โตเกียว--5 พ.ย.--เกียวโด เจบีเอ็น — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์
สมาคมโซคา งักไก ฉลองครบรอบปีที่ 80 ด้วยการจัดงานพบปะสังสรรค์เพื่อระลึกถึงการก่อตั้งสมาคมฯ ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 5,000 คน ซึ่งรวมถึงสมาชิก 250 คนของสมาคมโซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ เอสจีไอ (Soka Gakkai International: SGI) ที่เป็นตัวแทนจาก 65 ประเทศเขตแคว้น
ภายในงานมีการจัดแสดงดนตรี การบรรเลงเพลงจากวงออเคสตร้า และการขับร้องประสานเสียง สลับกับการกล่าวสุนทรพจน์ของท่านมิโนรุ ฮาราดะ (Minoru Harada) ประธานสมาคมโซคา งักไก และการนำเสนอมุมมองของตัวแทนยุวชน เกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของสมาคมฯ ในปีต่อๆ ไป
ท่านไดซาขุ อิเคดะ (Daisaku Ikeda) ประธานเอสจีไอ ได้ส่งข้อความเพื่อกระตุ้นให้สมาชิกยุวชนอุทิศตนเพื่อส่งเสริมสันติภาพให้บังเกิดขึ้นแก่โลกสืบต่อไป โดยกล่าวว่า “ความสมัครสมานสามัคคีและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่ทุกคนแสดงออกมา คือ ภาพสะท้อนสันติภาพแห่งอนาคตที่มนุษยชาติใฝ่ฝันมายาวนาน”
จุดเริ่มต้นของเอสจีไอย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 1930 ในวันนั้น ท่านจึเนะซาบุโร่ มาคิงุจิ (Tsunesaburo Makiguchi) (ค.ศ. 1871 — 1944) และท่านโจเซอิ โทดะ (Josei Toda) (ค.ศ.1900-58) ได้ร่วมกันสถาปนา “โซคา” หรือ สมาคมการศึกษาสร้างคุณค่าตามแนวคิดของท่านมาคิงุจิ โดยทั้งสองท่านเป็นผู้ปฏิบัติตนตามแนวทางพุทธธรรมของพระนิชิเรน (Nichiren Buddhism) จนกระทั่งถึงยุคปีค.ศ.1930 ทางสมาคมการศึกษาสร้างคุณค่าจึงได้เริ่มดำเนินงานตามแนวทางด้านศาสนามากขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากถูกจำคุกในข้อหา “กระทำผิดกฎหมาย” กรณีต่อต้านรัฐบาลทหาร ท่านมาคิงุจิได้เสียชีวิตภายในเรือนจำเมื่อปีค.ศ.1944 ขณะที่ท่านโทดะได้รับการปล่อยตัวในช่วงเวลาไม่นานก่อนที่สงครามจะสิ้นสุดลง ท่านโทดะเริ่มก่อตั้งสมาคมโซคา งักไก ขึ้นใหม่ในฐานะองค์กรพุทธศาสนาโดยถ่ายทอดเจตนารมณ์ในการปลุกพลังในตัวเอง จนกระทั่งสมาคมฯ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นลำดับ
ท่านไดซาขุ อิเคดะ สืบทอดตำแหน่งประธานสมาคมโซคา งักไก ต่อจากท่านโทดะ ในวัย 32 ปี เมื่อปีค.ศ.1960 การดำเนินงานของสมาคมฯ ภายใต้การนำของอิเคดะนับเป็นจุดเริ่มต้นยุคสมัยแห่งความก้าวหน้าและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสมาคมโซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ เอสจีไอในปีค.ศ.1975 ปัจจุบัน เอสจีไอเป็นเครือข่ายชาวพุทธที่ทำงานเพื่อสังคมด้วยการส่งเสริมสันติภาพ วัฒนธรรม และการศึกษาร่วมกับองค์กรต่างๆ 90 แห่ง และสมาชิกของสมาคมจำนวน 12 ล้านคนใน 192 ประเทศเขตแคว้น
สมาชิกของสมาคมเอสจีไอปฏิบัติตนตามคำสอนทางพุทธศาสนาซึ่งสอนโดยพระนิชิเรน พระชาวญี่ปุ่นที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 13 (ค.ศ.1222-82) ซึ่งท่านเชื่อว่าสัทธรรมปุณฑรีกสูตรของพระศากยมุนีพุทธเจ้าเป็นการสรุปคำสอนหลักของศาสนาพุทธ โดยพระสูตรนี้สอนว่าทุกคนสามารถตรัสรู้ได้ ความเชื่อนี้ถูกกล่าวถึงภายในสมาคมเอสจีไอในฐานะ “การปฏิวัติมนุษย์” ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่าการเปลี่ยนแปลงคนๆหนึ่งอย่างถึงรากถึงโคนสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมทั้งหมดได้
นอกจากนั้นเอสจีไอยังเป็นองค์กรเอ็นจีโอที่มีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสันติภาพและการปลดอาวุธ การศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันเอสจีไอยังจัดนิทรรศการเคลื่อนที่และส่งเสริมโครงการต่างๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกระตุ้นให้สาธารณชนสนับสนุนการปลดอาวุธนิวเคลียร์
อิเคดะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะนักปราชญ์ชาวพุทธ นักประพันธ์ และนักสร้างสันติภาพ จนถึงปัจจุบันมีการตีพิมพ์บทสนทนาของเขากับผู้อื่นจำนวน 50 บทสนทนา อาทิ บทสนทนากับ มิคาอิล กอร์บาชอฟ และ ไลนัส พอลลิ่ง เขาอุทิศตนให้กับการสร้างความเข้าใจระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรมและต่างความเชื่อ รวมทั้งทุ่มเทให้กับการฟื้นฟูความเชื่อมั่นระหว่างญี่ปุ่นและประเทศอื่นในเอเชียที่ได้รับความเจ็บปวดจากการรุกรานของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ความพยายามในการส่งเสริมสันติภาพและการศึกษาด้านมนุษยธรรมทำให้อิเคดะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่สถาบันการศึกษาทั่วโลก เขาได้รับปริญญากิตติมศักดิ์และตำแหน่งทางการศึกษาถึง 300 ตำแหน่งจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในกว่า 50 ประเทศ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยมอสโกสเตท ไปจนถึงมหาวิทยาลัยฮ่องกง และมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ในสกอตแลนด์ สหราชอาณาจักร
ท่านสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ 80 ปีของโซคา งักไก ได้ที่ www.sgi.org
ท่านสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ไดซาขุ อิเคดะ ได้ที่ http://www.daisakuikeda.org
แหล่งข่าว: โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
ติดต่อ :
โจน แอนเดอร์สัน
สำนักงานข้อมูลสาธารณะ
โซคา งักไก อินเตอร์เนชั่นแนล
โทรศัพท์: +81-3-5360-9475
โทรสาร: +81-3-5360-9885
อีเมล: janderson[at]sgi.gr.jp
--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --