัดที่ได้กำหนดราคาไว้แล้วและจากสัญญาอื่นๆ ที่มีลักษณะเดียวกัน ให้คำนวณโดยนำค่าความเสี่ยงของคู่สัญญาในอัตราตามประเภทของคู่สัญญาตามข้อ 11 (12) คูณด้วยขนาดของกำไรที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

(8) ค่าความเสี่ยงของหลักทรัพย์ ตราสารทางการเงิน และอนุพันธ์อื่นที่มิใช่อนุพันธ์ ของสินค้าเกษตรหรือตัวแปรราคาสินค้าเกษตร ให้คำนวณตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ว่าด้วย การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ และหนังสือเวียน ที่ ธ.(ว) 3/2549 เรื่อง การนำส่งประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 และประกาศอื่นและหนังสือเวียนอื่นที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่สำนักงานจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

(9) ค่าความเสี่ยงของเงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งไม่มีหลักประกันที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง ให้คำนวณดังนี้

(ก) ลูกหนี้สำนักหักบัญชี คิดในอัตราร้อยละศูนย์ของมูลค่าลูกหนี้สำนักหักบัญชีที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

(ข) เงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งไม่มีหลักประกันตามข้อ 7 (1) (จ) 2)ถึง 7) คิดในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าของมูลค่าเงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งไม่มีหลักประกันที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

(10) ค่าความเสี่ยงของเงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งมีหลักประกันที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง ให้คำนวณดังนี้

(ก) เงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งมีหลักประกันและยังไม่พ้นกำหนดชำระ คิดในอัตราร้อยละศูนย์จุดห้าของมูลค่าเงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งมีหลักประกันที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

(ข) เงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งมีหลักประกันและพ้นกำหนดชำระไม่เกินสามสิบวัน คิดในอัตราร้อยละหนึ่งจุดห้าของมูลค่าเงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งมีหลักประกันที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

(ค) เงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งมีหลักประกันและพ้นกำหนดชำระเกินกว่าสามสิบวัน คิดในอัตราร้อยละหนึ่งร้อยของมูลค่าเงินทดรองจ่าย เงินให้กู้ยืมและลูกหนี้อื่นซึ่งมีหลักประกันที่ใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่อง

(11) ค่าความเสี่ยงของบัญชีลูกค้าของนายหน้าซื้อขายล่วงหน้าที่มียอดบัญชีต่ำกว่าเกณฑ์เงินประกันขั้นต่ำตั้งแต่สองวันทำการขึ้นไปนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่มียอดบัญชีต่ำกว่าเกณฑ์เงินประกันขั้นต่ำและนายหน้าซื้อขายล่วงหน้าได้เรียกเงินประกันที่ต้องนำมาวางเพิ่มเติมแล้ว เท่ากับจำนวนเงินที่ต้องนำมาวางประกันเพิ่มเติมเพื่อปรับฐานะเงินประกันให้เท่ากับเงินประกันขั้นต่ำ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่สำนักงานกำหนด

(12) ค่าความเสี่ยงของคู่สัญญาแต่ละประเภทให้ใช้อัตราตามประเภทของคู่สัญญาดังนี้

(ก) รัฐบาล หน่วยงานของรัฐและส่วนราชการไทยแต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจไทย อัตราค่าความเสี่ยงเท่ากับร้อยละศูนย์

(ข) ธนาคารแห่งประเทศไทยและกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน อตราค่าความเสี่ยงเท่ากับร้อยละศูนย์

(ค) สำนักหักบัญชี อัตราค่าความเสี่ยงเท่ากับร้อยละศูนย์

(ง) คู่สัญญาที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ AAA หรือเทียบเท่า อัตราค่าความเสี่ยงเท่ากับร้อยละสอง

(จ) คู่สัญญาที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ AA หรือ A หรือ BBB หรือเทียบเท่าอัตราค่าความเสี่ยงเท่ากับร้อยละห้า

(ฉ) คู่สัญญาอื่นนอกเหนือจาก (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) อัตราค่าความเสี่ยงเท่ากับร้อยละหนึ่งร้อย

(13) ค่าความเสี่ยงอื่นตามที่สำนักงานประกาศกำหนด

(14) ค่าความเสี่ยงจากการมีฐานะในเงินตราต่างประเทศอันเกิดจากการที่นายหน้า ซื้อขายล่วงหน้ามีสินทรัพย์และหนี้สินซึ่งใช้ในการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องเป็นเงินตราต่างประเทศและอนุพันธ์ในเงินตราต่างประเทศ วิธีการคำนวณและอัตราค่าความเสี่ยงจากการมีฐานะในเงินตราต่างประเทศในกรณีดังกล่าวข้างต้น ให้เป็นตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ว่าด้วย การคำนวณและการรายงานการคำนวณเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ และหนังสือเวียน ที่ ธ.(ว) 3/2549 เรื่อง การนำส่งประกาศและซักซ้อมความเข้าใจ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 และประกาศอื่นและหนังสือเวียนอื่นที่เกี่ยวข้อง เว้นแต่สำนักงานจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

หมวด 3

สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ

ข้อ 12 อันดับความน่าเชื่อถือของคู่สัญญาตามข้อ 11 (12) (ง) และ(จ) จะต้องไดัรับการจัดอันดับโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สำนักงานยอมรับดังต่อไปนี้

(1) Standard & Poor’s

(2) Moody’s Investors Service

(3) Fitch Rating Limited

(4) บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด

(5) บริษัท ฟิทช์ เรทติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

ประกาศ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ชัยพัฒน์ สหัสกุล

(นายชัยพัฒน์ สหัสกุล)

เลขาธิการ

คณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า

--สำนักงานคณะกรรมการกำกับการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ