โตเกียว--10 พ.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์ — เอเชีย — เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์
- ดีเอชแอลระบุ ลอจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยขับเคลื่อนการขยายตัว เพิ่มความมั่งคั่ง และมาตรฐานความเป็นอยู่
- ดีเอชแอลเรียกร้องรัฐบาลและหน่วยงานกำกับดูแลให้ลดภาระด้านการดำเนินการ ปรับปรุงงานด้านศุลกากรและความปลอดภัย รวมถึงมุ่งเน้นการลงทุนด้านสาธารณูปโภคเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเติบโต
ดีเอชแอล ผู้นำระดับโลกด้านอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ ระบุถึงปัจจัยเกื้อหนุนหลัก 3 ประการที่จะช่วยให้กลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพลอจิสติกส์ของตนเอง และลดต้นทุนการซื้อขายได้มากถึง 30% ภายในปีพ.ศ.2563 โดยบริษัทเรียกร้องให้รัฐบาล ผู้ประกอบการเดินเรือ และบริษัทลอจิสติกส์ มาร่วมมือกันลดงานด้านเอกสารและธุรการ ปฏิรูปงานด้านศุลกากรและความปลอดภัย และลงทุนในสาธารณูปโภคเพื่อรักษาข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันของประเทศในกลุ่มเอเปค
(โลโก้: http://www.prnasia.com/sa/2010/09/02/20100902467742-l.jpg )
เฮร์มันน์ อูเดอ (Hermann Ude) ซีอีโอของดีเอชแอล โกลเบิล ฟอร์เวิร์ดดิ้ง (DHL Global Forwarding) กล่าวต่อสื่อมวลชนในกรุงโตเกียวก่อนการประชุม APEC CEO Summit 2010 ว่า “ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา การค้าทั่วโลกเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซนต์ของจีดีพี ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 1 ใน 3 เป็นกว่า 50% (หมายเหตุ 1) ซึ่งทำให้การค้าระหว่างประเทศกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงช่วยปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมลอจิสติกส์ที่ไม่มีประสิทธิภาพในหลายประเทศยังคงขัดขวางการเติบโตด้านการค้า ยกตัวอย่างเช่น ประเทศในกลุ่ม BRIC (บราซิล,รัสเซีย, อินเดีย และจีน) มีงานเอกสารด้านการส่งออก/นำเข้ามากเป็นสองเท่า (หมายเหตุ 2) เมื่อเทียบกับสิงคโปร์หรือเยอรมนี ด้วยเหตุนี้ งานเอกสารอาจเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองเวลามากที่สุดในอุตสาหกรรมการขนส่งทางเรือ อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ต้องถูกเก็บอยู่ในคลังสินค้าเป็นเวลานานกว่าระยะเวลาในการขนส่ง
อูเดอกล่าวว่า ในระยะเวลา 60 วันนับตั้งแต่รับคำสั่งซื้อไปจนถึงส่งมอบสินค้าในการขนส่งทางเรือจากอินเดียไปยังเม็กซิโก พบว่าสินค้าใช้เวลาในการเดินทางไม่ถึงครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งหมายความว่ากว่า 32 วัน (หมายเหตุ 3) เป็นเวลาที่เสียไปกับการยื่นเอกสารเพื่อการส่งออกและนำเข้า และกระบวนการที่ด่านศุลกากร ภาระงานธุรการที่ลดลงจึงถือเป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ทำให้สามารถประหยัดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ได้มากที่สุด และสามารถบรรลุเป้าหมายได้ง่ายด้วยการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น อาทิ e-customs ตลอดจนความร่วมมือข้ามชายแดน และข้อตกลงในระดับรัฐบาล
ระบบศุลกากรและความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในทุกวันนี้และยุคนี้ แต่ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาทั้งหมดได้ โดยเฉลี่ยแล้ว ประเทศในกลุ่ม BRIC ต้องดำเนินการตรวจสอบคาร์โกมากกว่ากลุ่มประเทศที่มีระบบศุลกากรและความปลอดภัยที่ดีที่สุดถึง 10 เท่า โดยที่ไม่มีการปรับปรุงระบบความปลอดภัยที่โดดเด่น การใช้กฎข้อบังคับด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและสอดคล้องกันมากขึ้นทั่วโลกถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูล “การจะก้าวไปข้างหน้านั้นสามารถทำได้ด้วยการปรับปรุงการเข้าถึงข้อมูลให้ดีขึ้น ไม่ใช่การพึ่งพามาตรการความปลอดภัยเพียงอย่างเดียว การแบ่งปันข้อมูล การอำนวยความสะดวกด้วยการร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างธุรกิจ อุตสาหกรรม หน่วยงานสาธารณะ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้โลกของเราปลอดภัยขึ้น” อูเดอกล่าว
การลงทุนด้านสาธารณูปโภคเป็นส่วนที่สำคัญ อาทิ ท่าเรือเชิงยุทธศาสตร์ และระบบถนนและทางรถไฟที่เชื่อมต่อกันก็เป็นสิ่งจำเป็น หากต้นทุนยังคงอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ควบคู่ไปกับการรักษาอัตราการเติบโต “สาธารณูปโภคที่อยู่ในภาวะติดขัดหรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต่ำกว่ามาตรฐานอาจทำให้บริษัทลอจิสติกส์ต่างๆ อาทิ ดีเอชแอล ต้องใช้เส้นทางรองที่ดีที่สุดเพื่อรับประกันการส่งมอบสินค้า และการทำเช่นนี้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ท่าเรือที่มีความสามารถในการรองรับการขนส่งสินค้าไม่มากพออาจส่งผลให้อัตราการขนส่งทางเรือสูงขึ้น 15% ถึง 30% และต้นทุนเหล่านี้จะทำให้การแพร่กระจายของก๊าซ CO2 เพิ่มขึ้นด้วย” อูเดอกล่าว
เนื่องจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่ขยายตัวรวดเร็วกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณ 2-3 เท่า ข้อจำกัดด้านสาธารณูปโภคจึงอาจขัดขวางประสิทธิภาพด้านแข่งขันอย่างรุนแรงในระยะยาว อย่างไรก็ดี การลงทุนเชิงยุทธศาสตร์อาจเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนได้ โดยอาจคิดเป็นสัดส่วนถึง 6% ของการลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ทั้งหมด 30% ภายในปีพ.ศ. 2563
การแก้ไขเรื่องภาษีศุลกากร ความปลอดภัย และสาธารณูปโภคไม่เพียงแต่จะช่วยประหยัดต้นทุนให้กับประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่เท่านั้น แต่ยังช่วยลดช่วงเวลาโอนถ่ายทางการค้าลงได้ถึง 65% (หมายเหตุ 4) และยังสามารถสร้างปริมาณการค้าเพิ่มขึ้น 20% - 40% (หมายเหตุ 5) ด้วย
ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่งด่วนระหว่างประเทศ การขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก ตลอดจนโซลูชั่นด้านลอจิสติกส์ต่างๆ ดีเอชแอลมีบทบาทสำคัญในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าระหว่างประเทศและเขตการปกครองต่างๆกว่า 220 แห่ง ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และเศรษฐกิจที่สำคัญทั้งหมด และได้กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติที่เป็นเลิศระดับโลก
บริษัทร่วมงานกับเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายและบริษัทขนส่งทางเรืออย่างมั่นใจ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะประหยัดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ให้ได้ 30% และทำให้เวลาในการขนส่งทางทะเลในกลุ่มประเทศ BRIC ลดลงโดยเฉลี่ย 65% (หมายเหตุ 6) ท้ายที่สุดนี้ ดีเอชแอลได้พัฒนาโซลูชั่นอย่างกว้างขวาง เพื่อลดต้นทุนด้านธุรการ อาทิ e-freight, EDI connections รวมถึงสร้างสถานที่ดำเนินงานที่มีความปลอดภัยสูงกว่า 100 แห่งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในปฏิบัตการขนส่ง นอกเหนือจากการทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อระบุถึงยุทธศาสตร์ที่จำเป็นต่อการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคแล้ว ดีเอชแอลยังได้ลงทุนในสาธารณูปโภคทั่วโลก และได้ลงทุนกว่า 2.2 พันล้านยูโรเฉพาะในภูมิภาคเอเชียในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้
“การลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ลงให้ได้ 30% ถือเป็นเป้าหมายที่อยู่สูง แต่รัฐบาล บริษัทเดินเรือ และผู้ให้บริการการขนส่งอย่าง ดีเอชแอล สามารถบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าวร่วมกันได้ และหากประเทศต่างๆ ยังต้องการที่จะประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและปรับปรุงมาตรฐานความเป็นอยู่ ก็จะต้องมุ่งมั่นทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ หากหน่วยงานกำกับดูแลลดระเบียบขั้นตอนทางราชการและมีขั้นตอนที่สอดคล้องกันมากขึ้น บริษัทลอจิสติกส์ก็จะทำงานได้อย่างต่อเนื่องในการลดต้นทุนและปรับปรุงระยะเวลาในการขนส่ง และบริษัทขนส่งก็จะรวมกลุ่มเป็นพันธมิตกับผู้ให้บริการด้านลอจิสติกส์ในระดับที่ลึกขึ้น อัตราการเติบโตของตลาดเกิดใหม่ก็จะดำเนินต่อไป ” อูเดอกล่าว
- จบ -
ดีเอชแอล -- ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ระดับโลก
ดีเอชแอล เป็นผู้นำระดับโลกด้านอุตสาหกรรมลอจิสติกส์ และ “ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ระดับโลก” ดีเอชแอลมีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านการขนส่งด่วนระหว่างประเทศ การขนส่งทางอากาศ ทางเรือ และทางบก ตลอดจนโซลูชั่นด้านลอจิสติสก์ต่างๆ และบริการไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ปัจจุบัน ดีเอชแอลมีเครือข่ายเชื่อมโยงครอบคลุมมากกว่า 220 ประเทศและอาณาเขตต่างๆ ทั่วโลก ด้วยบุคลากรกว่า 300,000 คนทั่วโลกที่พร้อมมอบบริการชั้นยอดและให้การสนับสนุนจากทีมงานระดับท้องถิ่นเพื่อความพึงพอใจของลูกค้า ทั้งนี้ ดีเอชแอลได้แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการสนับสนุนการปกป้องสภาพภูมิอากาศ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากภัยพิบัติ และการส่งเสริมด้านการศึกษา
ดีเอชแอล เป็นบริษัทในเครือ ดอยช์ โพสท์ ดีเอชแอล (Deutsche Post DHL) ซึ่งสามารถทำรายได้มากกว่า 4.6 หมื่นล้านยูโรในปีพ.ศ.2552
สำหรับข่าวคราวความเคลื่อนไหวล่าสุดเกี่ยวกับดีเอชแอลในเอเชียแปซิฟิก สามารถดูได้ที่ http://press.ap.dhl.com
หมายเหตุ:
1 ธนาคารโลก
2 ธนาคารโลก
3 ธนาคารโลก/ดีเอชแอล
4 ดีเอชแอล
5 ดีเอชแอล, ลอนดอน สคูล ออฟ อิโคโนมิกส์
6 การใช้ต้นทุนโดยเฉลี่ยของ TEU โดยอิงการประมาณการของธนาคารโลกและดีเอชแอล
แหล่งข่าว: ดีเอชแอล
--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --